การเลือกทำเลที่ตั้งโรงงาน

หนึ่งในปัจจัยที่ผู้ประกอบการหรือนักธุรกิจควรให้ ความสำคัญก็คือการเลือกทำเลที่ตั้งโรงงาน เพราะถ้าหากเลือกทำเลที่ไม่เหมาะสมก็อาจทำให้คุณต้องเสียค่าใช้จ่ายมากขึ้นโดยไม่คุ้มค่าหรือประสบกับปัญหาอื่นๆตามมา อย่างเช่น การขาดแคลนวัตถุดิบหลัก ค่าขนส่งสินค้าสูงเกินเหตุ หรือขาดแคลนแรงงานที่มีคุณภาพ ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยทั่วไปแล้วลักษณะของทำเลที่ตั้งนั้นเราไม่อาจกำหนดตายตัวได้ว่าที่ไหนถึงจะดีกว่า เพราะ เราต้องพิจารณาถึงธุรกิจของโรงงานประกอบกันไปด้วยทำเลที่ตั้งตรงนี้อาจเหมาะกับธุรกิจประเภทหนึ่ง

แต่ไม่เหมาะกับธุรกิจอีกประเภทหนึ่งก็เป็นไปได้เช่นเดียวกัน ดังนั้นผู้ประกอบการควรจะต้องวางแผนให้รอบคอบเสียก่อนเพื่อที่เราจะได้ทำเลที่ถูกใจมีประสิทธิภาพสูงและเอื้ออำนวยผลประโยชน์กับกำไรคืนกลับมาให้เราอย่างยั่งยืนและมั่นคง สำหรับผู้ประกอบการคนใดที่กำลังมองหาทำเลดีๆอยู่ล่ะก็ ลองอ่านบทความการเลือกทำเลที่ตั้งโรงงานนี้เพื่อนำปัจจัยเหล่านี้ไปประกอบใช้ในการพิจารณาดู

ปัจจัยสำคัญอย่างแรกคือ แหล่งวัตถุดิบสำคัญ (Raw Materials Resource)
ที่ต้องนำมาใช้ในการผลิตโรงงานควรตั้งอยู่ใกล้กับแหล่งวัตถุดิบเพื่อช่วยให้สามารถจัดหาวัตถุดิบได้สะดวกมากขึ้นและเป็นของที่ดีมีคุณภาพเพราะส่งตรงจากแหล่งผลิต รวมทั้งต้นทุนของวัตถุดิบกับค่าขนส่งก็จะราคาย่อมเยามากขึ้น ช่วยให้ผู้ประกอบการประหยัดเงินและเวลาไปได้มากทีเดียว ยกตัวอย่างเช่น โรงงานผลิตลิ้นจี่หรือเงาะกระป๋องก็ควรจะตั้งอยู่ในเขตจังหวัดหรืออำเภอที่มีสวนผลไม้อย่างลิ้นจี่และเงาะเพื่อให้ได้วัตถุดิบที่สดใหม่มาใช้ในการผลิต

แต่เมื่อมองในมุมกลับหากโรงงานตั้งอยู่ไกลจากแหล่งวัตถุดิบมาก ก็อาจทำให้ได้วัตถุดิบที่ไม่มากเพียงพอกับความต้องการ คุณภาพไม่ดีหรือมีราคาแพงมากเกินไป รวมทั้งยังต้องเสียค่าขนส่งเป็นจำนวนมหาศาลและเสียเวลามากอีกด้วย ถ้าหากบริเวณที่ตั้งใกล้โรงงานมีแหล่งผลิตวัตถุดิบจำนวนมาก เราก็ควรสำรวจแหล่งขาย ผู้ขาย ราคาและคุณภาพของวัตถุดิบให้ดีเสียก่อนที่จะสั่งซื้อกับที่นั้นๆเพื่อที่จะได้แหล่งขายที่มีคุณภาพสูงสุดและขายวัตถุดิบในราคาย่อมเยาที่สุด

