ขายอาหารคลีน
ขายอาหารคลีน

ขั้นตอนเปิดร้าน “ขายอาหารคลีน” สำหรับผู้ประกอบการมือใหม่!

เทรนด์สุขภาพ เป็นหนึ่งในเทรนด์ที่กำลังมาแรงอย่างมากในปัจจุบัน อย่างที่จะเห็นได้ว่าฟิตเนสมีการเปิดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยเหตุจากความต้องการของผู้บริโภคที่มากขึ้น นอกจากนี้อาหารคลีนก็เป็นอีกหนึ่งความต้องการที่เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน ด้วยกระแสที่มาแรงหลายๆคนก็คงอยากจะลองมาจับธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพดูบ้าง แต่ไม่รู้จะเริ่มต้นธุรกิจอย่างไรดี ในวันนี้ทาง SMELeader นำวิธีการเริ่มต้นทำธุรกิจขายอาหารคลีน ที่ไม่ว่าใครก็สามารถเริ่มต้นได้

อาหารคลีน คืออะไร
อาหารคลีน (Clean Food) คือ อาหารที่ลดกระบวนการมากมายในการผลิตให้น้อยที่สุด ลดเครื่องปรุง เปรี้ยว เค็ม หวาน อาหารหมักดอง โดยเลือกแต่สารอาหารที่ร่างกายต้องการ คือ โปรตีน คาร์โบไฮเดรตและไขมัน

  • โปรตีนจากปลา ไก่ ไข่ งดอาหารแปรรูป เช่นไส้กรอก โดยไม่เน้นการทอดที่ใช้น้ำมันมากๆแต่อาจจะต้มหรือย่างไฟอ่อน หรือถ้าจำเป็นก็ทอดด้วยกระทะเทฟลอนใส่น้ำมันแต่น้อย
  • คาร์โบไฮเดรต ควรเป็นคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน (ข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีท) หรือเป็นน้ำตาลจากผลไม้ที่ให้ไฟเบอร์สูงเช่น แอปเปิ้ล เบอร์รี่ต่างๆ
  • ไขมันจากปลาทะเลน้ำลึกหรือไขมันที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่นน้ำมันมะกอก โดยไขมันจะเน้นบริโภคแต่น้อยเพียงเพื่อให้ดูดซึมสารอาหารได้ครบถ้วน และเน้นบริโภคไขมันดี (HDL) เป็นหลัก เพราะไขมันไม่ดี (LDL) อาจส่งผลให้คอเลสเตอรอลสูงได้
  • เน้นคาร์ปและโซเดียมสูง อาจจะกินถั่วและเมล็ดพืชที่ไม่โรยเกลือแทน ส่วนการกินผักผลไม้ จะเน้นผักสดหรือผลไม้สด หรือผ่านการปรุงแต่งที่น้อยที่สุด

ขั้นตอนเปิดร้านขายอาหารคลีน

1.ศึกษาและวางแผน  ศึกษาว่าต้องการจะขายอาหารคลีนในลักษณะใด มีเมนูอะไรบ้าง แต่ละเมนูจะต้องคำนวณแคลเลอรี่หรือพลังงานอย่างไร ต้องซื้อวัตถุดิบที่ไหน วางขายที่ไหน ลูกค้าคือใคร ราคาเท่าไหร่

2.ซื้อวัตถุดิบและลงมือทำ  หลังจากศึกษาในขั้นตอนแรกแล้วให้ทดลองทำและให้คนรอบตัวชิมและช่วยกันปรับปรุงก่อนวางขายจริง

3.ขายและประเมินผล  ขั้นตอนนี้คือการวางขายอาหารคลีน โดยแนะนำให้สอบถามถึงความพึงพอใจของลูกค้า ในช่วงแรกๆ เพื่อปรับปรุงรสชาติและวัตถุดิบให้ตรงใจลูกค้ามากที่สุด

งบประมาณลงทุน

  • ค่าวัตถุดิบ อาทิเช่น ข้าว,ไข่,เนื้อสัตว์,ผัก,เครื่องปรุง ฯลฯ ราคาขึ้นอยู่กับปริมาณที่ต้องการซื้อ  ควรซื้อจากแหล่งขายส่งขนาดใหญ่
  • ค่าอุปกรณ์ อาทิเช่น หม้อ,กระทะ,ทัพพี,ตะหลิว,กล่อง,ถุงพลาสติก เป็นต้น ประมาณ 4,000 – 5,000 บาท ทัั้งนี้ราคาขึ้นอยู่กับปริมาณที่ต้องการซื้อ
  • ค่าเช่าพื้นที่ ขึ้นอยู่กับราคาแต่ละพื้นที่ ประมาณ 50-300 บาทต่อวัน แต่หากทำเดลิเวอรี่สามารถตัดในส่วนนี้ได้ แต่จะเสียเปอรืเซ็นจากยอดขาย
  • เงินหมุนเวียน ประมาณ 1,000 – 2,000 บาท

ทำอย่างไรให้ขายอาหารคลีนแล้วรุ่ง ?

