เศรษฐกิจจีน ประคองตัวตลอดปี’ 57 สินค้า SMEs ไทยที่มีจีนเป็นตลาด ควรเร่งปรับกลยุทธ์ขยายช่องทางการค้า
เศรษฐกิจจีน ประคองตัวตลอดปี’ 57 สินค้า SMEs ไทยที่มีจีนเป็นตลาด ควรเร่งปรับกลยุทธ์ขยายช่องทางการค้า

เศรษฐกิจจีน ประคองตัวตลอดปี’ 57 สินค้า SMEs ไทยที่มีจีนเป็นตลาด ควรเร่งปรับกลยุทธ์ขยายช่องทางการค้า

เศรษฐกิจจีน ประคองตัวตลอดปี’ 57 สินค้า SMEs ไทยที่มีจีนเป็นตลาด ควรเร่งปรับกลยุทธ์ขยายช่องทางการค้า

เศรษฐกิจจีน ประคองตัวตลอดปี’ 57 สินค้า SMEs ไทยที่มีจีนเป็นตลาด
ควรเร่งปรับกลยุทธ์ขยายช่องทางการค้า

ธุรกิจ SMEs ไทยพึ่งพาการค้ากับต่างประเทศ ทั้งการนำเข้าสินค้ามาเพื่อผลิตและจำหน่าย รวมทั้งการพึ่งพาตลาดต่างประเทศในการสร้างรายได้จากการส่งออกสินค้า โดยธุรกิจ SMEs ทำการค้ากับต่างประเทศคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 28.1 ของมูลค่าการค้าทั้งหมดของไทย สะท้อนภาคต่างประเทศร่วมมีบทบาทเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจ ซึ่งหนึ่งในนั้นมีจีนเป็นคู่ค้าหลักที่ครองสัดส่วน 1 ใน 5 ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศของธุรกิจ SMEs ไทยในปัจจุบัน ทั้งนี้ คงต้อง ยอมรับว่าธุรกิจ SMEs ไทยที่มีจีนเป็นตลาดส่งออกสินค้าหลัก อาจมีความเสี่ยงในการทำธุรกิจมากขึ้นในช่วงที่เหลือของปี 2557 นี้และในปีข้างหน้าตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ซึ่งล่าสุดการส่งออกของไทยไปยังจีนในภาพรวมในเดือนกรกฎาคม 2557 กลับมาหดตัวอีกครั้งที่ร้อยละ 1.7 (YoY) และทำให้ในช่วง 7 เดือนแรกของปียังคงหดตัวร้อยละ 4.0 (YoY) ตอกย้ำความอ่อนแรงของตลาดจีนในระยะต่อไป

อย่างไรก็ดี สินค้า SMEs ของไทยยังมีโอกาสทำตลาดในจีนได้ โดยอาศัยช่องทางการค้าที่น่าสนใจ ทั้งการขนส่งทางบกผ่านชายแดนตอนเหนือหรือภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยที่มีความสะดวกและเอื้อต่อการทำตลาดในพื้นที่ใหม่ของจีนได้มากขึ้น ตลอดจนช่องทางการค้าผ่านระบบออนไลน์ หรือ E-Commerce ที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกวันนี้กลายเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ทางธุรกิจที่ได้รับความนิยมและมีส่วนช่วยลดต้นทุนการประกอบธุรกิจให้แก่ SMEs ในการเปิดตลาดสู่ประเทศจีน นอกจากนี้ ทั้งภาครัฐบาลและภาคเอกชนต่างให้ความสำคัญกับตลาดจีนเพื่อเป็นแรงส่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ดังนั้น ความเคลื่อนไหวของเศรษฐกิจจีนจึงเป็นประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

เศรษฐกิจจีนไตรมาส 2/2557 ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยอานิสงส์จาก Mini Stimulus

การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของทางการจีนดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องและเข้มข้นขึ้นในปี 2557 ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญสำหรับธุรกิจ SMEs ไทย ที่มีจีนเป็นตลาดส่งออกหลัก โดยคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 12 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของ SMEs ไทย ให้จำเป็นต้องเฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวของจีนที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ แม้ล่าสุดตัวเลขการเติบโตของเศรษฐกิจจีนในไตรมาส 2/2557 ที่ประกาศออกมาเมื่อเดือนกรกฎาคม ขยายตัวร้อยละ 7.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ดีกว่าที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าน่าจะเติบโตเท่ากับไตรมาสแรก (ที่ร้อยละ 7.4 (YoY)) นับว่าช่วยบรรเทาความกังวลต่อภาวะการชะลอตัวรุนแรงของเศรษฐกิจจีนได้ในระดับหนึ่ง และน่าจะส่งผลบวกต่อธุรกิจ SMEs ไทย ที่ทำธุรกิจกับจีนในระยะข้างหน้า อย่างไรก็ดี ยังมีประเด็นเปราะบางที่อาจส่งผลต่อเส้นทางการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไปที่ต้องเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด

เศรษฐกิจจีน ประคองตัวตลอดปี’ 57 สินค้า SMEs ไทยที่มีจีนเป็นตลาด

โดยการเติบโตของเศรษฐกิจจีนในไตรมาส 2/2557 นั้น ได้อานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดเล็กหรือ “Mini Stimulus” อย่างเข้มข้นตลอดไตรมาส 2 อาทิ การผ่อนคลายทางการเงินเพื่อช่วยเหลือธุรกิจ SMEs การปรับปรุงโครงสร้างการจัดเก็บภาษีเพื่อช่วยลดต้นทุนการทำธุรกิจและกระตุ้นการส่งออก การอำนวยความสะดวกด้านการลงทุนในพื้นที่เขตการค้าเสรีที่เซี่ยงไฮ้ ตลอดจนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะระบบโครงข่ายรถไฟในประเทศ ล้วนมีส่วนช่วยประคองการเติบโตทางเศรษฐกิจในสาขาต่างๆ ปรับตัวดีขึ้นกว่าในไตรมาสแรก ทั้งการผลิตขั้นปฐมภูมิ ภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ ประกอบกับแรงส่งสำคัญจากภาคการส่งออกของจีนไปยังตลาดสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปฟื้นกลับมาได้จังหวะเดียวกันจึงช่วยเสริมกลไกทางเศรษฐกิจให้เร่งตัวขึ้นได้ ทำให้เศรษฐกิจของจีนในช่วงครึ่งแรกของปี 2557 เติบโตเฉลี่ยร้อยละ 7.4 (YoY)

เป็นที่น่าสังเกตว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาท่ามกลางแผนงานปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของทางการจีนเริ่มสะท้อนให้เห็นผลหลายด้าน ซึ่งฉายภาพความแข็งแกร่งด้านต่างๆ ที่จะกลายมาเป็นกลไกการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า อาทิ

ภาคบริการเริ่มมีบทบาทต่อเศรษฐกิจจีนมากขึ้นตามเป้าหมายของทางการจีน โดยภาคบริการในช่วงครึ่งแรกของปี 2557 ขยายตัวค่อนข้างเด่นที่ร้อยละ 8 (YoY) เมื่อเทียบกับภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตรกรรมขยายตัวร้อยละ 7.4 (YoY) และร้อยละ 3.9 (YoY) ตามลำดับ อีกทั้ง ภาคบริการเริ่มมีสัดส่วนเพิ่มเป็นร้อยละ 46.6 ของ GDP จีน (จากสัดส่วนร้อยละ 45.3 ในช่วงเดียวกันของปีก่อน)

ช่องว่างด้านรายได้ประชากรเริ่มลดลง สะท้อนการบริโภคภายในประเทศกระจายตัวลงลึกสู่แต่ละสาขาเศรษฐกิจและต่อเนื่องไปถึงพื้นที่ในชนบท ตามแนวนโยบายการกระจายความเป็นเมือง (Urbanization) โดยในช่วงครึ่งปีแรกระดับรายได้ของประชากรในชนบทขยับมาอยู่ที่ 5,396 หยวนต่อคนต่อปี ขยายตัวสูงร้อยละ 9.8 (YoY) ทำให้รายได้ในชนบททยอยเข้าใกล้รายได้ของประชากรในเขตเมืองที่มีรายได้อยู่ที่ 14,959 หยวนต่อคนต่อปี ซึ่งขยายตัวช้าลงที่ร้อยละ 7.1 (YoY) ตลอดจนยอดค้าปลีกอันเป็นหนึ่งในเครื่องชี้การเติบโตของการบริโภคย้ำภาพการกระจายความเป็นเมือง ซึ่งยอดค้าปลีกในพื้นที่ชนบทขยายตัวร้อยละ 13.2 (YoY) ในช่วงครึ่งปีแรก โดยเร่งตัวสูงกว่าพื้นที่ในเขตเมืองที่ขยายตัวร้อยละ 12.0 (YoY)