ปัจจัยสำคัญอย่างที่สอง คือ แหล่งแรงงาน (Labor)
หรือความสามารถของมนุษย์ที่จะช่วยขับเคลื่อนธุรกิจให้ดำเนินต่อไปได้ และเป็นปัจจัยสำคัญที่จะมาช่วยในการผลิตสินค้าแบ่ง ออกได้เป็น 3 ประเภทคือ แรงงานฝีมือ (Skilled Labor) หรือผู้ที่มีความชำนาญการในอาชีพงานของตนทั้งทางทฤษฎีและทางปฏิบัติ แรงงานกึ่งฝีมือ (Semi-skilled Labor) หรือผู้ที่มี ความรู้ทั้งทางด้านทฤษฎีและปฏิบัติเพียงบางส่วน แรงงานไร้ฝีมือหรือแรงงานทั่วไป (Unskilled Labor) หรือผู้ที่ทำงานโดยใช้แรงกายเป็นหลักไม่จำเป็นต้องมีความชำนาญใดๆ

ผู้ประกอบการควรจะพิจารณาให้รอบคอบก่อนว่า ตนเองต้องการแรงงานประเภทใดบ้าง เพื่อที่จะได้สามารถว่าจ้างได้อย่างเหมาะสมและไปจัดตั้งโรงงานในแหล่งหรือใกล้แหล่งที่สามารถหาแรงงานประเภทตามที่ต้องการได้ง่ายมากขึ้นและมี คุณภาพที่เหมาะสม แรงงานฝีมือหรือช่างผู้ชำนาญการส่วนใหญ่ก็จะอยู่ในตัวเมืองหรือชุมชนที่มีขนาดใหญ่และค่าแรงก็ อาจจะสูงกว่าในชุมชนขนาดเล็ก ดังนั้นผู้ประกอบการอาจจะต้องพิจารณาถึงความเพียงพอของแรงงานในแหล่งนั้นๆ รวมถึงค่าแรงที่ต้องการใช้จัดจ้างประกอบกันไป

ปัจจัยสำคัญอย่างที่สาม คือ สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ
ทำเลที่ตั้งของโรงงานควรมีการให้บริการสาธารณูปโภคที่ครบครัน ยกตัวอย่างเช่น ไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ เชื้อเพลิง การขนส่งและเส้นทางคมนาคมต่างๆ เพราะสิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวช่วยขับเคลื่อนโรงงานให้สามารถดำเนินงานไปได้อย่างต่อเนื่องและผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ หากขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไป อาจทำให้การผลิตเกิดความล่าช้าจนสินค้า เกิดขาดตลาดและขาดทุนได้ นอกจากนี้โรงงานยังควรอยู่ใกล้กับสถานที่ราชการที่สำคัญๆอย่างเช่น โรงพยาบาล สถานีดับเพลิง สถานีตำรวจ เพื่อความปลอดภัยต่อทรัพย์สินของ โรงงานและชีวิตของแรงงานทุกคนของท่าน

ปัจจัยอย่างที่สี่ คือ ตลาดหรือฐานลูกค้า
ปัจจัยนี้มีความสำคัญมากที่สุดสำหรับการเลือกทำเลที่ตั้งโรงงานเพราะการตั้งอยู่ใกล้เคียงกับตลาดจะช่วยให้สินค้าถึงมือผู้บริโภคหรือ ผู้ใช้ได้อย่างรวดเร็วและทันเวลา การช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้า ย่อมทำให้ลูกค้าเกิดความพึงพอใจและอยากใช้บริการอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเป็นการสร้างฐานลูกค้าประจำให้ เกิดขึ้น นอกจากนี้การอยู่ใกล้ตลาดยังมีส่วนช่วยในการลดภาระค่าใช้จ่ายของการขนส่งสินค้าสู่ตลาดอีกด้วย แต่ถ้าหาก เป็นโรงงานที่สินค้าต้องจัดจำหน่ายผ่านทางพ่อค้าคนกลาง ก็ไม่จำเป็นต้องเลือกสถานที่ที่ตั้งใกล้กับผู้บริโภคโดยตรง แต่ให้เลือกจัดตั้งใกล้กับกลุ่มพ่อค้าคนกลางแทน

ปัจจัยอย่างที่ห้า คือ ค่าใช้จ่ายในการขนส่งสินค้า
ผู้ประกอบการควรพิจารณาถึงค่าขนส่งที่ต้องใช้ในการผลิตสินค้าและจัดจำหน่าย อาทิเช่น  ค่าขนส่งวัตถุดิบจากแหล่งมายังโรงงานหากโรงงาน ไม่ได้ตั้งอยู่ใกล้กับแหล่งวัตถุดิบหลัก ผู้ประกอบการก็ควรพิจารณาการขนส่งที่เหมาะสม มีระยะทางไม่ไกลเกินไปใช้เวลาไม่นานและมีค่าใช้จ่ายที่ไม่สูงเกินไปนัก  ค่าขนส่งสินค้าเพื่อไปเก็บรักษาในคลัง หลังจากสินค้าถูกผลิตออกมาเป็นที่เรียบร้อย ก็จะต้องได้รับการดูแลรักษาในคลังสินค้าที่มีสภาวะแวดล้อมเหมาะสมก่อนที่จะส่งไปจัดจำหน่ายตามที่ต่างๆ

