สสว. รุกพัฒนาเอสเอ็มอีไทย ยกระดับผู้ประกอบการ Non-food เพื่อเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0

สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ สสว. ร่วมกับ สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าคุณทหารลาดกระบัง ทุ่มงบประมาณ 46 ล้านบาทเดินหน้าต่อยอดการพัฒนาเอสเอ็มอีของประเทศไทยด้วยการเปิด โครงการพัฒนาสู่สุดยอดเอสเอ็มอีจังหวัด เพื่อสร้างต้นแบบเอสเอ็มอีที่มีศักยภาพ พร้อมเป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในพื้นที่เต็มสูบ

โครงการนี้มีเป้าหมายหลักเพื่อเพิ่มขีดความสามารถและยกระดับการดำเนินกิจการเพื่อเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 สร้างต้นแบบธุรกิจที่มีศักยภาพระดับจังหวัดและผลักดันสู่ระดับประเทศ พร้อมเป็นแบบอย่างให้กับเอสเอ็มอีอื่นๆ ในระดับภูมิภาค งานนี้จึงได้มีการคัดเลือกเอสเอ็มอีจากทั่วประเทศมาเข้าร่วมโครงการ มีการจัดอบรมสัมมนาในกลุ่มของผู้ประกอบการที่ไม่ใช่อาหารหรือ Non-food จำนวน 156 ราย จากผู้สมัครทั้งหมด 290 รายทั่วประเทศ โดยมี ดร.สุรัส ตั้งไพทูรย์ ผู้อานวยการฝ่ายพัฒนาอุตสาหกรรม สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ มาให้ความรู้ด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ด้วยนวัตกรรม  ดร.สันติธร ภูริภักดี และ ดร.ณัฐพล ประดิษฐผลเลิศ ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาด และการวางแผนกลยุทธ์มาให้ความรู้เรื่องการคัดเลือกและนำเสนอคุณค่าของผลิตภัณฑ์/บริการอย่างแตกต่าง  เอกวุฒิ สุกิจปราณีนิจ ผู้ช่วยผู้อานวยการ ธุรกิจ SME ธ.กรุงศรีอยุธยา จากัด(มหาชน) มาให้ความรู้เกี่ยวกับแนวทางการเขียนแผนธุรกิจ รวมถึงการปรับตัวสู่ตลาดยุคใหม่ ของผลิตภัณฑ์ SME ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการสามารถต่อยอดธุรกิจและขยายช่องทางการตลาดได้มากยิ่งขึ้น โดยตั้งเป้าเพิ่มรายได้ให้กับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการไม่ต่ำกว่า 20%

นางสุทธิกานต์ มาสำราญ ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมและประสานเครือข่าย (สสว.) กล่าวว่า หลังจากให้ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการครบทั้งกลุ่มอาหารและไม่ใช่อาหารแล้ว สสว.ก็จะคัดเลือกสุดยอดเอสเอ็มอีที่มีศักยภาพ 3 กลุ่มคือ กลุ่มที่เพิ่งเริ่มดำเนินธุรกิจ(Start-up) กลุ่มที่มีศักยภาพในการตลาด(Rising Star) และกลุ่มที่อยู่ในช่วงฟื้นตัว (Turn Around) จังหวัดละ 6 ราย ให้เป็นผู้ประกอบการตัวอย่าง ซึ่งจะได้รับความช่วยเหลือด้านการตลาดและเงินทุนต่อยอดธุรกิจต่อไป “ปีที่แล้วเราคัดเลือกผู้ประกอบการ 3 รายต่อจังหวัด แต่มีคนสนใจค่อนข้างเยอะและอยากได้รับโอกาสดีๆ บ้าง ปีนี้จึงมีความพิเศษด้วยการเพิ่มเป็น 6 รายต่อจังหวัด โดยแบ่งเป็นส่วน 2 ส่วนคือ Non-Food และ Food ซึ่งการสัมนาครั้งนี้ เราเน้นที่ Non-Food โดยจุดสำคัญของโครงการคือการสร้างต้นแบบที่มีศักยภาพ เพื่อเป็นกลไกในการขับเคลื่อนระดับจังหวัด เราต้องการที่จะให้ทุกท่านที่เป็นเอสเอ็มอีที่ได้รับคัดเลือกให้ร่วมโครงการกลับไปต่อยอดธุรกิจและเป็นตัวอย่างให้กับจังหวัดและธุรกิจอื่นๆ ในพื้นที่ต่อไป” นางสุทธิกานต์กล่าว

ทางด้านผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการต่างยอมรับและตั้งใจมาเข้าร่วมสัมมนาเพราะมีจุดมุ่งหมายเดียวกันในการได้รับการช่วยเหลือและสนับสนุนจาก สสว. เพื่อธุรกิจที่แข็งแรงและมั่นคงอย่างยั่งยืน

คุณจินตนา เฉลิมชัยกิจ กรรมการบริษัท บุ๊คไทม์ จำกัด เผยถึงความรู้สึกที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ว่า