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าปัจจัยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนยังคงต้องอาศัยมาตรการกระตุ้นของทางการ ทั้งมาตรการทางการเงินในการเสริมสภาพคล่องสู่ระบบเศรษฐกิจ และมาตรการทางการคลังโดยเฉพาะการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ระบบรถไฟและที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย ในขณะที่การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของภาคเอกชนชะลอลงอย่างมาก

เศรษฐกิจจีนครึ่งหลังของปี 2557 … คาดประคองการเติบโตตามเป้าหมาย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า จากแถลงการณ์ของ นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีของจีน ระบุว่า หากเศรษฐกิจปี 2557 นี้เติบโตสูงหรือต่ำกว่าร้อยละ 7.5 เล็กน้อย ก็นับว่าเป็นอัตราที่ยอมรับได้ สะท้อนว่าเศรษฐกิจของจีนในช่วงครึ่งหลังของปี 2557 ก็น่าจะประคองตัวเติบโตใกล้เคียงกับครึ่งปีแรก อันยังต้องอาศัยแรงหนุนสำคัญจากสัญญาณกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการปรับลดสัดส่วนเงินสำรองของธนาคารพาณิชย์ (Reserve Requirement Ratio: RRR) ต่อเนื่องในไตรมาส 3 นี้ เพื่อสนับสนุนธุรกิจหลายภาคส่วน และย้ำแนวทางการผ่อนคลายทางการเงินในด้านอื่นๆ ของธนาคารกลาง ตลอดจนมาตรการทางการคลัง อาทิ การอนุมัติให้ธนาคารพาณิชย์สามารถปล่อยสินเชื่อใหม่แก่ธุรกิจ SMEs ที่มีปัญหาในการจ่ายคืนหนี้ เพื่อช่วยลดต้นทุนหากต้องไปกู้ยืมจากแหล่งเงินกู้อื่นที่มีต้นทุนสูง รวมถึงการประกาศจัดตั้งแผนพัฒนาวงแหวนเศรษฐกิจแม่น้ำจูเจียง-ซีเจียง (Pearl River-Xijiang River Economic Belt Development Plan) ด้วยเม็ดเงินถึงกว่า 100,000 ล้านดอลลาร์ฯ (630 พันล้านหยวน) ครอบคลุมระยะเวลา 3 ปี ในด้านโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ ระบบทางหลวงและเส้นทางรถไฟ พร้อมทั้งแนวทางการผ่อนคลายกฎระเบียบทางธุรกิจและการสนับสนุนภาพธุรกิจขนาดเล็ก ธุรกิจเกษตร ภาคบริการและการผลิตอย่างต่อเนื่องในระยะข้างหน้า

ด้วยเหตุผลข้างต้นประกอบกับอานิสงส์จากการขยายตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าหลักอย่างสหรัฐฯและสหภาพยุโรปที่น่าจะสนับสนุนภาคส่งออกของจีน ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า เศรษฐกิจจีนตลอดปี 2557 จะเติบโตร้อยละ 7.4 (กรอบประมาณการอยู่ที่ร้อยละ 7.0-7.6)

