อาชีพค้าขาย เริ่มต้นอย่างไรดี
อาชีพค้าขาย เริ่มต้นอย่างไรดี

อาชีพค้าขาย เริ่มต้นอย่างไรดี ?

อาชีพค้าขาย เริ่มต้นอย่างไรดี

อาชีพค้าขาย เริ่มต้นอย่างไรดี ?

อาชีพค้าขาย หรืออาชีพแม่ค้า พ่อค้า ที่เราคุ้นเคยกันนี่แหล่ะคะ บางคนอาจมองว่าเป็นอาชีพที่ทำเงินหรือทำกำไรได้น้อย ไม่รู้เมื่อไหร่จะรวย ??!! นั่นอาจเป็นคำพูดหลายคนตั้งคำถามอยู่ในใจ…ถ้ามองกันในมุมของผู้ประกอบอาชีพค้าขาย นอกเหนือจากเรื่องของการหาเงินเลี้ยงปากเลี้ยงท้องแล้ว ยังมีเรื่องละเอียดอ่อนที่เราต้องเข้าไปสัมผัสเองถึงจะรู้ บางคนค้าขายเพราะชอบอาชีพนี้ บางคนค้าขายเพราะสานต่อกิจการของครอบครัว บางคนล้มเหลวจากการประกอบอาชีพอื่นๆแล้วมาได้ดีในการค้าขาย หรือหลายคนอาจเป็นพนักงานประจำมาก่อนแต่อยากมีกิจการเล็กๆเป็นของตัวเอง จึงเริ่มต้นด้วยอาชีพค้าขาย เป็นต้น

ถ้าคุณเป็นอีกคนนึงที่อยากจะประกอบอาชีพค้าขาย แต่ยังไม่รู้ว่าจะต้องเตรียมตัวยังไง? และต้องทำอะไรบ้าง? อาชีพค้าขายมองผิวเผินอาจจะดูเหมือนง่าย แต่จริงๆแล้วไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่คิดเลย หลายคนต่อหลายคนล้มเหลวจากการทำอาชีพค้าขายกันมาแล้วนักต่อนัก ทั้งนี้เพราะขาดการเตรียมการวางแผน และศึกษาความเป็นได้ของตลาด พูดภาษาชาวบ้านก็คือ คิดแต่ว่าจะขายได้อย่างเดียว ไม่คำนึงถึงเรื่องอื่นๆเลยนั่นเอง
การเตรียมพร้อมสำหรับการเริ่มต้นอาชีพค้าขาย

1. การวางแผน/ตั้งเป้าหมาย การวางแผนที่ดีมีชัยไปกว่าครึ่งคำนี้เราได้ยินกันบ่อยแต่ก็เป็นเรื่องจริงที่ยังคงใช้ได้อยู่จนถึงทุกวันนี้ เริ่มจากการสำรวจตัวเองว่าตนเองนั้นมีความถนัดหรือสนใจสินค้าประเภทไหน หรือมีประสบการณ์ด้านไหนที่สามารถนำมาต่อยอดได้บ้าง ตั้งเปาหมายเอาไว้คร่าวๆเพื่อเป็นแรงกระตุ้นในการทำอาชีพ เพราะอาชีพค้าขายนั้นใช่ว่าจะขยายเป็นกิจการใหญ่โตไม่ได้ ฉะนั้นเราต้องมีการตั้งเป้าหมายเอาไว้ด้วย

2. การเงิน ควรจัดสรรเงินให้เป็นระบบ เป็นสัดส่วน ก่อนลงทุนทำธุรกิจใดๆเรื่องของการเงินเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าคุณมีเงินอยู่ก้อนนึง ให้แบ่งเงินนั้นออกเป็น 3 ส่วน ส่วนแรกสำหรับทุนในการเริ่มต้น ไม่ว่าจะค่าซื้อสินค้า ค่าเช่าที่ ฯลฯ ส่วนที่สองสำหรับเงินทุนสำรองในกรณีที่เงินทุนไม่พอเราก็จะสามารถเอาเงินทุนสำรองนี้ออกไปใช้ได้ ส่วนที่สามสำหรับเป็นเงินออม/ค่าความเสี่ยง ส่วนนี้เก็บไว้ในกรณีฉุกเฉิน เพราะการค้าขายก็ผันแปรไปตามสภาพเศรษฐกิจและค่าเงินบาทของประเทศด้วย หรือหากโชคร้ายค้าขายล้มเหลวก็ยังเหลือเงินส่วนนี้ไว้ตั้งตัวต่อไปได้ ควรทำบัญชีรายรับรายจ่ายด้วย ทั้งนี้เพื่อจะได้เห็นตัวเลขชัดเจนทั้งค่าใช้จ่ายและผลกำไรต่างๆ การบริหารเงินของคุณก็จะทำได้ง่ายขึ้น

3. สินค้า เมื่อสำรวจตัวเองและตั้งเป้าหมายพร้อมทั้งเตรียมการเรื่องการเงินพร้อมแล้ว การเลือกสินค้า ถือเป็นปัจจัยสำคัญอีกตัวหนึ่งที่จะเป็นตัวชีวัดว่าการค้าของคุณจะไปรอดหรือไม่!! การลงทุนในตัวสินค้ามีหลายรูปแบบ เช่น การหาสินค้ามาขายเอง , การเป็นตัวแทนจำหน่าย , การซื้อแฟรนไชส์ , เป็นต้น ซึ่งแต่ละรูปแบบนั้นคุณจะต้องไปศึกษาทำความเข้าใจ ข้อดี ข้อเสีย ต่างๆก่อน อาจจะดูยุ่งยากไปสักนิด แต่เชื่อเถอะคะว่าเสียเวลาหาข้อมูลยังดีกว่าลงทุนไปแล้วเงินเสียเปล่า!!!

