ผักและผลไม้แปรรูป…โอกาสจับเทรนด์ความต้องการอาหารเพื่อสุขภาพ (Start-Up Business)
ผักและผลไม้แปรรูป…โอกาสจับเทรนด์ความต้องการอาหารเพื่อสุขภาพ (Start-Up Business)

ผักและผลไม้แปรรูป …โอกาสจับเทรนด์ความต้องการอาหารเพื่อสุขภาพ (Start-Up Business)

ผักและผลไม้แปรรูป…โอกาสจับเทรนด์ความต้องการอาหารเพื่อสุขภาพ (Start-Up Business)

ผักและผลไม้แปรรูป …โอกาสจับเทรนด์ความต้องการอาหารเพื่อสุขภาพ (Start-Up Business)

ในระยะที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าความต้องการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากผู้บริโภคกลุ่มสูงอายุ อันเนื่องมาจากโครงสร้างประชากรไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Societies) ไปเป็นที่เรียบร้อยตั้งแต่ปี 2553 ตลอดจนกลุ่มวัยรุ่นและคนทำงาน ที่มีความตื่นตัวต่อโรคภัยใกล้ตัว และหันมาใส่ใจกับสุขภาพมากขึ้น โดยมีการศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับโภชนาการอาหาร รวมถึงบริโภคอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่ายกายและลดการบริโภคอาหารที่อาจบั่นทอนสุขภาพ

ผักและผลไม้ ซึ่งมีคุณประโยชน์ตรงตามความต้องการของผู้บริโภค โดยมีคุณสมบัติช่วยปรับสมดุลให้กับร่างกาย ป้องกันปัญหาด้านสุขภาพ มีปริมาณแคลอรี่ต่ำ อีกทั้งยังมีให้เลือกหลายชนิดได้ตามความชอบในรสชาติและคุณประโยชน์ ส่งผลให้ผักและผลไม้กลายเป็นสิ่งที่ขาดไปไม่ได้ในทุกมื้ออาหารของคนรักสุขภาพในยุคปัจจุบัน นอกจากนี้ ผู้บริโภคยังนิยมบริโภคผักและผลไม้เป็นของว่างทานเล่นกันมากขึ้นด้วย ซึ่งที่ผ่านมา ผู้ประกอบการก็ได้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปจากผักและผลไม้ที่หลากหลายและสามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้ รวมทั้งมีช่องทางการจำหน่ายที่ครอบคลุมทุกพื้นที่ ทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงสินค้าได้ง่ายกว่าแต่ก่อน และส่งผลให้ผู้บริโภคเปิดรับผักและผลไม้แปรรูปในฐานะขนมขบเคี้ยวเพื่อสุขภาพกันมากขึ้น

จากปัจจัยดังกล่าวข้าวต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ตลาดสินค้าผักและผลไม้แปรรูปมีแนวโน้มเติบโตได้อีกมาก เนื่องจากเป็นสินค้าเกาะกระแสรักสุขภาพของผู้บริโภคทุกกลุ่มได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังเป็นสินค้าที่มีมูลค่าสูง ซึ่งนับเป็นโอกาสของผู้ประกอบการ SMEs ที่จะเข้ามามีส่วนแบ่งในตลาดผักและผลไม้แปรรูปที่มีศักยภาพในการเติบโตสูงนี้

ผักและผลไม้แปรรูป…โอกาสจับเทรนด์ความต้องการอาหารเพื่อสุขภาพ (Start-Up Business)