เศรษฐกิจจีน ประคองตัวตลอดปี’ 57 สินค้า SMEs ไทยที่มีจีนเป็นตลาด

อย่างไรก็ดี ความท้าทายสำคัญที่ยังรอการแก้ไขอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการจัดการปัญหาหนี้ของรัฐบาลท้องถิ่นในระดับสูง ประกอบกับแนวทางการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายการคลังนั้นก็อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อภาระหนี้ของภาครัฐบาลเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่อยู่ในระดับสูงอยู่แล้ว ขณะที่นโยบายผ่อนคลายทางการเงินแม้จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจแต่ก็ส่งผลให้การกู้ยืมในภาคส่วนต่างๆ เร่งตัวขึ้น โดยที่ยอดการระดมเงินทุนในประเทศ (Total Social Financing: TSF) ในเดือนมิถุนายนเร่งตัวขึ้นมาอยู่ที่ 1.97 ล้านล้านหยวน ซึ่งในองค์ประกอบดังกล่าวมียอดเงินกู้จากภาคส่วนของธนาคารเงา (Shadow Banking) รวมอยู่ด้วย แม้ว่าตัวเลขล่าสุดในเดือนกรกฎาคมจะชะลอลงมาอยู่ที่ 2.73 แสนล้านหยวน แต่ก็ยังต้องติดตามต่อในลักษณะเดือนต่อเดือน อีกทั้ง ต้องติดตามแนวทางการปฏิรูปเศรษฐกิจของทางการจีนอย่างใกล้ชิดเนื่องจากอาจมีผลต่อเส้นทางการขยายตัวทางเศรษฐกิจจีนในระยะข้างหน้า

สินค้า SMEs ไทยมีโอกาสทำตลาดในจีน ตามการประคองตัวของเศรษฐกิจจีน

สินค้า SMEs ไทยยังมีโอกาสทำตลาดในจีนได้ แม้ว่าเศรษฐกิจจีนจะอยู่ในภาวะที่เติบโตในระดับต่ำต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ก็ตาม ซึ่งคาดว่าเศรษฐกิจจีนน่าจะสามารถรักษาระดับการเติบโตในอัตราที่ใกล้เคียงกับครึ่งปีแรก อันน่าจะสนับสนุนการส่งออกสินค้า SMEs ในช่วงที่เหลือของปีนี้ โดยสินค้าที่มีเครือข่ายโยงใยกับสินค้าส่งออกของไทยไปยังจีนในภาพรวมอาจมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นหรือเผชิญความเสี่ยงที่ต้องจับ คือ

สินค้าที่น่าจะได้อานิสงส์ปรับตัวดีขึ้น ได้แก่ กลุ่มสินค้าเกษตรที่มีสัญญาณกลับมาเติบโตได้ก่อนสินค้ากลุ่มอื่น อาทิ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังของไทยที่มีจีนเป็นตลาดหลักซึ่งเติบโตตามภาคพลังงานในจีน และผลไม้เมืองร้อนของไทยซึ่งอยู่ในช่วงฤดูที่ผลผลิตออกสู่ตลาดหลากหลายชนิดและสอดคล้องกับความต้องการของจีน อีกทั้งการบริโภคที่กระจายตัวในจีนช่วยโน้มนำความต้องการผลไม้ไทยทำตลาดในพื้นที่ใหม่ได้มากขึ้น ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมที่น่าจะมีแนวโน้มค่อนข้างดี ได้แก่ มอเตอร์และเครื่องกำเนิดไฟฟ้า เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก ซึ่งสินค้าดังกล่าวล้วนเป็นส่วนประกอบสำคัญของภาคการผลิตหลากหลายอุตสาหกรรม โดยเฉพาะการเติบโตของความเป็นเมืองในพื้นที่ใหม่ของจีน จึงมีความต้องการวัตถุดิบและสินค้าทุนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

อย่างไรก็ดี สินค้ากลุ่มที่อาจชะลอตัวต่อเนื่องตลอดปีนี้ ได้แก่ คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบที่เป็นผลจากการปรับเปลี่ยนโยกย้ายฐานการผลิตของนักลงทุนยังส่งผลพวงต่อเนื่องตลอดปีนี้และน่าจะมีการปรับตัวเข้าสู่ฐานการเติบโตครั้งใหม่ในปีถัดไป ตามมาด้วยสินค้าส่งออกหลักของไทยทั้งยางพาราและผลิตภัณฑ์ยางอาจฟื้นตัวช้ากว่ากลุ่มอื่น จากผลในด้านราคาที่ตกต่ำเนื่องจากต้องรอสต็อกยางพาราในประเทศจีนปรับลดลงก่อน และสินค้าเคมีภัณฑ์ที่ชะลอตัวตามราคาน้ำมันในตลาดโลกที่กรอบขาขึ้นยังค่อนข้างจำกัด

