การค้าผ่านชายแดน สู่ตลาดภูมิภาคบูมต่อเนื่อง...โอกาสที่ SMEs ไทยไม่ควรมองข้าม
การค้าผ่านชายแดน สู่ตลาดภูมิภาคบูมต่อเนื่อง...โอกาสที่ SMEs ไทยไม่ควรมองข้าม

การค้าผ่านชายแดน สู่ตลาดภูมิภาคบูมต่อเนื่อง…โอกาสที่ SMEs ไทยไม่ควรมองข้าม

การค้าผ่านชายแดน สู่ตลาดภูมิภาคบูมต่อเนื่อง...โอกาสที่ SMEs ไทยไม่ควรมองข้าม

การค้าผ่านชายแดน สู่ตลาดภูมิภาคบูมต่อเนื่อง…
โอกาสที่ SMEs ไทยไม่ควรมองข้าม

ด้วยบริบททางการค้าภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทำให้ในปัจจุบันผู้ประกอบการ SMEs ของไทยจำเป็นต้องมีการปรับตัวเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน มองหาช่องทางการค้า และตลาดใหม่ๆเพื่อ รองรับการแข่งขันในภูมิภาคที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะภายหลังการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) โดยตลาดประเทศเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดกับไทยอย่างเมียนมาร์ สปป.ลาว และกัมพูชา (CLM) นับว่าเป็นตลาดที่มีศักยภาพและน่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ไทย เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้กำลังพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ด้วยทิศทางและแนวนโยบายของทางการที่สนับสนุนและส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศมากขึ้น

รวมไปถึงปัจจัยด้านจำนวนแรงงาน ต้นทุนแรงงาน ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ และการได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีอากรจากประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (Generalized System of Preferences: GSP) เป็นต้น ที่ล้วนดึงดูดเงินทุนจากต่างชาติอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจด้านพลังงาน อุตสาหกรรมการผลิต การก่อสร้าง การท่องเที่ยว การเกษตร และภาคบริการ

นอกจากนี้ รัฐบาลของประเทศในกลุ่ม CLM ยังได้มีการกำหนดแผนยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจและสังคม เพื่อผลักดันเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ให้เติบโตได้ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง และยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในประเทศให้ดีขึ้น อาทิ เมียนมาร์ มีแผนการพัฒนาประเทศในระยะ 5 ปี (2555-2559) โดยตั้งเป้าไว้ว่าจะเพิ่มอัตราการเติบโตของจีดีพีให้อยู่ที่ร้อยละ 7.7 ต่อปี และทำให้จีดีพีต่อหัว (GDP per capita) เพิ่มขึ้น 3 เท่าจากปัจจุบัน (ตัวเลขจีดีพีต่อหัวของเมียนมาร์ในปี 2556 ประมาณการโดย IMF อยู่ที่ 915 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อคนต่อปี) ส่วน สปป.ลาว มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 7 (2554-2558) ซึ่งกำหนดกรอบตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจไว้ที่ร้อยละ 8.0 ต่อปี และพัฒนาให้ประชากรมีจีดีพีต่อหัวอยู่ที่ 1,700 ดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในปี 2558 ในขณะที่ กัมพูชา ได้ประกาศแผนยุทธศาสตร์พัฒนาพาณิชยกรรมฉบับที่ 3 (2557-2561) ที่มุ่งดำเนินวิธีการต่างๆ ให้กัมพูชาได้รับผลประโยชน์จากการเข้าร่วมเป็นสมาชิกประชาคมอาเซียนและเตรียมพร้อมรองรับมาตรการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของรัฐบาลอย่างเต็มรูปแบบในอนาคต ทั้งนี้ รัฐบาลกัมพูชาคาดว่าในปี 2557 เศรษฐกิจกัมพูชาจะขยายตัวได้มากกว่าร้อยละ 7.0

นอกจากทั้ง 3 ประเทศที่มีพรมแดนติดกับไทยแล้ว เวียดนาม ก็เป็นอีกประเทศที่มีศักยภาพในการดึงดูดนักลงทุนจากต่างชาติ ได้อย่างโดดเด่น เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่ของประเทศอยู่ในวัยแรงงาน ค่าแรงยังค่อนข้างต่ำ และมีการพัฒนาของโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เวียดนามมีการเติบโตทางเศรษฐกิจถึงร้อยละ 6.0-7.0 ต่อปี