การดำเนินธุรกิจแปรรูปผักและผลไม้ของผู้ประกอบการ และสภาวะการแข่งขันในปัจจุบัน

ธุรกิจแปรรูปผักและผลไม้ เป็นธุรกิจที่อยู่คู่กับประเทศไทยมายาวนาน เนื่องจากประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตผลไม้เมืองร้อนและผักหลากหลายชนิดหมุนเวียนตลอดทั้งปี โดยเริ่มต้นจากเกษตรกรนำผักและผลไม้มาแปรรูปเพื่อถนอมอาหารในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมากจนล้นตลาดและราคาผลผลิตตกต่ำ ด้วยกระบวนการแปรรูปแบบพื้นบ้านที่ไม่ซับซ้อน อาทิ แช่อิ่ม ดอง กวน ฉาบ อบ ทอด ตากแห้ง เป็นต้น และส่งจำหน่ายให้กับร้านค้าในท้องถิ่นเพื่อเป็นรายได้เสริมอีกทางหนึ่งของเกษตรกร ทั้งนี้ ในระยะต่อมา ธุรกิจแปรรูปผักและผลไม้ได้มีการพัฒนามากขึ้นเป็นลำดับ โดยมีผู้เล่นใหม่ๆ เข้ามาในธุรกิจอย่างต่อเนื่อง และได้นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในกระบวนการผลิต ทำให้สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ และมีการออกแบบรูปแบบบรรจุภัณฑ์ให้มีความสวยงาม เข้ากับยุคสมัยคนรุ่นใหม่ อีกทั้งมีช่องทางการจัดจำหน่ายกว้างขึ้นทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ สำหรับการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการในปัจจุบัน สามารถจำแนกได้เป็น 3 กลุ่ม อันได้แก่

ผู้ประกอบการรายย่อย ประกอบด้วยเกษตรกร กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร ผู้ประกอบการขนาดเล็กที่ดำเนินธุรกิจแบบครัวเรือน โดยจะรวบรวมผักและผลไม้มาแปรรูปขั้นต้น และส่งจำหน่ายร้านค้าและร้านขายของฝากในท้องถิ่นหรือในจังหวัด ตามสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ทั้งนี้ มีผู้ประกอบการรายย่อยในโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ หรือ OTOP ที่สามารถยกระดับมาตรฐานการผลิตสินค้า จนได้รับการคัดสรรให้เป็นสินค้า OTOP ในระดับ 5 ดาว ทำให้สินค้าเป็นที่รู้จักและมีโอกาสทางการตลาดเพิ่มขึ้น

ผักและผลไม้แปรรูป …โอกาสจับเทรนด์ความต้องการอาหารเพื่อสุขภาพ (Start-Up Business)

• ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) ผู้ประกอบการกลุ่มนี้ มีทั้งผู้ประกอบการรายย่อยที่มีศักยภาพในการผลิตในระดับอุตสาหกรรมและสามารถขยายธุรกิจเป็นผู้ประกอบการ SMEs และกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เล็งเห็นโอกาสในธุรกิจแปรรูปผักและผลไม้ จึงเข้าสู่ธุรกิจในฐานะผู้ผลิตและจำหน่าย โดยรวบรวมผลผลิตจากเกษตรกรในท้องถิ่น สำหรับประเภทธุรกิจของผู้ประกอบการ SMEs ได้แก่ ผักและผลไม้กระป๋อง น้ำผักและผลไม้ และผักและผลไม้แปรรูปอื่นๆ โดยใช้เทคโนโลยีที่มีความซับซ้อนมากขึ้น อาทิ การอบกรอบด้วยสูญญากาศ (Vacuum Frying) การทำแห้งแบบแช่แข็ง (Vacuum Freeze-dried) เป็นต้น ส่วนช่องทางการจำหน่ายมีทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ โดยผักและผลไม้กระป๋อง น้ำผักและผลไม้จะเน้นตลาดต่างประเทศเป็นหลัก ขณะที่ผักและผลไม้แปรรูปอื่นๆ เช่น ผักและผลไม้อบกรอบ/ ตากแห้ง มีช่องทางการจำหน่ายทั้งในต่างประเทศและในประเทศ และบางรายสามารถขยายช่องทางการจำหน่ายไปยังร้านค้าปลีกสมัยใหม่ (Modern Trade)

• ผู้ประกอบการขนาดใหญ่ ดำเนินธุรกิจประเภทผักและผลไม้กระป๋อง น้ำผักและผลไม้ และขนมขบเคี้ยว ได้แก่ มันฝรั่งแผ่นทอดกรอบ ข้าวโพดอบกรอบ เป็นต้น มีกระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพและเป็นไปตามมาตรฐาน สินค้ามีความหลากหลาย แบรนด์สินค้าเป็นที่รู้จัก มีช่องทางการจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ โดยตลาดในประเทศสามารถกระจายสินค้าครอบคลุมทั่วทุกพื้นที่ผ่าน Modern Trade หลายช่องทาง ตลอดจนร้านขายส่ง กลุ่มโรงแรมและภัตตาคาร สภาวะการแข่งขัน และความยากง่ายของการเข้ามาในธุรกิจแปรรูปผักและผลไม้มีความแตกต่างกันในแต่ละประเภทสินค้า ยกตัวอย่างเช่น ผักและผลไม้กระป๋อง และน้ำผักและผลไม้สำเร็จรูป เป็นธุรกิจที่ต้องใช้เงินทุนสูง อีกทั้งผู้ประกอบการขนาดใหญ่มีความได้เปรียบจาก Economy of Scale และมีแบรนด์ที่ติดตลาดอยู่แล้ว การเข้ามาในตลาดของผู้ประกอบการรายใหม่จึงเป็นไปได้ยาก การแข่งขันในธุรกิจค่อนข้างสูงระหว่างผู้ประกอบการรายใหญ่ด้วยกันเอง โดยใช้กลยุทธ์ด้านราคาและการส่งเสริมการขายเป็นหลัก ยกเว้นสินค้าในระดับพรีเมี่ยมที่แข่งขันด้วยคุณภาพอาจมีการแข่งขันที่ไม่รุนแรงนัก