เศรษฐกิจจีน ประคองตัวตลอดปี’ 57 สินค้า SMEs ไทยที่มีจีนเป็นตลาด

ทั้งนี้ เศรษฐกิจจีนที่ในช่วงครึ่งหลังของปีน่าจะประคองตัวเติบโตใกล้เคียงครึ่งปีแรกที่ร้อยละ 7.4 (YoY) จะช่วยประคองภาพการส่งออกของไทยในภาพรวมของไทยตลอดจนธุรกิจ SMEs ที่ส่งออกไปจีนในช่วงครึ่งปีหลังมีโอกาสปรับตัวเติบโตได้ในบางกลุ่มสินค้า ขณะที่แรงฉุดสำคัญมาจากฐานเปรียบเทียบที่ค่อนข้างสูงในปีก่อนหน้า และแรงหดตัวในช่วงครึ่งแรกของปี 2557 ซึ่งทำให้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การส่งออกของไทยไปจีนตลอดปี 2557 จะหดตัวร้อยละ 2.0 มีมูลค่าส่งออกประมาณ 26,700 ล้านดอลลาร์ฯ โดยมีกรอบประมาณการอยู่ระหว่างหดตัวร้อยละ 4.5 ถึงขยายตัวร้อยละ 0.5 มีมูลค่าราว 26,000-27,400 ล้านดอลลาร์ฯ และจะสามารถกลับมาเติบโตในปี 2558 ด้วยแรงส่งของฐานที่ต่ำในปีนี้

กลยุทธ์เสริมศักยภาพ SMEs ไทย ในการทำตลาดจีน

การเติบโตช้าลงของเศรษฐกิจจีนในปีข้างหน้านี้ เป็นความท้าทายสำคัญต่อการส่งออกของธุรกิจ SMEs ไทยที่มีจีนเป็นตลาดหลักควรเตรียมรับมือกับภาวะดังกล่าวโดยขยายการส่งออกไปยังตลาดใหม่พื้นที่ใหม่ในจีน และควรเน้นการพัฒนาศักยภาพการผลิตสินค้าโดยนำเทคโนโลยีมาเป็นส่วนประกอบเพื่อให้สอดรับกับเทรนด์ผู้บริโภคยุคปัจจุบัน รวมทั้งการรุกตลาดจีนตอนใต้โดยเฉพาะด่าน จ.เชียงราย ที่เชื่อมการขนส่งตรงสู่มณฑลยูนนานของจีน อันเป็นมณฑลที่ใกล้กับไทยที่สุดและได้รับความนิยมมากขึ้น โดยการส่งออกผ่านชายแดนที่ จ.เชียงราย ดังกล่าว ขยายตัวร้อยละ 16.3 (YoY) ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2557 สวนทางกับการส่งออกไปจีนในภาพรวมของไทยไปจีนที่ยังคงหดตัวในช่วงเวลาเดียวกัน

ดังนั้น การปรับกลยุทธ์ในการรุกทำตลาดกับจีนเพื่อขยายฐานลูกค้าน่าจะเป็นวิธีที่มีส่วนช่วยบรรเทาผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนดังกล่าว ทั้งยังช่วยเพิ่มโอกาสทางการค้ากับจีนที่จะยังคงเป็นตลาดที่มีศักยภาพของธุรกิจ SMEs ไทยในระยะยาว โดยช่องทางที่น่าสนใจ มีดังนี้

การทดลองตลาดจีนโดยเข้าร่วมงานแสดงสินค้า

การเข้าร่วมงานแสดงสินค้าทั้งการนำสินค้าไปร่วมแสดงในงานหรือการไปเดินชมงานเป็น 1 ในช่องทางในการสร้างโอกาสทางธุรกิจหาพันธมิตร โดยเฉพาะงานแสดงสินค้าอาเซียน-จีน หรือ CAEXPO (China-ASEAN Expo) ที่จัดเป็นประจำทุกปี ณ นครหนานหนิง เขตปกครองตนเองกว่างซี ครั้งล่าสุดจะจัดงานระหว่างวันที่ 19-22 กันยายน 2557 จัดโดยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลของประเทศสมาชิกอาเซียนกับจีนอันจะเอื้อประโยชน์ต่อผู้ประกอบการอาเซียนเป็นสำคัญ และงานแสดงสินค้าส่งออกและนำเข้าอันดับ 1 ของจีน หรืองาน Canton Fair หรือ China Import and Export Fair เป็นงานที่รวมสินค้าในจีนครอบคลุมสายการผลิตเกือบทุกกลุ่มสินค้าโดยกระทรวงพาณิชย์ของจีนเป็นแกนนำในการจัดงานปีละ 2 ครั้ง ที่เมืองกว่างโจว มณฑลกวางตุ้ง สำหรับล่าสุดจะจัดช่วงวันที่ 15 ตุลาคม- 4 พฤศจิกายน 2557 นี้ อนึ่ง สำหรับเทคนิคการร่วมงานให้ประสบผลสำเร็จ มีดังนี้

