t25 ออกกำลังกาย 01
t25 ออกกำลังกาย 01

T25 ฟิตเนสแบบใหม่ ที่เกิดจากการใส่ใจ UX

t25 ออกกำลังกาย 01
t25 ออกกำลังกาย 01

จู่ๆ T25 ก็กลายเป็นกระแสขึ้นมาในบ้านเราอย่างน่าสนใจ คนเริ่มโพสต์รูปตัวเองเหงื่อโทรมกายหลังออกกำลังกายตามเทรนนิ่งวิดีโอชุดนี้กันอย่างต่อเนื่อง และแม้ว่าคำบรรยายส่วนใหญ่เท่าที่เห็นยังเป็นการบ่นเชิงตัดพ้อว่าเหนื่อยมากก็ตาม แต่ที่ 2 ประเด็นน่าสนใจคือส่วนใหญ่ไม่มีใครบ่นท้อจะเลิก (ส่วนใหญ่แค่ขอพักเท่านั้น) และที่เป็นปรากฏการณ์ในความรู้สึกของผู้เขียน คือเริ่มเห็นจำนวนความสนใจที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนเป็นกระแสใหม่ในธุรกิจฟิตเนสที่ดูเหมือนไร้จุดขายที่แข็งแรงจริงๆ มานาน 

แรกทีเดียวผู้เขียนอคติ แต่ก็อยากรู้ว่า T25 เป็นของดีจริงๆ หรือดังเพราะการตลาดแบบปากต่อปากโดยบังเอิญ? เท่าที่หาข้อมูล ผู้เขียนคิดว่า ชอน ที (Shaun T) เทรนเนอร์อาชีพที่สร้างโปรเจคต์นี้ไม่ได้เจอแค่จุดขายที่ดีเท่านั้น แต่เขาแก้ปัญหาเชิง User Experience และทำการบ้านมาได้น่าสนใจ และจากมุมมองเรื่อง User Experience ก็เห็นว่าเป็นกรณีศึกษาที่ควรค่าแก่การทำบทสรุปไว้พอสังเขป

แต่ผลลัพธ์ที่ได้จาก T25 นั้นจริงหรือไม่? ยังไม่รู้เพราะยังไม่ได้เริ่มออกกำลังกายตามสูตรนี้ดูเลย T25 คือออกกำลังแบบไม่หยุดใน 25 นาที แค่นั้น?

ผู้เขียนเองก็เป็นคนหนึ่งที่ใช้เวลาวิ่งหรือปั่นจักรยานประมาณ 30 นาทีแบบไม่หยุดทุกวันเหมือนกัน ผลที่ได้? ก็แค่ไม่อ้วนขึ้น ซึ่งถ้า T25 ก็ทำแค่จับเรามาอยู่หน้าจอเพื่อทำอย่างเดียวกัน ผู้เขียนก็คงจะขอหัวเราะเยาะว่านี่ก็แค่มาร์เก็ตติ้งใหม่ในธุรกิจฟิตเนสเท่านั้น

แต่ที่น่าสนใจคือ ชอน ที ไม่ได้เพิ่งทำวิดีโอชุดนี้เป็นชุดแรก เขาเคยมีซีรีส์ออกกำลัง Insanity ซึ่งเป็นเทรนนิ่งขนาด 1 ชั่วโมงต่อวันมาก่อนหน้านี้แล้ว ทว่า Insanity ซึ่งเป็นเทรนนิ่งโปรแกรมและบอดี้บิลดิ้งระดับโหดหินนั้นก็ไม่ได้ต่างจากวิดีโอชุดอื่นๆ ในท้องตลาดเท่าไรนัก มันไม่ได้โด่งดังเปรี้ยงปร้างหรือไม่มีจุดขายที่โดดเด่น แต่วิดีโอชุดนั้นเองที่เป็นต้นกำเนิดของ T25 ในเวลาต่อมา เพราะ T25 เกิดจากความพยายามตอบคำถามว่าทำไม Insanity ถึงไม่ได้รับความนิยม ซึ่งชอน ที ก็พบว่าเขาวนกลับไปพบกับ 3 คำปฏิเสธสุดคลาสสิคในวงการฟิตเนสที่เราได้ยินกันจนชิน เหนื่อยเกินไป นานเกินไป ไม่มีเวลา

เหนื่อยเกินไป นานเกินไป และไม่มีเวลา คือ 3 ประสบการณ์ด้านแย่ที่คนขี้เกียจทุกๆ คนมีต่อฟิตเนส และชอน ที ก็พบว่าปัญหาที่ได้รับความนิยมที่สุดในนั้นคือ “ไม่มีเวลา”