การเติบโตอย่างก้าวกระโดดของ CLMV ตอกย้ำให้เห็นถึงโอกาสของธุรกิจ SMEs ไทยที่จะเข้าไปขยายตลาดในประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงจีนตอนใต้ ด้วยข้อได้เปรียบด้านที่ตั้งซึ่งอยู่ใจกลาง เป็นศูนย์กลางของภูมิภาค มีแนวชายแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านมากกว่า 5,000 กิโลเมตร ทำให้สะดวกในการทำการค้าชายแดน มีต้นทุนค่าขนส่งต่ำ และยังเป็นการลดผลกระทบของผู้ประกอบการในช่วงที่เศรษฐกิจไทยชะลอตัว นอกจากนี้ โครงการลงทุนจากต่างชาติ รวมถึงชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานและใช้ชีวิตใน CLMV ย่อมทำให้ความต้องการใช้สินค้าเพื่อการก่อสร้าง สินค้าอุปโภคบริโภคที่เน้นคุณภาพเป็นหลัก และธุรกิจบริการ เช่น ร้านอาหาร และสปา เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะเป็นการสนับสนุนการส่งออกของไทยด้วย

การค้าผ่านชายแดน สู่ตลาดภูมิภาคบูมต่อเนื่อง...โอกาสที่ SMEs ไทยไม่ควรมองข้าม

การค้าผ่านชายแดนขยายตัวต่อเนื่อง แม้ในช่วงเศรษฐกิจโลกผันผวน

แม้มูลค่าการค้าชายแดนระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดกัน 4 ประเทศ จะมีสัดส่วนที่ไม่สูงนักเมื่อเทียบกับการค้าระหว่างประเทศโดยรวมของไทย แต่ก็ถือว่าขยายตัวต่อเนื่องมาโดยตลอด โดยสัดส่วนดังกล่าวเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 5.4 ของมูลค่าการค้ารวมในปี 2550 เป็นร้อยละ 6.6 ในไตรมาสที่ 1 ปี 2557 นอกจากนี้ หากพิจารณาในมิติของการส่งออก ก็พบว่า ไทยสามารถประคับประคองการส่งออกสินค้าผ่านชายแดนให้เติบโตได้ แม้การส่งออกโดยรวมของไทยประสบปัญหาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญ รวมถึงเศรษฐกิจโลก

ทั้งนี้ ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2557 การส่งออกผ่านชายแดนของไทยมีมูลค่าถึง 1.51 แสนล้านบาท เติบโตร้อยละ 4.7 YoY โดยการส่งออกไปเมียนมาร์ผ่านทางชายแดนขยายตัวถึงร้อยละ 18.4 YoY ซึ่งด่านแม่สอดเป็นด่านที่มีมูลค่าการส่งออกมากที่สุด ในขณะที่กัมพูชา และสปป.ลาวก็เติบโตสูงเช่นกันที่อัตราร้อยละ 13.6 YoY และ 10.1 YoYตามลำดับ ขณะที่การส่งออกไปมาเลเซียยังหดตัว เนื่องจากการชะลอตัวของราคายางพาราในตลาดโลก ดังนั้น หากพิจารณามูลค่าการส่งออกผ่านชายแดนของไทยไปยังเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน 3 ประเทศ (สปป.ลาว เมียนมาร์ และกัมพูชา) จะพบว่ามีการเติบโตอย่างโดดเด่นมาโดยตลอด

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในปี 2557 มูลค่าการค้าชายแดนของไทยจะเติบโตเพิ่มขึ้นแตะ 9.5 แสนล้านบาทจากระดับ 9.2 แสนล้านบาท ในปี 2556 หรือขยายตัวร้อยละ 2.8 YoY และน่าจะเติบโตได้ถึง 1 ล้านล้านบาทในปี 2559 และหากไม่นับรวมการค้าผ่านชายแดนไทย-มาเลเซีย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในปีนี้มูลค่าการค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน 3 ประเทศ คือ สปป.ลาว เมียนมาร์ และกัมพูชา จะขยายตัวได้ถึงร้อยละ 9.0 YoY โดยมีปัจจัยสนับสนุนด้านการส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ การก้าวเข้าสู่ความเป็นสังคมเมืองมากขึ้น การส่งเสริมจากภาครัฐผ่านกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ รวมถึงการเติบโตของชนชั้นกลางในประเทศกลุ่ม CLM ที่ยังคงมีความเชื่อมั่นในคุณภาพของสินค้าไทยเป็นทุนเดิม สำหรับด่านชายแดนที่จะเติบโตเป็นดาวเด่นตามการขยายตัวของเศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ ด่านแม่สอด-เมียวดี ด่านหนองคาย-เวียงจันทน์ และด่านอรัญประเทศ-ปอยเปต

นอกจากการค้าชายแดนแล้ว ผู้ประกอบการ SMEs ยังสามารถทำการค้าผ่านแดน โดยขนส่งผ่านประเทศเพื่อนบ้านไปยังเวียดนาม จีนตอนใต้ และสิงคโปร์ แม้ในปัจจุบัน การค้าผ่านแดนยังมีมูลค่าไม่สูงมากนัก ประมาณ 1.1 แสนล้าน