เตรียมความพร้อมและศึกษารายละเอียดการจัดงาน อาทิ สถานที่จัดงาน รวมถึงวิธีการเข้าร่วม/เข้าชมงาน นอกจากนี้ การมีความรู้ภาษาจีนติดตัวหรือมีผู้รู้ภาษาจีนติดตามจะช่วยให้ประสบความสำเร็จในการเยี่ยมชมงานและติดต่อธุรกิจได้มากขึ้นเช่นกัน

นักธุรกิจที่มีความประสงค์ออกบูธในงาน ควรศึกษาถึงสัญญาเช่า การเตรียมสินค้า กฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง และสิ่งอำนวยความสะดวกรองรับ โดยต้องตรวจสอบว่าสินค้าของตนได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมงานหรือไม่ ซึ่งการนำสินค้าไปออกงานหากมีใบ A.T.A. Carnet จะทำให้การผ่านด่านศุลกากรได้รับยกเว้นการวางประกันค่าภาษีอากรและเอกสารด้านพิธีการศุลกากรทั้งขาไปและขากลับ

ควรเตรียมเอกสารในการทำธุรกิจให้พร้อม โดยเฉพาะนามบัตรที่ต้องมีภาษาจีนกำกับซึ่งควรมีคำอธิบายประเภทธุรกิจโดยย่ออยู่ด้วย สำหรับเอกสารอื่นๆ ที่จำเป็นช่วยเสริมสร้างโอกาส เช่น เอกสารแนะนำสินค้า เอกสารที่เกี่ยวกับการซื้อขาย ไม่ว่าจะเป็นเงื่อนไขทางการค้า แบบฟอร์มสัญญา ใบสั่งซื้อ เอกสารประมาณค่าขนส่งจากไทยไปจีนเพื่อให้ลูกค้าประเมินต้นทุนในเบื้องต้น และแคตตาล็อกสินค้า เป็นต้น

สินค้าที่ร่วมจัดแสดงต้องสะดุดตา โดยควรให้ความสำคัญกับภาพลักษณ์/บรรจุภัณฑ์สินค้าที่แสดงความเป็นไทย และคุณภาพมาตรฐานสินค้าเป็นไปตามที่ทางการจีนกำหนด เอกสารกำกับสินค้าต้องมีภาษาจีน รวมถึงแผ่นพับภาษาจีนที่เอาไว้แจกในงาน และหากมีผู้นำเสนอสินค้าที่พูดภาษาจีนก็ควรเตรียมบทสนทนาที่กระชับที่สามารถอธิบายสินค้าได้ในเวลาจำกัด จะช่วยสร้างความน่าสนใจให้แก่สินค้า

นอกจากนักธุรกิจจะเดินทางเพื่อวัตถุประสงค์ในการหาคู่ค้าทางธุรกิจเป็นหลักแล้ว อาจหาโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมอื่นๆ ในงานด้วย ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ เช่น การจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) งานสัมมนาเพิ่มความรู้ หรืองานเลี้ยงอาหารค่ำ จะช่วยสร้างสัมพันธภาพทางธุรกิจกับคู่ค้าอื่นๆ ได้มากขึ้น

การทำสัญญาทางการค้าต้องเป็นไปอย่างรอบคอบ เนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนโดยรวมส่งผลต่อสภาพคล่องของธุรกิจในประเทศ รวมถึงราคาวัตถุดิบและความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน นักธุรกิจควรลดความเสี่ยงด้วยการทำสัญญาการค้าระยะสั้น เพื่อลดความเสี่ยงจากความผันผวนดังกล่าว