1.คำนึงถึงรสชาติ  แม้ว่าจะเป็นอาหารคลีน แต่คุณทำให้อาหารทุกจานมีรสชาติที่ดี แน่นอนว่าลูกค้าจะไม่หนีไปจากร้านคุณอย่างแน่นอน

2.คำนึงถึงความหลากหลายของอาหาร  หากคุณเลือกที่จะขายอาหารแล้ว สิ่งหนึ่งที่ไม่ควรจะมองข้ามก็คือในเรื่องของเมนู ควรมีเมนูที่หลากหลาย ไม่จำเจ เพื่อให้ลูกค้าสามารถสลับเปลี่ยนเมนูได้ไม่ซ้ำในแต่ละวัน

3.คำนึงถึงความสะอาด  สิ่งสำคัญของการทำธุรกิจอาหาร คือความสะอาด จะเป็นอย่างไร หากลูกค้าได้รับสิ่งแปลกปลอมลงไปในอาหาร หรือทานแล้วเกิดอาการท้องร่วง แน่นอนว่าลูกค้าจะไม่กลับมาซื้อร้านคุณอีกแน่นอน

4.ใส่ใจ  ไม่ว่าจะทำธุรกิจใด ความใส่ใจในทุกรายละเอียด เป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะหากคุณทำอาหารคลีนขาย แต่ไม่ได้มีการจัดเรียงให้ดูน่ารับประทาน หรือทำออกมาแล้วดูไม่น่ารับประทาน ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ลูกค้าจะซื้อร้านคุณแค่เพียงครั้งเดียวเท่านั้น

5.เข้าใจความหมายของอาหารคลีน เรียนรู้กระบวนการทำ รู้จักวิธีคำนวณปริมาณพลังงาน  การทำธุรกิจอาหารคลีน ผู้ประกอบการจะต้องเรียนรู้ เข้าใจกระบวนการของทุกขั้นตอน ตั้งแต่การคัดเลือกวัตถุดิบ การเลือกวัตถุดิบมามิกซ์แอนด์แมทซ์กัน และที่สำคัญการคำนวณปริมาณพลังงานในอาหารแต่ละจานที่จะออกมา

6.กำหนดกลุ่มลูกค้าเป้าหมายให้ชัดเจน
หากคุณขายอาหารคลีนคุณจะต้องรู้ว่าลูกค้าคุณคือใคร คุณจะขายอาหารคลีนให้กับลูกค้าที่ควบคุมน้ำหนัก หรืออาหารคลีนเสริมเพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อ คุณจะต้องศึกษาในเรื่องของลูกค้าว่าคุณต้องการให้อาหารนั้นเป็นไปในทิศทางใด

7.บริหารจัดการต้นทุนให้ดี  สิ่งที่สำคัญของการทำธุรกิจคือ คุณจะต้องบริหารจัดการต้นทุนให้ดี ไม่ว่าจะเป็นค่าวัตถุดิบ ค่าแพ็คเกจจิ้ง ค่าเช่าพื้นที่หรือค่าจ้างพนักงาน ฯลฯ

8.ตั้งราคาสมเหตุสมผล  การตั้งราคาขายอาหารคลีน ราคาจะสูงกว่าอาหารทั่วๆไป ราคาอาหารจานเดียวทั่วไปที่มีราคา 30-50 บาท ดังนั้นอาหารเพื่อสุขภาพควรเริ่มต้นที่ราคา 55-80 บาท/กล่อง โดยการตั้งราคาจะขึ้นอยู่กับวัตถุดิบที่เลือกใช้และกลุ่มลูกค้าที่ต้องการจะขาย

9.บรรจุภัณฑ์สะดุดตา บอกพลังงานหรือแคลอรี่ชัดเจน  จุดเด่นที่หลายๆผู้ประกอบการขายอาหารคลีนเลือกใช้ คือการเลือกใช้บรรจุภัณฑ์สะดุดตา บริเวณกล่องจะมีการบอกพลังงานหรือแคลอรี่ที่ชัดเจน ทำให้ลูกค้าสามารถทราบถึงปริมาณที่ทานในแต่ละมื้อได้

10.ใช้สื่อออนไลน์  การเปิดร้านขายอาหารคลีนในปัจจุบัน อาจจะไม่ใช่คำตอบเสมอไป เพราะปัจจุบันผู้ประกอบการหลายรายเลือกที่จะขายอาหารคลีนผ่านช่องทางออนไลน์แทนที่จะเปิดหน้าร้าน