นอกจากนี้ มีการแข่งขันจากสินค้าทดแทนที่มีจุดขายด้านสุขภาพเช่นกัน อาทิ น้ำผักและผลไม้ มีสินค้าทดแทนคือเครื่องดื่มฟังก์ชันนัลดริงค์ ซึ่งเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคมากขึ้นในปัจจุบัน ขณะที่ผักและผลไม้ในลักษณะขนมขบเคี้ยว มีผู้เล่นในตลาดมากตั้งแต่ผู้ประกอบการรายย่อยจนถึงผู้ประกอบการขนาดใหญ่ โดยรูปแบบสินค้ามีความแตกต่างกันตามความพร้อมด้านเงินทุนของผู้ประกอบการ อาทิ ผู้ประกอบการรายย่อยที่ใช้กระบวนการแปรรูปขั้นต้นมีการแข่งขันค่อนข้างสูง เนื่องจากสินค้าไม่มีความแตกต่างและมีร้านขายของฝากจำนวนมากกระจุกตัวอยู่บริเวณสถานที่ท่องเที่ยว และพึ่งพาลูกค้านักท่องเที่ยวเป็นหลัก ส่วนผู้ประกอบการ SMEs ที่ผลิตสินค้าผักและผลไม้แปรรูปในลักษณะขนมขบเคี้ยวยังมีไม่มากนัก อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการ SMEs และผู้ประกอบการขนาดใหญ่สนใจเข้ามาในตลาดมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงคาดว่าในระยะถัดไปการแข่งขันในตลาดอาจมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นตามลำดับ อีกทั้งมีการแข่งขันจากสินค้าทดแทนอื่นๆ ได้แก่ ขนมขบเคี้ยวทั่วไปของผู้ประกอบการขนาดใหญ่ ซึ่งมีให้เลือกหลากหลาย ไม่ว่าจะ เป็นขนมขบเคี้ยวที่แปรรูปจากแป้งสาลี มันฝรั่ง ข้าวโพด สาหร่าย เนื้อสัตว์ เป็นต้น

การส่งออก ไทยเป็นผู้ส่งออกผักและผลไม้แปรรูปที่สำคัญของโลก โดยเฉพาะสินค้าสับปะรดกระป๋อง ที่ไทยมีศักยภาพในการส่งออกเป็นอันดับ 1 ของโลก มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 47 และสินค้าผลไม้แช่อิ่ม/ เชื่อม/ ฉาบ ซึ่งไทยเป็นผู้ส่งออกเป็นอันดับ 2 รองจากจีน มีส่วนแบ่งทางการตลาดราวร้อยละ 30 ในปี 2556 มูลค่าการส่งออกผักและผลไม้แปรรูปของไทยในช่วงที่ผ่านมาพบว่าในปี 2556 ขยายตัวร้อยละ 4.1 จาก

ผักและผลไม้แปรรูป…โอกาสจับเทรนด์ความต้องการอาหารเพื่อสุขภาพ (Start-Up Business)

ปี 2555 ที่การส่งออกผักและผลไม้แปรรูปของไทยได้รับแรงกดดันจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวของผู้นำเข้าหลัก สำหรับในปี 2557 คาดว่าการส่งออกผักและผลไม้แปรรูปของไทยมีแนวโน้มที่สดใส โดยในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2557 มีมูลค่าการส่งออก 1,566 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 8.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เนื่องจากความต้องการบริโภคผักและผลไม้แปรรูปของประเทศคู่ค้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกรายการสินค้า โดยตลาดส่งออกหลักของไทยได้แก่ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป จีน เวียดนาม ออสเตรเลีย แคนาดา รัสเซีย