ควรสานสัมพันธ์ทางธุรกิจต่อเนื่องแม้ว่างานแสดงสินค้าจะผ่านไปแล้ว เช่น นัดพบนักธุรกิจที่มีความสนใจตรงกัน การเดินทางไปเยี่ยมชมโรงงานในจีน หรือเชิญนักธุรกิจจีนมาเยี่ยมชมโรงงานในไทย รวมถึงการส่งสินค้าที่เหลือจากการจำหน่ายในงานแสดงสินค้าไปตามนามบัตรที่นักธุรกิจให้ไว้ จะช่วยสร้างความประทับใจและเป็นประโยชน์ต่อการติดต่อธุรกิจในระยะยาวได้

ช่องทางการค้าออนไลน์ หรือ E-Commerce

การเปิดหน้าร้านและทำการค้าผ่านระบบออนไลน์ เป็นอีกช่องทางสำหรับการดำเนินธุรกิจในยุคดิจิตอล ที่มีความสะดวกรวดเร็ว ช่วยประหยัดต้นทุนในการทำธุรกิจระหว่างประเทศ และช่วยเสริมเครือข่ายการค้ากับธุรกิจจีนในอีกรูปแบบหนึ่ง

การค้าผ่าน E-Commerce ของจีน มีการพัฒนารวดเร็วและได้รับการตอบรับที่ดีจากชาวจีน จะเห็นได้จากในช่วงครึ่งแรกของปี 2557 มีมูลค่าการค้า 1.14 ล้านล้านหยวน ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 48.3 (YoY) และคิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 9.1 ของมูลค่าค้าปลีกของจีน ประกอบกับประเทศจีนมีขนาดใหญ่ ช่องทางดังกล่าวจึงเป็นตัวกลางระหว่างผู้ประกอบการและผู้บริโภคในพื้นที่ต่างๆ ของจีนในการติดต่อทำธุรกิจได้โดยสะดวก

การทำธุรกิจผ่านเว็บไซต์ยอดนิยมของจีน อาทิ Alibaba (www.alibaba.com) เป็นเว็บไซต์ระดับโลกที่ใช้ซื้อขายสินค้าระหว่างบริษัทกับบริษัท (Business to Business: B2B) ซึ่งนักธุรกิจจีนและธุรกิจต่างชาติใช้ช่องทางนี้ทำการตลาดกับนานาชาติ นอกจากนี้ ยังมีบริษัทลูกซึ่งได้รับความนิยมในจีน คือ Tmall (www.Tmall.com) ผู้ขายต้องจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบเชิงพาณิชย์ (Business to Consumer: B2C) และ Taobao (www.taobao.com) ผู้ขายเป็นบุคคลธรรมดาจึงเป็นช่องทางซื้อขายระหว่างผู้บริโภคโดยตรง (Consumer to Consumer: C2C)

กฎหมายของจีนในขณะนี้ให้ความคุ้มครองทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย ทำให้การทำการค้าช่องทางนี้มีความน่าเชื่อถือมากขึ้น พร้อมทั้งภาครัฐก็ส่งเสริมธุรกิจค้าออนไลน์ในด้านการพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐาน ช่องทางการให้บริการ และการอำนวยความสะดวกด้านสภาพแวดล้อมการประกอบธุรกิจ

การชำระเงินผ่านระบบ Alipay เป็นการโอนเงินผ่าน E-Banking ซึ่งเป็นช่องทางการชำระเงินที่สำคัญในธุรกิจออนไลน์ของจีน รวมทั้งเป็นช่องทางการชำระเงินผ่านเว็บไซต์ Alibaba ขณะที่ สถาบันการเงินเอกชนของไทยได้จับมือร่วมกับผู้ให้บริการ Alipay เพื่อเชื่อมการทำธุรกรรมทางการเงินในโลกการค้าออนไลน์ระหว่างไทยกับจีน และยังเชื่อมโยงกับผู้ประกอบการไทยกับผู้ประกอบการนานาชาติที่เปิดร้านค้าในเว็บไซต์ Alibaba