“ธุรกิจที่เราทำอยู่เป็นธุรกิจเกี่ยวกับสิ่งพิมพ์ โดยเฉพาะหนังสือที่เกี่ยวกับธรรมะ แต่ในจังหวะที่ธุรกิจสิ่งพิมพ์กำลังเผชิญกับวิกฤต ทำให้คิดปรับเปลี่ยนกลับไปสู่ธุรกิจดั้งเดิมของบรรพบุรุษก็คือร้านขายยาจีน เอี๊ยะแซ ตระกูลชัวของเรามีความรู้ทางด้านสมุนไพรยาจีนและดำเนินธุรกิจนี้มากว่า 80 ปี มีทั้งประชาชนทั่วไป นักการเมือง ดารา มาให้เราดูแลสุขภาพ ปัจจุบันเราทำยาดมสมุนไพรเอี๊ยะแซ ใช้วัตถุดิบอย่างดีมีคุณภาพ ผ่านห้องวิจัยได้มาตรฐาน ไม่มีสารระเหยที่ทำลายเยี่อจมูก ทางภาครัฐเห็นความสำคัญของการส่งเสริมเอสเอ็มอีของเรา เลยหางานวิจัยเรื่องมาตรฐานของสมุนไพรในบ้านเรา นวัตกรรมการพัฒนารูปแบบของผลิตภัณฑ์ เพื่อขยายไลน์ของสินค้าเข้ามาช่วย เช่น สมุนไพรดับกลิ่นในรถยนต์ หรือสมุนไพรที่จะใช้ไล่แมลงที่เป็นมาตรฐานที่หน่วยงานของทางภาครัฐได้เข้ามาผนวกกัน

และหลังจากที่ได้เข้าร่วมเป็นผู้ประกอบการในโครงการ SME ตอนนี้ทำให้แบรนด์เราแข็งแรงและยั่งยืนขึ้น ต่อไปก็จะเริ่มขยายตลาดไปในประเทศเพื่อนบ้านเพื่อให้เกิดการขยายตัวทางธุรกิจ นอกจากนี้เรายังมีโอกาสไปออกร้านแสดงงานที่ทางภาครัฐได้ส่งเสริมในงานนิทรรศการต่างๆ ส่วนในอนาคตเราวางแผนการตลาดไว้ว่า ยาดมเอี๊ยะแซและยาหม่อง จะจำหน่ายเข้าไปในร้านขายยา และร้านหนังสือชั้นนำ ซึ่งเราคิดว่าอยากจะขยายตลาดเข้าไปในซีไอเอ็มบีด้วยก็เลยจะมาขอเข้าร่วมโครงการที่ทางภาครัฐได้ส่งเสริมในปีนี้”

ส่วน คุณบุญสุข อารยอัศนี กรรมการโรงแรมอัมพวาน่านอน แอนด์สปา หนึ่งในผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการเล่า ว่า “โรงแรมอัมพวาน่านอนเกิดจากครอบครัวเรามีที่ดินในตลาดน้ำอัมพวา แล้ววันหนึ่งอัมพวาเจริญขึ้น เลยรู้สึกว่าน่าจะทำที่พักที่มีมาตรฐาน จุดเด่นของโรงแรมเราคือทำเล มีจุดชมวิวที่มองอัมพวาได้ทั้งตลาดและอยู่ในจุดเชื่อมต่อลูกค้าจะขึ้นรถลงเรือเดินเที่ยวในตลาดได้เลย ซึ่งกลยุทธ์การตลาดคือ รู้ให้ลึกและเข้าใจ เดินตามศาสตร์ของพระราชา สามห่วง สองเงื่อนไข คือเรื่องการรู้จักประมาณตนและการมีภูมิคุ้มกันบนเงื่อนไขของการศึกษาหาความรู้และมีเหตุผล การตลาดปัจจุบันมีการแข่งขันสูงมากแต่เราไม่วิ่งตามตลาด เรารู้จักตัวเอง มีความพอและใช้ความดีไปแข่งขันด้วยความที่เราเกิดและโตที่อัมพวาจึงใช้ทีมงานที่เป็นคนอัมพวาเกือบร้อยเปอร์เซนต์ เป้าหมายง่ายๆ เพราะอยากให้คนมาเที่ยวแล้วรักที่นี่เหมือนที่คนของเรารักมาซึมซับวิถีวัฒนธรรมและช่วยกันอนุรักษ์อัมพวา

หลังจากที่ได้เข้าร่วมเป็นผู้ประกอบการในโครงการ SME เรามองว่าถ้าเราจะโตได้เร็วเราไปคนเดียวได้ แต่ถ้าอยากโตให้ไกลและยั่งยืนต้องหาคนมาร่วม โครงการนี้ทำให้เห็นความหลากหลาย ได้ปรึกษาหารือ มีมุมมองที่เรามองไม่เห็น เช่น เรื่องการทำการตลาดให้ยั่งยืน เรามาได้จนถึงปัจจุบันเพราะตั้งอยู่ในทำเลที่ดี แต่เรื่องความยั่งยืน ก็ต้องใช้ตัวท้องถิ่น ซึ่งก็คืออัมพวา เราแก้ปัญหาด้วยการทำแบรนด์โมเดลเพื่อให้รู้เป้าหมายว่าอยากได้อะไร และก็เทรนทีมงานให้มีจุดเป้าหมายเดียวกัน ขณะเดียวกันก็ใช้คู่ค้า สื่อสารกับซัพพลายเออร์ต่างๆ ให้รู้เป้าหมายด้วยว่าเราต้องการที่จะส่งมอบอะไรให้กับลูกค้าและลูกค้าจะได้ใช้บริการอะไรจากเรา ฉะนั้นความรู้แบรนด์โมเดลที่ได้จากการเข้าร่วมโครงการนี้จะทำให้เราแข็งแรงขึ้น”

สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจหรืออยากเข้าร่วมโครงการดีๆ เพื่อต่อยอดและพัฒนาธุรกิจเอสเอ็มอีให้ยั่งยืนสามารถเข้าดูรายละเอียดได้ที่ www.sme.co.th หรือ ติดต่อ 1301

แสดงความคิดเห็น