ผู้เขียนคิดว่านั่นคือเหตุผลที่จำนวนนาทีถูกนำมาตั้งเป็นชื่อวิดีโอชุดนี้ และยิ่งน่าสนใจเมื่อนึกต่อไปว่าทำไมวิดีโอชุดนี้ถึงไม่ได้ใช้ชื่อ T30 เพราะเหตุผลทางจิตวิทยาที่ถูกนำมาใช้ในเรื่องนี้คือหลักการง่ายๆ ว่า แม้ความต่างเพียง 5 นาทีนั้นไม่ได้ให้ผลในการเวิร์คเอ๊าท์ต่างกันมากนัก แต่เลข 25 นาทีนั้นกลับดูน้อยกว่าเลข 30 นาทีอยู่มากทีเดียวทางจิตใจ เราอาจพิสูจน์เรื่องนี้ว่าจริงได้ด้วยการสมมติว่า ถ้าผู้เขียนจะออกวิดีโอเทรนนิ่งเหมือนกันแต่ตั้งชื่อว่า T29 ใช้เวลา 29 นาทีในการออกกำลังกายก็จะให้ผลคล้ายคลึงกัน ในความรู้สึกของผู้ฟังก็ยังคงบอกว่ามันสั้นกว่า 30 นาทีอย่างเห็นได้ชัดอยู่ดี! ความมหัศจรรย์ของการเลือกเลข 25 จึงไม่น่าเกี่ยวกับว่ามันเพียงพอหรือไม่พอสำหรับการออกกำลังกาย แต่ตัวเลขนี้มีผลทางใจผู้บริโภคที่กล่าวว่าไม่มีเวลาพอสำหรับ 1 ชั่วโมงใน Insanity ของเขาได้อย่างตรงจุดที่สุด มันทำให้การออกกำลังกายสำหรับคนขี้เกียจดูเป็นไปได้มากขึ้นด้วยการจูงใจว่ามันใช้เวลาน้อยกว่า 1 ชั่วโมง อันที่จริงยังไม่ถึง 30 นาทีเลยด้วยซ้ำ

t25 ออกกำลังกาย 02
t25 ออกกำลังกาย 02

ตัดกลับไปที่ภาพเหงื่อโทรมกายของน้องในออฟฟิศ INCquity.com คนหนึ่งที่กำลังเอาจริงเอาจังกับการลดต้นขาให้ได้ (ha-ha!) และเพื่อนชายหญิงของผู้เขียนอีกหลายๆ คนที่ยินดีโพสต์หน้าเปลือยของตัวเองหลังเทรนจบ 25 นาทีในลักษณะเดียวกันทำให้เห็นว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ เลยสำหรับผู้บริโภค! ความพยายามในการเล่น T25 ให้จบเซ็ตกลายเป็นเหมือนเหรียญกล้าหาญที่ทำให้คนโพสต์รูปเกิดความภาคภูมิใจ ยังไม่รวมถึงความพยายามในการสร้างเทรนด์ที่ชอน ที พยายามยุให้ผู้ซื้อวิดีโอของเขาทุกคนโพสต์รูป before (วันแรกก่อนเริ่มหลักสูตร T25) ไว้ก่อน เพื่อให้เตรียมเซอร์ไพรส์กับผลที่เกิดขึ้น ซึ่งแม้มุกนี้ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร แต่ทั้งรูปก่อน-หลังเทรน และการการันตีเรื่องเห็นผลเร็วก็กลายมาเป็นส่วนที่ T25 อาศัยเงื่อนไขเรื่องเวลาเข้ามาจูงใจให้เกิดการตลาดปากต่อปากได้อย่างน่าสนใจ นำของเก่ามาเล่าใหม่ ต้องเล่าให้ได้ดีกว่าเดิม

ทุกคนเห็นผลได้ใน 5 วัน! นี่เป็นมุกปรกติที่เรามักพบในโฆษณายาลดความอ้วน แต่นี่เป็นครั้งแรกที่ธุรกิจฟิตเนสกล้าพูดถึงคำนี้แบบท้าทายอย่างจริงจังว่านี่ไม่ใช่แค่โฆษณาชวนเชื่อ

ส่วนผสม 2 สิ่งที่ทำให้ T25 สร้างปรากฏการณ์เห็นผลใน 5 วันแรกได้นั้น ไม่เกี่ยวกับ UX ของลูกค้า แต่เป็นการลงลึกในรายละเอียดวิชาชีพของผู้ออกแบบเอง ในฐานะเทรนเนอร์อาชีพ ชอน ที ต้องแก้ปัญหาอีก 2 ข้อที่เกี่ยวกับความพยายามในการลดเวลา นั่นคือเขาต้องออกแบบการสร้างอัตราเผาผลาญสูงสุด ในเวลาจำกัดที่สุดเท่าที่คนธรรมดาควรจะออกแรงไหว และต้องมีกลไกการบังคับให้เกิดความสม่ำเสมอต่อเนื่องให้ได้ไม่ว่าจะโดยการบังคับหรือการสร้างแรงจูงใจ