จุดแข็ง-จุดอ่อน-โอกาส-อุปสรรค ของผู้ประกอบการในธุรกิจแปรรูปผักและผลไม้

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ประเมินจุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และอุปสรรค ของธุรกิจแปรรูปผักและผลไม้ในปัจจุบัน เพื่อผู้ประกอบการ SMEs จะได้นำไปประกอบการตัดสินใจเข้ามาในธุรกิจ โดยมีรายละเอียดดังนี้

ผักและผลไม้แปรรูป…โอกาสจับเทรนด์ความต้องการอาหารเพื่อสุขภาพ (Start-Up Business)
ผักและผลไม้แปรรูป…โอกาสจับเทรนด์ความต้องการอาหารเพื่อสุขภาพ (Start-Up Business)

ผักและผลไม้แปรรูป…โอกาสจับเทรนด์ความต้องการอาหารเพื่อสุขภาพ (Start-Up Business)
สินค้าที่น่าสนใจ และปัจจัยสู่ความสำเร็จ สำหรับผู้ประกอบการ SMEs

จากการวิเคราะห์ถึงแนวโน้มตลาดสินค้าผักและผลไม้แปรรูป การดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการแปรรูปผักและผลไม้ และสภาวะการแข่งขันของในปัจจุบัน ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า สินค้าที่น่าสนใจและยังมีช่องว่างให้ผู้ประกอบการ SMEs เข้ามาเติมเต็มและต่อยอดธุรกิจได้คือ ขนมขบเคี้ยวเพื่อสุขภาพจากผักและผลไม้ ตัวอย่างสินค้า ได้แก่ ผักและผลไม้อบแห้ง อบกรอบ ตากแห้ง สแน็กบาร์ เป็นต้น เนื่องจากขนมขบเคี้ยวได้รับความนิยมจากผู้บริโภคสูงอยู่แล้ว โดยนิยมทานเป็นอาหารทานเล่นยามว่างหรือระหว่างการทำกิจกรรมต่างๆ นอกจากนี้ จากวิถีการดำเนินชีวิตของผู้บริโภคที่เร่งรีบมากขึ้น ส่งผลให้บทบาทของขนมขบเคี้ยวในปัจจุบันมีแนวโน้มเป็นมากกว่าของทานเล่น แต่ได้เข้ามาทดแทนมื้ออาหารหลักในบางครั้งอีกด้วย สำหรับขนมขบเคี้ยวที่แปรรูปจากผักและผลไม้ ที่มีจุดเด่นคือเป็นขนมขบเคี้ยวแบบไทยๆ ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ผู้บริโภคสามารถทานได้ทุกที่ทุกเวลา น่าจะตอบโจทย์ผู้บริโภคกลุ่มคนรักสุขภาพได้ดีทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ อีกทั้งเป็นสินค้าที่สามารถพัฒนาได้หลากหลาย มีมูลค่าสูง กรรมวิธีการผลิตหรือเทคโนโลยีที่ใช้สามารถยืดหยุ่นได้ตามความพร้อมด้านเงินทุนของผู้ประกอบการ โดยมีแนวทางการดำเนินธุรกิจให้ประสบความสำเร็จสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ดังต่อไปนี้

ใช้กลยุทธ์การสร้างความแตกต่างของสินค้า และการสร้างตราสินค้า เนื่องจากตลาดขนมขบเคี้ยวมีการแข่งขันค่อนข้างสูง ดังนั้น ผู้ประกอบการ SMEs ควรสร้างความโดดเด่นที่แตกต่างจากคู่แข่งในด้านใดด้านหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็น ชนิดผักและผลไม้ รสชาติ เทคโนโลยี คุณภาพสินค้า รูปแบบสินค้าและบรรจุภัณฑ์ โดยเริ่มต้นจากการพิจารณาถึงความพร้อมด้านเงินทุนและความชำนาญของกิจการ ประกอบกับวิเคราะห์โอกาสทางการตลาด วางตำแหน่งของสินค้า และกำหนดกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ยกตัวอย่างเช่น ผู้ประกอบการที่มีความพร้อมด้านเงินทุนสูง อาจใช้เทคโนโลยีในการผลิตเข้ามาช่วยสร้างจุดเด่นให้กับสินค้า โดยสามารถคงคุณค่าทางโภชนาการและสี กลิ่น รสชาติ ของผักและผลไม้ไว้ได้ ซึ่งสามารถวางตำแหน่งสินค้าในระดับพรีเมี่ยมได้ การใช้วัตถุดิบผักและผลไม้หรือส่วนผสมที่เป็นออแกนิกส์ เช่น น้ำตาลออแกนิกส์ ซึ่งสินค้าเป็นที่ต้องการของกลุ่มผู้บริโภคที่มีรายได้สูง และกลุ่มที่ยินดีจ่ายเพื่อให้ได้ความมั่นใจในด้านคุณภาพและความปลอดภัย นอกจากนี้ ผู้ประกอบการควรสร้างตราสินค้าของตนเอง เพื่อเพิ่มคุณค่าให้กับสินค้าในสายตาของผู้บริโภค รวมทั้งเป็นการแบ่งแยกสินค้าให้มีความแตกต่างจากคู่แข่ง ซึ่งทำให้ผู้บริโภครับรู้และจดจำในสินค้าได้ง่ายขึ้น