การใช้เงินหยวนในการชำระเงินทำธุรกิจกับจีนเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ การเพิ่มบทบาทของเงินหยวนในเวทีโลกเป็นกลยุทธ์ที่ทางการจีนผลักดันมาอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันการที่จีนเป็นคู่ค้าที่สำคัญของไทย ทางการไทยโดยธนาคารแห่งประเทศไทยก็ให้การสนับสนุนการใช้เงินหยวน รวมถึงภาคเอกชนไทยได้เร่งเพิ่มช่องทางการทำธุรกรรมทางการเงินด้วยเงินหยวนเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ภาคธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งสาขาธนาคารในจีน เพื่อเป็นตัวกลางเชื่อมการดำเนินธุรกิจระหว่างประเทศ รวมถึงการให้บริการการเงินที่ใช้เงินหยวน อาทิ บัญชีเงินฝาก บริการด้านเงินตราระหว่างประเทศ การโอนเงิน และบริการด้านการนำเข้า-ส่งออก ทั้งนี้ การใช้เงินหยวนเป็นสื่อกลางในการประกอบธุรกิจกับจีนมีข้อดีและข้อควรระวัง ดังนี้

ลดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินสกุลหยวนที่มีแนวโน้มผันผวนต่ำเมื่อเทียบกับดอลลาร์ฯ และยังช่วยกระจายความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนสำหรับธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีกระแสเงินสดหมุนเวียนเป็นสกุลเดียว

กระชับความความสัมพันธ์กับคู่ค้าชาวจีน ในการเจรจาต่อรองราคาสินค้ากับนักธุรกิจจีนที่ต้องการรับเป็นเงินหยวน หรือนักธุรกิจจีนที่เน้นทำธุรกิจในประเทศเป็นสัดส่วนที่สูงทำให้การชำระด้วยเงินหยวนเป็นแนวทางที่สะดวกกว่า รวมถึงเป็นการเพิ่มโอกาสการสร้างเครือข่ายการค้ากับธุรกิจรายย่อยในจีนที่ยังไม่คุ้นเคยกับการทำการค้าระหว่างประเทศได้อีกทางหนึ่งด้วย

ผู้ประกอบการจำเป็นต้องประเมินความพร้อมของธุรกิจตนเอง พร้อมทั้งศึกษาทำความเข้าใจในรายละเอียด และติดตามผลการดำเนินนโยบายการชำระเงินด้วยเงินหยวนอย่างต่อเนื่อง เนื่องจาก ในอีกด้านหนึ่งการใช้เงินสกุลหยวนภายนอกประเทศจีนยังมีไม่มากนัก ประกอบกับการผ่อนคลายกลไกการไหลเวียนเงินหยวนยังอยู่ในระยะเริ่มต้น อาจส่งผลต่อการจำกัดสภาพคล่องของเงินหยวน

ข้อสรุปและข้อเสนอแนะ

การเอาตัวรอดของภาคธุรกิจ SMEs ในภาวะที่คู่ค้าสำคัญอย่างจีนกำลังมีเศรษฐกิจที่ชะลอตัว เป็นสิ่งที่ควรรีบหาช่องทางบรรเทาผลกระทบก่อนที่จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ภาคธุรกิจ ถึงแม้ว่าในภาพรวมของตลาดจะชะลอตัวแต่ก็ยังมีนักธุรกิจในจีนอีกมากที่มีความแข็งแกร่งและต้องการสินค้าเพื่อจำหน่ายในพื้นที่ต่างๆ หากสินค้า SMEs ของไทยสามารถตอบโจทย์ของผู้ประกอบการในจีนได้ย่อมมีโอกาสเติบโตเช่นกัน ซึ่งการได้คู่ค้าใหม่เพิ่มขึ้น รวมถึงการขยายช่องทางการเข้าถึงลูกค้าในจีนผ่านกลยุทธ์ที่หลากหลาย จะช่วยบรรเทาผลจากคำสั่งซื้อที่ลดลงตามการชะลอตัวของจีน อย่างไรก็ดี ยังคงต้องติดตามประเด็นความอ่อนไหวของเศรษฐกิจในประเทศจีนขณะนี้ รวมทั้งแนวทางการแก้ปัญหาเพื่อก้าวไปสู่การเติบโตอย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืนตามแนวนโยบายของทางการจีน อันอาจจะมีผลต่อตลาดโลกทั้งด้านความผันผวนของตลาดเงินและตลาดทุนที่อาจส่งผ่านแรงกระเพื่อมสู่ภาคธุรกิจไทย ดังนั้นธุรกิจไทยควรเตรียมความพร้อมป้องกันความเสี่ยงดังกล่าว

ขอขอบคุณข้อมุลจาก : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย 
สิงหาคม 2557

แสดงความคิดเห็น