t25 ออกกำลังกาย 03
t25 ออกกำลังกาย 03

แน่นอนว่านี่เป็นการพูดถึงเรื่องเดิมๆ ในวงการฟิตเนสเทรนนิ่ง การออกกำลังกายแบบ Cardiovascular เป็นเรื่องเก่ามากแล้วสำหรับคนที่รู้จักฟิตเนสมานาน แต่ถึงอย่างนั้นเราก็ยังเห็นบางคนในหุ่นเดิมๆ ในห้องฟิตเนสเดิมนานเป็นปีๆ ทั้งๆ ที่เขาเหมือนออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอวาสคิวลาร์ นั่นเป็นเพราะอะไร?

สองอย่างที่ผู้เขียนเห็นว่า ชอน ที ได้นำ Cardiovascular exercise มาใช้กับ T25 ได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่าที่เคยมีมา คือการทำการบ้านเรื่องสรุปชุดท่าออกกำลังกายที่ให้ประสิทธิผลสูงสุดขึ้นมาใหม่เพื่อให้เหมาะกับการเทรนในเวลาเพียง 25 นาทีขึ้นมาหลายๆ สูตร และการสร้างตารางจัดชุดเทรนเหล่านั้นให้เป็นสูตรการสร้างกล้ามเนื้อเฉพาะกลุ่มขึ้นมาอีกชั้นหนึ่ง รวมไปถึงการออกแบบให้มีเทรนเนอร์คนหนึ่งในทีมที่ออกกำลังด้วยท่าแบบลดรูป (คือลดความยากของท่าลง สำหรับสุภาพสตรีหรือผู้มีปัญหาทางสุขภาพเล็กน้อย) ให้ออกกำลังไปพร้อมๆ กันในวิดีโอชุดเดียวกันด้วย ทั้งหมดนี้ไม่ใช่ความบังเอิญ แต่ชอน ที ใช้ความพิถีพิถันในการออกแบบทั้งหมดนี้ประมาณ 1 ปี

หลายคนปรามาส T25 ไว้ว่าทั้งท่าที่ใช้บริหารและสูตรการออกกำลังแบบคาร์ดิโอฯ นั้นล้วนไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นแค่การประยุกต์ใช้ที่ใครๆ ก็ทำได้ทั้งนั้น ความคิดเห็นนี้ถูกก็จริง แต่ก็ต้องยอมรับว่าในความธรรมดาสามัญของท่าทางเหล่านั้น ก็ไม่เคยมีใครคิดจัดชุดให้อยู่ร่วมกัน ทำให้การเทรนดูสดใหม่ และบังคับให้เทรนด้วยกรอบเวลาสั้นที่สุดจนใครๆ ก็มีความหวังว่าจะทำสำเร็จได้ ได้อย่างชอน ที มาก่อนเหมือนกัน การจำกัดความว่าสิ่งนี้เป็นนวตกรรมหรือไม่จึงเป็นเรื่องที่ขอยกให้ผู้อ่านตัดสินใจเอง

แม้ว่ากระแส T25 จะดูเป็นแฟชั่นฉาบฉวยที่ก็คงดับลงสักวัน แต่ผู้เขียนเองก็กลับคิดว่าไม่ใช่เรื่องน่ารังเกียจอะไร การออกกำลังกายเป็นเรื่องดี การทำทุกวันคือเรื่องถูกตามหลักการ และที่สำคัญคือไม่ว่าคุณจะเทรนแบบหักโหมหรือลดรูปเพื่อให้กิจวัตรนี้สำเร็จให้ได้ สิ่งที่ทำให้วิดีโอเทรนนิ่งชุดนี้เป็นที่พอใจของผู้ใช้น่าจะเป็นความรู้สึกคุ้มค่าที่สุด ไม่ใช่เพราะซื้อวิดีโอมาได้ถูก แต่เพราะวิดีโอถูกออกแบบให้ผู้ใช้รู้สึกว่าทุกวินาทีที่ใช้ไปกับ T25 นั้นช่างคุ้มค่ากับผลงานที่ได้กลับมา การให้ผลตรงกับประสบการณ์ที่คาดไว้นี่เองที่ทำให้ผู้เขียนรู้สึกว่าชอน ที สมควรได้รับคำชมเชยจากการสร้างผลิตภัณฑ์ที่เลือกแก้ประสบการณ์ผู้ใช้ได้ชนิดแม่นยำ แทงใจดำดีจริงๆ

ขอบคุณที่มา : incquity.com(http://incquity.com)
URL : http://incquity.com/articles/focus-t25-workout-ux

แสดงความคิดเห็น