ผักและผลไม้แปรรูป…โอกาสจับเทรนด์ความต้องการอาหารเพื่อสุขภาพ (Start-Up Business)

มุ่งผลิตสินค้าเพื่อตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ผู้ประกอบการควรศึกษาความต้องการของผู้บริโภคอยู่เสมอ และผลิตสินค้าเพื่อตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย โดยใช้วิธีสื่อสารทางการตลาดให้ผู้บริโภครับรู้ถึงจุดเด่นของสินค้า ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มเด็ก วัยรุ่น และคนทำงาน สินค้ามีรสชาติและท๊อปปิ้งให้เลือกหลากหลาย รูปร่างสินค้าแปลกใหม่ บรรจุภัณฑ์ทันสมัย มีรูปภาพกราฟฟิค สีสันสดใส กลุ่มผู้สูงอายุ สินค้าที่ผ่านกระบวนการปรุงแต่งน้อย ใช้การอบแทนการทอด รสชาติใกล้เคียงผักและผลไม้สด เนื้อสัมผัสนิ่ม บรรจุภัณฑ์สีเรียบๆ แต่ดูดี ระบุคุณประโยชน์ชัดเจน เช่น วิตามินซีสูง รักษาโรคความดันโลหิตสูง บำรุงกระดูก เป็นต้น กลุ่มผู้หญิง มุ่งเน้นทำการตลาดเกี่ยวกับความสวยความงามจากภายใน ผิวพรรณดี ชะลอความแก่ ไขมันต่ำ สูตรน้ำตาลน้อย กลุ่มลูกค้าต่างประเทศและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ผู้ประกอบการควรศึกษาพฤติกรรมการบริโภคและความชอบของผู้บริโภค ซึ่งอาจมีความแตกต่างกันในแต่ละประเทศ รวมทั้งนำเสนอสินค้าผลไม้เมืองร้อน ผสมผสานเอกลักษณ์ความเป็นไทย

ยกระดับมาตรฐานการผลิตด้านคุณภาพและความปลอดภัย คุณสมบัติของอาหารเพื่อสุขภาพที่สำคัญคือคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้า ผู้ประกอบการจึงควรให้ความสำคัญในทุกขั้นตอนการผลิตเพื่อการตรวจสอบย้อนกลับได้ทั้งสายการผลิต ตั้งแต่การคัดสรรวัตถุดิบที่มีคุณภาพ อาทิ ผักและผลไม้ปลอดสารพิษ ไปจนถึงมือผู้บริโภค ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค สามารถเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า โดยผู้ประกอบการควรผลิตสินค้าให้ได้ตามมาตรฐานสากล ตลอดจนมาตรฐานของแต่ละประเทศ ก็จะทำให้มีโอกาสขยายช่องทางการจำหน่ายไปใน Modern Trade และตลาดต่างประเทศได้

ผักและผลไม้แปรรูป…โอกาสจับเทรนด์ความต้องการอาหารเพื่อสุขภาพ (Start-Up Business)

ออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่ดึงดูดใจผู้บริโภค บรรจุภัณฑ์นับเป็นสิ่งแรกที่จะทำให้ผู้บริโภคหยิบสินค้าขึ้นมาพิจารณา ช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์และเพิ่มมูลค่าสินค้า และช่วยในการสื่อสารทางการตลาด ผู้ประกอบการจึงควรออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่มีความโดดเด่นเมื่อวางอยู่บนเชลฟ์เพื่อดึงดูดกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย มีรูปแบบที่เหมาะสมกับในยุคปัจจุบัน กล่าวคือ ด้านความสวยงาม ดีไซน์สวยงาม ทันสมัย ดูสะอาดตา สามารถซื้อเพื่อเป็นของฝากได้ สามารถนำบรรจุภัณฑ์ไปใช้ต่อเป็นของตกแต่งได้ ด้านการใช้งาน สะดวกในการจัดเก็บและพกพา เปิดใช้ง่าย ช่วยรักษาคุณภาพสินค้า ด้านการเสริมสร้างภาพลักษณ์และสื่อสารทางการตลาด แสดงถึงคุณภาพและความปลอดภัย โดยมีการระบุรายละเอียดเกี่ยวกับโภชนาการ มีเครื่องหมายมาตรฐานของสินค้าอย่างชัดเจน แสดงคุณประโยชน์ของผักและผลไม้ชนิดนั้นๆ รวมทั้งข้อความหรือรูปภาพที่นำเสนอจุดขายของสินค้า อาทิ มีสารต้านอนุมูลอิสระ ไขมันต่ำ สูตรไม่มีน้ำตาล No Additives เป็นต้น นอกจากนี้ การเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ น่าจะช่วยเสริมภาพลักษณ์ที่ดีให้กับสินค้ามากยิ่งขึ้น ตลอดจนผู้ประกอบการควรพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่หลากหลายเพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภค อาทิ บรรจุภัณฑ์ขนาดเล็กสำหรับผู้บริโภคที่เป็นครอบครัวเดี่ยวและมีขนาดการรับประทานลดลง การจัดผลิตภัณฑ์เป็นชุดของขวัญ สำหรับให้เป็นของขวัญของฝาก บรรจุภัณฑ์แบบซองแยกชิ้นบรรจุภายในกล่อง ที่สามารถแจกจ่ายให้กับเพื่อนๆ ได้ และยังทำให้สินค้าดูมีมูลค่าสูง สะอาด เก็บรักษาได้นานขึ้น เป็นต้น

สร้างเครือข่ายธุรกิจ และการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับธุรกิจแปรรูปผักและผลไม้ เนื่องจากปริมาณผลผลิตขึ้นอยู่กับฤดูกาลและสภาพภูมิอากาศ จึงทำให้บริหารจัดการสต็อกได้ค่อนข้างยาก โดยในช่วงที่ผลผลิตออกมาก ผู้ประกอบการอาจต้องสต็อกวัตถุดิบมากขึ้นเพื่อมีวัตถุดิบป้อนในช่วงที่ผลผลิตออกน้อย ส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องมีเงินทุนหมุนเวียนตรงส่วนนี้มากขึ้น นอกจากนี้ อาจทำให้วัตถุดิบไม่สดใหม่และส่งผลต่อคุณภาพของสินค้า ผู้ประกอบการจึงควรมีการบริหารจัดการที่ดี ด้วยการสร้างเครือข่ายธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยรับวัตถุดิบจากเกษตรกรหลายแหล่ง รับซื้อผลผลิตในราคายุติธรรมเพื่อมีวัตถุดิบป้อนอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งสร้างเครือข่ายร้านค้าและเพิ่มช่องทางการส่งออกเพื่อให้มีแหล่งกระจายสินค้าหลายแห่ง นอกจากนี้ ผู้ประกอบการอาจเลือกผักและผลไม้ที่มีผลผลิตตลอดทั้งปี และทำข้อตกลงกับคู่ค้าว่าจะผลิตสินค้าบางชนิดเพิ่มเติม หมุนเวียนตามฤดูกาลผลิต ซึ่งนอกจากจะแก้ปัญหาการขาดแคลนผลผลิตแล้วยังช่วยสร้างความน่าสนใจในตัวสินค้าเพิ่มขึ้นอีกด้วย

ผักและผลไม้แปรรูป…โอกาสจับเทรนด์ความต้องการอาหารเพื่อสุขภาพ (Start-Up Business)