ดังนั้นคลังเก็บสินค้าจึงควรอยู่ใกล้กับ โรงงานผลิตหรืออยู่ในบริเวณของโรงงานเลยยิ่งดี เพื่อที่จะได้เก็บรักษาสินค้าเอาไว้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งเป็นการลดค่าใช้จ่ายในการขนส่งของส่วนนี้ไปอีกด้วย ค่าขนส่งสินค้าเพื่อจัดจำหน่ายเพื่อเป็นการประหยัด ค่าใช้จ่ายในการขนส่งสินค้าและอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้บริโภคหรือพ่อค้าคนกลาง ผู้ประกอบการควรจัดตั้งโรงงานใกล้กับแหล่งผู้บริโภคหรือตลาดให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

ปัจจัยอย่างที่หก คือ งบประมาณ
หลังจากที่สามารถเลือกทำเลที่ตั้งที่เหมาะสมได้แล้ว ผู้ประกอบการควรที่จะพิจารณาถึงค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่จะต้องเกิดขึ้น อาทิเช่น ราคาที่ดิน อัตราค่าแรงงาน ค่าขนส่งสินค้า ค่าวัตถุดิบ ค่าเครื่องจักร เครื่องมือ และอุปกรณ์ต่างๆ ค่าธรรมเนียมและภาษีที่ต้องจ่ายให้องค์การของรัฐในการดำเนินการจัดตั้ง สถานที่ประกอบการ ซึ่งค่าใช้จ่ายต่างๆเหล่านี้ขึ้นอยู่กับการเลือกสถานที่ประกอบการทั้งสิ้น ผู้ประกอบการควรมองหาสถานที่หลายๆแห่งเพื่อใช้ในการประกอบการพิจารณาและเปรียบเทียบหากที่ไหนที่พิจารณาแล้วว่าค่าใช้จ่ายเพียงพอต่องบประมาณที่ตั้งไว้และได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าก็ค่อยตัดสินเลือกประกอบการในที่นั้นๆ

ปัจจัยอย่างที่เจ็ด คือ การคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ
ผู้ประกอบการจึงควรใส่ใจและคำนึงความ รับผิดชอบต่อสภาพแวดล้อมและผู้คนในชุมชนด้วยเนื่องจาก ในการผลิตมักจะต้องมีการปล่อยของเสียออกมา ดังนั้นโรงงานควรจะต้องมีระบบในการกำจัดน้ำเสีย ไม่ถ่ายเทน้ำเสียลงในแม่น้ำลำคลองหรือเปลี่ยนสภาพจากน้ำเสียให้เป็นน้ำดีก่อนที่จะถ่ายเทลงในแม่น้ำคลอง รวมทั้งควรจะต้องป้องกันฝุ่นละอองหรือควันเสีย เพื่อไม่ทำให้อากาศเป็นพิษและไปรบกวนชุมชนที่อยู่ในบริเวณใกล้ๆกับโรงงานด้วย เพราะถึงแม้โรงงานของเรา จะได้รับกำไรและผลตอบแทนสูงมากแค่ไหน แต่หากโรงงานของ เราไม่คำนึงและให้ความสนใจกับเรื่องสิ่งแวดล้อมและคนในชุมชนแล้วล่ะก็ โรงงานของเราอาจถูกคนในชุมชนต่อต้านจนต้องปิดกิจการลงก็เป็นได้

การเลือกทำเลที่ตั้งที่ดีและเหมาะสมย่อมนำมาซึ่งโอกาสแห่งความสำเร็จของการประกอบธุรกิจ ดังนั้นผู้ประกอบการควรพิจารณาถึงแหล่งวัตถุดิบ แหล่งแรงงาน สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ตลาดหรือฐานลูกค้า ค่าใช้จ่ายในการขนส่งสินค้า งบประมาณ ความคุ้มค่าและผลตอบแทน รวมถึงการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติก่อนที่จะจัดตั้งโรงงานเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อกิจการของตนเอง และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและชุนชนอย่างยั่งยืน

แสดงความคิดเห็น