11.บริการเดลิเวอรี่  หากคุณจะเปิดขายอาหารในยุคสมัยนี้ สิ่งที่ต้องมีคือ การขายอาหารคลีนผ่านบริการเดลิเวอรี่ ซึ่งจะทำให้คุณได้ลูกค้าที่กระจายในหลายๆพื้นที่

อาหารเพื่อสุขภาพ

ตัวอย่าง เมนูอาหารคลีน ไอเดียอาหารคลีน

  • หมูย่างเกาหลีสูตรคลีน ไร้มัน
  • ข้าวผัดธัญพืช 5 สี
  • แกงส้มปลาทูน่า
  • ทอดมันย่าง
  • แซนวิชอกไก่
  • ข้าวคลุกอโวคาโด สับปะรด อกไก่
  • ข้าวราดไก่ย่าง + ไข่ต้ม
  • ข้าวคลุกไข่เจียว ปูอัด อกไก่ ราดด้วยเสาวรส
  • ก๋วยเตี๋ยวหมี่ข้าวกล้องต้มยำแห้ง
  • ข้าวกล้องไข่ทูน่า
  • ส้มตำ ไก่นึ่ง
  • อกไก่ย่าง + ข้าวกล้อง + ผัก
  • ปลานึ่ง + ผักต้ม
  • ปลานึ่งซีอิ๊ว
  • โจ๊กข้าวโอ๊ตไข่ขาว
  • สุกี้ผักรวม
  • ไข่เจียวไร้น้ำมัน
  • บะหมี่ผักไข่ดาว
  • สลัดโรลห่อสาหร่าย
  • สลัดไข่ต้มออนเซ็น

วัตถุดิบอาหารคลีนยอดนิยม

  • ข้าวกล้อง/ข้าวไรซ์เบอรี่/ขนมปังโฮลวีท
  • ไข่/นม/อัลมอนด์/ถั่ว
  • อกไก่/หมูไร้มัน/กุ้ง/ปลา/ปลาหมึก/หอย
  • ผักลวก เช่น แครอท/บล็อคโคลี่/มันม่วง/ข้าวโพด/สัปปะรด/มะเขือเทศ/ผักกาดแก้ว/ผักกาดหอม/ฟักทอง/กะหล่ำดอก/เห็ด/แตงกวา/ถั่วลันเตา
  • หอมใหญ่/กระเทียม/พริกไทย

เครื่องปรุงอาหารคลีน

  • แอปเปิ้ลไซเดอร์
  • น้ำมันมะพร้าว/น้ำมันคาโนลา/น้ำมันมะกอก/น้ำมันรำข้าว
  • เกลือทะเล/น้ำปลา
  • ซอสถั่วเหลือง/ซอสปรุงรส โซเดียมต่ำ
  • พริกไทย
  • สารให้ความหวานแทนน้ำตาล

การทำตลาดอาหารเพื่อสุขภาพ

เริ่มแรกผู้ที่จะทำธุรกิจนี้ต้องทำให้ลูกค้าเกิดความเชื่อมั่นในตัวอาหาร วัตถุดิบที่เลือกใช้ กรรมวิธีการปรุง นอกจากนี้ยังต้องคำนึงถึงปริมาณต่อกล่องที่พอเหมาะ ความหลากหลายของอาหาร และความคงที่ของรสชาติ โดยการทำตลาดเพื่อสุขภาพประกอบด้วย

  • ควรอธิบายจุดกำเนิดของร้านเราว่ามีมาอย่างไร เหมือนเล่าเรื่องให้ลูกค้าฟัง อาจทำเป็นวิดีโอลง YouTube เป็นเรื่องราวของร้าน หรือนำไปโพสต์ลงเฟซบุ๊กเพจของร้านเราก็ได้
  • บอกวัตถุดิบในการทำอาหารเพื่อสุขภาพของร้าน ว่ามีกระบวนการคัดเลือกวัตถุดิบ กรรมวิธีการปรุงอาหารที่มีความพิถีพิถัน และใส่ใจในรสชาติและคุณค่าของอาหารอย่างไร
  • ให้ความรู้เรื่องสารอาหารที่มีอยู่ในอาหารคลีนบ่อยๆ ไม่ใช่ลงแค่ภาพอาหารเพียงอย่างเดียว อาจให้ความรู้เรื่องหลักโภชนาการของอาหารมาเป็นองค์ประกอบในการให้ความรู้แก่ลูกค้า และอย่าลืมโพสต์ลงเพจหรืออาจทำเป็นแผ่นพับแจก
แสดงความคิดเห็น