4. กลุ่มเป้าหมาย หรือกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่เราจะขายสินค้านั่นเองคะ ศึกษาความต้องการของผู้บริโภค เทรนด์หรือกระแสความนิยม กำหนดกลุ่มเป้าหมายหลักให้ชัดเจน เช่น ถ้าขายเครื่องสำอางแบรนด์เนม แน่นอนว่ากลุ่มเป้าหมายของเราคือ ผู้หญิง อายุ 20 – 40 ปี หรือกลุ่มคนทำงานที่มีกำลังซื้อนั่นเองคะ นี่เป็นตัวอย่างเบื้องต้นที่ให้พอเห็นภาพคร่าวๆเท่านั้นนะคะ ไม่จำเป็นต้องเป็นสินค้าแบรนด์เนมเสมอไปคะ

5. ทำเลค้าขาย/ค่าเช่า เมื่อสินค้าและกำหนดกลุ่มเป้าหมายแล้ว การเลือกทำเลค้าขาย ก็เป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้ามเป็นอย่างยิ่งคะ ควรเลือกทำเลที่มีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของเราเยอะๆ หรือทำเลที่มีผู้คนผ่านไปมา จับจ่ายใช้สอยเลือกซื้อสินค้า และถ้าหากต้องเสียค่าเช่าที่ต้องดูด้วยว่าทำเลนั้นจะขายแล้วคุ้มค่าเช่าหรือไม่ ทั้งนี้ต้องดูด้วยว่าทำเลนั้นเหมาะกับสินค้าของเราหรือไม่ เช่น ถ้าเรา “ขายของเล่น” แล้วเลือกทำเลขายที่”ตลาดสด” แน่นอนว่านอกจากเราจะไม่ได้กลุ่มลูกค้าเป้าหมายแล้ว ยังเสียเวลา ไม่คุ้มค่าเช่าและเสียโอกาสในการขายอีกด้วย

6. คู่แข่ง ถ้าหากสินค้าของเรานั้นมีคู่แข่งที่ขายสินค้าชนิดเดียวกันและแถมตั้งอยู่ในทำเลใกล้กัน ให้รู้จักหาจุดเด่นของร้าน หรือจุดขายของร้าน เรียกลูกค้า เช่นการจัดร้านให้ดูน่าสนใจ แต่ไม่ใช่ขายตัดราคาร้านอื่น ปล่อยให้เป็นไปตามกลไกราคาตลาด

7. การบริการ การค้าขายถ้าพ่อค้าแม่ค้ามีการบริการที่เป็นมิตร มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้า ยิ้มแย้มแจ่มใส พูดจาสุภาพ เพราะลูกค้าที่ไหนก็อยากจะได้รับความรู้สึกที่ดีกลับไปจากร้านค้าทั้งนั้น ถึงแม้ว่าเขาจะไม่ซื้อก็ตาม แต่การบอกต่อปากต่อปากอย่าลืมว่าเร็วกว่าการโฆษณาเป็นไหนๆ ร้านไหนแม่ค้าพูดเพราะ สินค้าดี ก็จะได้รับการประชาสัมพันธ์จากลูกค้าต่อๆกันไปเองคะ การเชื่อมสัมพันธ์เช่นนี้จะทำให้คุณได้ลูกค้าประจำเป็นฐานลูกค้าที่สำคัญให้คุณอย่างต่อเนื่องแน่นอนคะ

การเตรียมตัวเบื้องต้นนี้ จะเห็นว่าเราจำเป็นต้องศึกษาข้อมูลต่างๆให้มาก ยิ่งมีความรู้มากความเสี่ยงหรือปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นเราก็จะสามารถเตรียมตัวและรับมันรับกับสถานการณ์นั้นๆได้ อาจดูเป็นเรื่องยุ่งยาก แต่ถ้าอยากเริ่มต้นอาชีพค้าขาย อย่างมั่นคงและหากอยากขยายเติบโต การยอมเสียเวลาศึกษาทำความเข้าใจเสียก่อนเนิ่นๆ ยังดีกว่าเสียเวลาสร้างอาชีพใหม่บ่อยๆ ยิ่งปัจจุบันนี้การเข้าถึงข้อมูลก็ง่ายดาย มีแหล่งข้อมูลให้เราค้นคว้ามากมาย

ถ้าคุณคิดว่า ผม/ฉัน แก่แล้วใช้เทคโนโลยีใหม่ๆไม่เป็น ไม่ยากเลยคะใช้ลูกหลานของท่านให้ช่วยหา หรือถ้าคิดว่าไม่อยากไปรบกวนลูกหลาน ก็หัดเล่นเองเลยคะ ลองผิดลองถูกไป ใช้ๆบ่อยๆก็ชำนาญเองคะ เพราะไม่มีใครทำทุกอย่างเป็นได้ตั้งแต่ครั้งแรก….
แสดงความคิดเห็น