ขยายช่องทางการจำหน่ายให้กว้างขึ้น ผู้ประกอบการรายใหม่อาจตระเวนออกบูธตามงานแสดงสินค้า เพื่อทำให้สินค้าเป็นที่รู้จักและหาลูกค้าใหม่ๆ ส่วนแหล่งกระจายสินค้า ได้แก่ ร้านขายของฝากตามแหล่งท่องเที่ยว เพื่อจับกลุ่มลูกค้านักท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มขยายตัวสูง ช่องทาง Modern Trade ไม่ว่าจะเป็น ไฮเปอร์มาร์เก็ต ดิสเคาน์สโตร์ ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ ร้านจำหน่ายสินค้าเฉพาะประเภท ที่มีการขยายสาขาครอบคลุมทั่วประเทศ นับว่าเป็นช่องทางที่สามารถขยายฐานลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถทำกิจกรรมการตลาดร่วมกับร้านค้าเพื่อให้สินค้าเป็นที่รู้จักและเป็นการกระตุ้นยอดขายเป็นระยะ เช่น แจกสินค้าทดลอง การจัดทำโปรโมชั่นต่างๆ เป็นต้น นอกจากนี้ อาจพิจารณาช่องทางอื่นๆ ที่มีศักยภาพ อาทิ ร้านอาหาร ร้านค้าในสถานีบริการน้ำมัน สนามบิน โรงพยาบาล ฟิสเนต เป็นต้น ตลอดจนช่องทาง E-Commerce ได้แก่ Social Network และ Website ขายของต่างๆ ซึ่งเป็นช่องทางที่สามารถเลือกทำการตลาดได้ทั่วโลกและเข้าถึงผู้บริโภคได้มากในปัจจุบัน เนื่องจากผู้คนพกพาแท็บเล็ตและเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ทุกเวลา และนิยมซื้อสินค้าผ่านทางช่องทางออนไลน์กันมากขึ้น

ทั้งนี้ สถาบันอาหารได้ทำการศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภคเกี่ยวกับแรงจูงใจที่ส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อผลไม้อบกรอบของผู้บริโภค ผลการศึกษาพบว่า แรงจูงใจอันดับแรกคือ รสชาติ รองลงมาคือ ความเชื่อมั่นในมาตรฐานการผลิต และรูปแบบบรรจุภัณฑ์ที่สะดวกต่อการรับประทาน ตามลำดับ ดังนั้นผู้ประกอบการในธุรกิจแปรรูปผักและผลไม้ควรให้ความสำคัญกับประเด็นดังกล่าวเป็นอันดับต้นๆ โดยผลิตสินค้าที่มีรสชาติที่หลากหลายและถูกปากผู้บริโภค สร้างความน่าเชื่อถือในมาตรฐานการผลิตที่มีคุณภาพและมีความปลอดภัย ตลอดจนสร้างสรรค์รูปแบบบรรจุภัณฑ์ที่อำนวยความสะดวกในการรับประทานให้กับผู้บริโภค ซึ่งน่าจะช่วยกระตุ้นให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อสินค้าได้ง่ายขึ้น รวมถึงกลับมาซื้อซ้ำ

ผักและผลไม้แปรรูป…โอกาสจับเทรนด์ความต้องการอาหารเพื่อสุขภาพ (Start-Up Business)

ข้อสรุปและข้อเสนอแนะ

โดยสรุป จากกระแสรักสุขภาพของผู้บริโภคยุคปัจจุบัน ส่งผลให้ธุรกิจแปรรูปผักและผลไม้มีแนวโน้มขยายตัวได้อีกมาก และเป็นโอกาสที่ไม่ควรมองข้ามสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ในการเข้ามาในธุรกิจ โดยเฉพาะสินค้าขนมขบเคี้ยวเพื่อสุขภาพจากผักและผลไม้ ที่มีจุดเด่นคือเป็นขนมขบเคี้ยวที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ สามารถทานได้ทุกที่ทุกเวลา น่าจะเป็นที่นิยมของผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น โดยผู้ประกอบการ SMEs ควรมุ่งเน้นการผลิตสินค้าที่มีความแตกต่างและตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ให้ความสำคัญกับมาตรฐานด้านคุณภาพและความปลอดภัยในทุกขั้นตอนการผลิต สร้างเครือข่ายธุรกิจและการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ ตลอดจนการขยายช่องทางการจำหน่ายที่มีศักยภาพ ก็จะทำให้การดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ SMEs ประสบความสำเร็จได้ไม่ยาก

ขอขอบคุณแหล่งที่มาของข้อมูล
– ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กันยายน 2557
– สถาบันอาหาร
– กระทรวงพาณิชย์

หมายเหตุ : รูปภาพที่ใช้เป็นเพียงสื่อประกอบบทความเท่านั้น ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ

แสดงความคิดเห็น