สร้างโอกาสทางธุรกิจ จาก“พลังผู้หญิง”

 

สร้างโอกาสทางธุรกิจ จาก“พลังผู้หญิง” 

“Who run the world? Girls!” หนึ่งในประโยคเด็ดจากเพลงของนักร้องสาว บียอนเซ่ ซึ่งนอกจากจะเป็นเพลงดังที่หลายคนคุ้นหูเป็นอย่างดีแล้ว เนื้อหายังแฝงความหมายถึง พลังอันเต็มเปี่ยมของผู้หญิง ยิ่งเดือนมีนาคมนี้ เป็นเดือนแห่ง “สตรีสากล” ผู้เขียนจึงขอถือโอกาสที่จะหยิบยกเรื่องราวของผู้หญิงที่กำลังเข้ามามีบทบาทในตลาดแรงงานและจะช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจโลกยิ่งเติบโตในอนาคตมาเล่าสู่กันฟัง

ทำไมใครๆ ก็บอกว่า ต่อไปผู้หญิงจะครองโลก?

เราลองมาดูในส่วนของโครงสร้างประชากรกันก่อน จากการสำรวจของ World Bank เมื่อปี 2558 พบว่า เกือบครึ่งหนึ่งของประชากรโลกเป็นผู้หญิง และมีแนวโน้มที่สัดส่วนของผู้หญิงจะเพิ่มมากขึ้น เพราะผู้ชายอายุเฉลี่ยสั้นลง ขณะที่ประเทศไทยบ้านเรา มีประชากรทั้งหมด 65.9 ล้านคน เป็นผู้หญิงกว่า 33 ล้านคน เปรียบเทียบกับผู้ชายที่มีอยู่ 31.9 ล้านคน[1] และมีการคาดการณ์ว่า ในอีก 3 ปีข้างหน้า จะมีผู้หญิงที่อยู่คนเดียว (ม่าย โสด หรือผ่านการหย่าร้าง) มากถึง 5.6 ล้านคน[2]

“ผู้หญิง” มากกำลังซื้อ มากความสามารถ

รายงานของสำนักข่าวบลูมเบิร์ก[3] ตอกย้ำกำลังซื้อของผู้หญิงทั่วโลกในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี โดยผู้หญิงถือเป็นกลุ่มผู้ตัดสินใจเกี่ยวกับการซื้อของในครัวเรือนเป็นหลัก หรือ คิดเป็น 85% ของการจับจ่ายซื้อสินค้าทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น รถยนต์ บ้าน อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า เทคโนโลยี และอื่นๆ นอกจากนี้ ในเอเชีย ผู้หญิง 65% ยังเป็นคนตัดสินใจซื้อสินค้าเพื่อสุขภาพและความงาม ตามด้วยอาหารการกินที่ 49%[4]

Image via Bloomberg

ในปี 2552 รายงานของ Harvard Business Review เคยระบุว่า ผู้หญิงใช้จ่ายรวมกันทั่วโลกเป็นมูลค่ากว่า 20 ล้านล้านดอลล่าร์ และคาดว่าตัวเลขจะเพิ่มสูงขึ้นเป็น 28 ล้านล้านดอลล่าร์ในปี 2557

ฟังอย่างนี้แล้ว คุณพ่อบ้านไม่ต้องตกอกตกใจ เพราะนอกจากผู้หญิงจะเก่งในเรื่องของการเป็นผู้ใช้เงิน (Spender) แล้ว ผู้หญิงยังเก่งในเรื่องของการเป็นผู้หาเงิน (Earner) ด้วย เพราะปัจจุบันผู้หญิงได้รับการศึกษาสูงและเข้ามามีบทบาทในการทำงานมากขึ้น โดยข้อมูลจาก Grant Thornton ระบุว่า สัดส่วนของผู้หญิงที่ทำงานในระดับผู้บริหาร (Senior roles) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจาก 26% ในปี 2559 เป็น 29% ในปีนี้ โดยไทยถือเป็นหนึ่งในประเทศในภูมิภาคที่มีผู้หญิงในตำแหน่งผู้บริหารมากเป็นอันดับที่ 3 รองจากอินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์[5]

สอดคล้องกับรายงานล่าสุด “Winning the fight for female talent” ของ PwC ที่ยิ่งสะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า ผู้หญิงกลายเป็นกลุ่มแรงงานที่ตลาดมีความต้องการสูงมากโดยเฉพาะในตำแหน่งบริหาร โดย 78% ขององค์กรใหญ่ทั่วโลกระบุว่า ต้องการที่จะจ้างผู้หญิงในตำแหน่งที่สูงขึ้น

She Marketing เทรนด์ที่น่าจับตา

การที่ผู้หญิงเข้ามามีบทบาทในทางเศรษฐกิจและสามารถพึ่งพาตัวเองในทางการเงินได้ ไม่เพียงแต่ทำให้อำนาจซื้อของผู้หญิงเพิ่มขึ้น แต่ยังทำให้ความเชื่อ ค่านิยม รวมทั้งพฤติกรรมการดำรงชีวิตเปลี่ยนไป เช่น มีลูกน้อยลง แต่งงานช้าลง หรือ แม้แต่หย่าร้างมากขึ้น ทำให้เกิดช่องทางการทำตลาดของแบรนด์สินค้าและบริการต่างๆ เพื่อจับกลุ่มลูกค้าผู้หญิงโดยเฉพาะ หรือที่เรียกว่า She Marketing หรือ She-conomy กันมากขึ้น ผู้เขียนขอหยิบยกตัวอย่างธุรกิจเกี่ยวกับผู้หญิงที่น่าสนใจมาเล่าให้ฟัง

  • ธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ผู้หญิงสมัยนี้ชอบท่องเที่ยวด้วยตัวเองกันมากขึ้น โดยพบว่า ปัจจุบันผู้หญิงมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจท่องเที่ยวถึง 80% ไม่จำเป็นว่าไปเที่ยวที่ไหน ไปกับใคร หรือใครเป็นคนจ่าย นอกจากนี้ ยังพบว่า การท่องเที่ยวคนเดียว (Solo travel) กำลังได้รับความนิยมในกลุ่มนักท่องเที่ยวผู้หญิงมากขึ้น โดยผลสำรวจของ TripAdvisor เมื่อเดือนมีนาคม 2558 ระบุว่า จำนวนนักท่องเที่ยวผู้หญิงในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เคยเดินทางท่องเที่ยวด้วยตัวเองปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 48% จาก 36% ในปีก่อน และเกือบครึ่งยังวางแผนท่องเที่ยวคนเดียวอย่างน้อย 2 ถึง 4 ครั้ง ในปี 2558 ตัวเลขเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงโอกาสของผู้ประกอบการในการเจาะตลาดท่องเที่ยวของผู้หญิง ไม่ว่าจะเป็นการจัดกรุ๊ปทัวร์ส่วนตัวเฉพาะสาวโสด เช่น Women Traveling together ในสหรัฐอเมริกา หรือแม้แต่แคมเปญท่องเที่ยว โสดออนทัวร์ ซึ่งจัดโดย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของสาวโสดบ้านเรา รวมถึงมีแผนในการจับตลาดหญิงสูงอายุที่ไม่มีบุตร หรือ PANKs (Professional Aunts No Kids) เพิ่มมากขึ้น

ด้วยเหตุนี้ ธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจเกี่ยวเนื่องหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นรถเช่า แพ็กเกจท่องเที่ยว โรงแรม สถานบันเทิงต่างๆ จึงหันมาโปรโมตเรื่องของ ‘การท่องเที่ยวในแบบผู้หญิง’ โดยใช้เรื่องของความปลอดภัยเป็นจุดขาย เช่น โรงแรม Lemon Tree Hotel ในอินเดีย มีการจัดโซนที่พักสำหรับผู้หญิง หรือบางแห่งมีการทำปุ่มฉุกเฉินในห้องพักสำหรับนักท่องเที่ยวผู้หญิง รวมไปถึงการประกันภัยการเดินทางสำหรับผู้หญิงด้วย

  • ธุรกิจเกี่ยวกับความปลอดภัยของผู้หญิง แม้ผู้หญิงสมัยนี้จะประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน ได้รับการศึกษาสูง รักความเป็นอิสระ และไม่ต้องพึ่งพาใคร แต่ก็ยังเป็นเพศที่อ่อนแอกว่าและเป็นกลุ่มเสี่ยงที่อาจตกเป็นเหยื่อความรุนแรงได้ง่าย ดังนั้น ธุรกิจเกี่ยวกับอุปกรณ์ป้องกันตัว หรือ ศิลปะการป้องกันตัวสำหรับผู้หญิง ดูจะเป็นอีกโอกาสทางการตลาดที่น่าสนใจ ยกตัวอย่าง ในจอร์แดน มีสถาบันสอนศิลปะป้องกันตัว ชีไฟท์เตอร์ (SheFighter) ให้แก่ผู้หญิงและเด็กผู้หญิง เพื่อให้คนกลุ่มนี้สามารถป้องกันตัวเองจากอันตรายต่างๆ ได้
  • ธุรกิจความงามและสุขภาพ นอกจากแฟชั่น และ เครื่องประดับ ผู้หญิงกับความงามถือเป็นของคู่กัน เพราะผู้หญิงไม่ว่าวัยไหน ประกอบอาชีพอะไร โสดหรือไม่ ก็อยากที่จะสวยและสุขภาพดีด้วยกันทั้งนั้น ดังนั้น ธุรกิจความงามจึงสร้างผลตอบแทนให้กับผู้ประกอบการไม่น้อย เห็นได้จากมูลค่าเงินทุนหมุนเวียนไม่ต่ำกว่า 1.2 หมื่นล้านบาทต่อปี และคาดว่าจะมีมูลค่าทั่วโลกราว 2.65 แสนล้านดอลล่าร์ โดยไทยจะมีมูลค่ากว่า 2 หมื่นล้านบาทในปีนี้[6] เพราะฉะนั้น แน่นอนว่า ธุรกิจนี้จะยังคงเห็นสัญญาณการเติบโตไปพร้อมๆ กับการขยายตัวของตลาดผู้หญิงและกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ธุรกิจด้านสุขภาพที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น ฟิตเนส อาหารเสริม สปา หรือสถานบริการความงาม ก็น่าจะดึงดูดกลุ่มผู้หญิงที่พร้อมจะจ่ายพรีเมียมให้กับสินค้าและบริการเหล่านี้ในระยะยาว

ขอขอบคุณ : กุลธิดา เด่นวิทยานันท์ 31 มีนาคม 2560 / http://www.pwc.com/th

แสดงความคิดเห็น