การค้าผ่านชายแดน สู่ตลาดภูมิภาคบูมต่อเนื่อง...โอกาสที่ SMEs ไทยไม่ควรมองข้าม

บาท (คิดเป็นร้อยละ 1 ของมูลค่าการค้ารวมของไทย) แต่ในอนาคต การพัฒนาเส้นทางคมนาคมขนส่ง และการรวมตัวกันเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะเป็นตัวกระตุ้นให้การขนส่งผ่านแดน โดยเฉพาะเส้นทางไทย-สปป.ลาว-เวียดนาม มีมูลค่าการค้าระหว่างกันเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในปี 2557 มูลค่าการค้าผ่านแดนจะขยายตัวได้ร้อยละ 12.0 YoY ส่งผลให้ในปีนี้มูลค่าการค้าชายแดนผนวกกับการค้าผ่านแดนจะมีมูลค่าราว 1.1 ล้านล้านบาท

ยกระดับความร่วมมือภายในภูมิภาค…หนุนบทบาทการค้าผ่านแดนในอนาคต

ในระยะยาว การค้าชายแดนยังเติบโตได้ต่อเนื่อง เนื่องจากประเทศเพื่อนบ้านของไทย รวมทั้งไทยเองได้มีการปรับตัวในหลายมิติเพื่อรองรับการรวมตัวของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เช่น การพัฒนาพื้นที่ชายแดน การเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคม การลดขั้นตอนกระบวนการผ่านแดน การปรับลด/ยกเลิกภาษี รวมถึงการขยายเวลาเปิด-ปิดด่านต่างๆ อันจะเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยขยายตลาดสินค้าไทยให้กว้างขวางขึ้นได้

ทั้งนี้ แนวทางการพัฒนาการค้าชายแดนควรใช้โอกาสจากกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เช่น โครงการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (The Greater Mekong Subregional Economic Cooperation : GMS) ซึ่งเป็นความร่วมมือกันของ 6 ประเทศ ได้แก่ ไทย เมียนมาร์ สปป.ลาว เวียดนาม กัมพูชาและจีนตอนใต้ เพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาและเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมระหว่างกัน โดยกำหนดเส้นทางหลักใน 3 แนวเขตเศรษฐกิจ (North-South Economic Corridor, East-West Economic Corridor และ Southern Economic Corridor) รวมทั้งบรรลุข้อตกลงระหว่างประเทศในการขนส่งสินค้าผ่านแดน เช่น การกำหนดโควตารถที่อนุญาตให้ผ่านแดน และการอำนวยความสะดวกในพิธีสารผ่านแดน โดยการตรวจปล่อยสินค้าในบริเวณเดียวกัน (Single Stop Inspection)/การตรวจสินค้าแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว (Single Window Inspection) เป็นต้น

ความตกลงว่าด้วยการค้าสินค้าของอาเซียน (ASEAN Trade in Goods Agreement: ATIGA)
เป็นความตกลงในเรื่องการลดภาษีที่อาเซียนลงนามในปี 2552 โดยนับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2558 กลุ่มประเทศ CLMV จะต้องยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้าจากสินค้าที่ผลิตในอาเซียน แต่จะมีสินค้ากลุ่มอ่อนไหวกลุ่มเล็กๆที่ CLMV จะลดภาษีนำเข้าเหลือร้อยละ 0 ในปี 2561

จะเห็นได้ว่า กรอบความร่วมมือต่างๆระหว่างไทยและประเทศเพื่อนบ้านจะช่วยหนุนให้การค้าชายแดนและการค้าผ่านแดนก้าวเข้ามามีบทบาทต่อเศรษฐกิจไทยมากขึ้นในอนาคต อย่างไรก็ตาม แม้การบังคับใช้ข้อตกลงต่างๆอย่างเต็มรูปแบบอาจต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง ผู้ประกอบการ SMEs ไทยก็ควรติดตามอย่างใกล้ชิดเพื่อไม่ให้เสียโอกาส โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่ยังไม่ได้ขยายตลาดไปยังต่างประเทศ ก็ควรมองหาลู่ทางที่จะส่งสินค้าไปจำหน่ายในต่างประเทศเพื่อขยายตลาดออกไป และอาจไปลงทุนเพื่อลดต้นทุนการผลิตโดยอาศัยวัตถุดิบ/ปัจจัยการผลิตด้านแรงงานที่มีอยู่มากในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบจากการแข่งขันในประเทศและในภูมิภาคที่นับวันยิ่งจะทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยเริ่มจากประเทศเพื่อนบ้านก่อน เพราะถือว่าไม่ยากนักสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ที่ยังไม่เคยทำการค้าระหว่างประเทศ ทั้งนี้ ธุรกิจไทยที่คาดว่าจะมีโอกาสเติบโตผ่านช่องทางการค้าชายแดน ได้แก่ สินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าเครื่องจักรกลการเกษตร เครื่องใช้ไฟฟ้า ธุรกิจบริการ เช่น ท่องเที่ยว ค้าปลีก และอสังหาริมทรัพย์ให้เช่า เป็นต้น

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
มิถุนายน 2557

แสดงความคิดเห็น