ขั้นตอนเปิดร้านขายยำมาม่า ด้วยเงินทุนเริ่มต้น เพียง 1,000 บาท

มีเงินทุนน้อยแต่อยากขายยำมาม่า อยากเปิดร้านขายยำมาม่าเล็กๆเป็นของตัวเอง ขายหน้าโรงเรียน หรือขายในหมู่บ้าน ชุมชน เป็นช่องทางในการสร้างอาชีพเสริม แต่ยังไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นอาชีพอย่างไรดี เราได้รวบรวมเอาข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ต่อผู้ที่กำลังมองหาอาชีพสร้างรายได้

ก่อนอื่นต้องขอแนะนำว่าอาชีพที่จะแนะนำในครั้งนี้นั้น เหมาะสำหรับการขายในชุมชนเล็กๆ ขายตามต่างจังหวัด ขายเด็กๆ นักเรียน วัยรุ่น เนื่องจากไม่ได้ใส่เครื่องเยอะ เน้นขายราคาไม่แพง ขั้นตอนทำไม่ยุ่งยาก ไม่ต้องปรุงหรือยำเพิ่มมากมาย ต้นทุนหลักใช้แค่ไม่กี่อย่าง ด้วยงบประมาณที่จำกัดไว้ไม่เกิน 1,000 บาท ทั้งนี้เพื่อแจกแจงให้เห็นว่ามีเงินแค่พันเดียวก็เริ่มต้นอาชีพขายยำมาม่าได้

งบการลงทุนเบื้องต้น

  • มาม่ารสต้มยำน้ำข้น ราคาประมาณ 174 บาท ลังบรรจุ 30 ซอง
  • มาม่ารสหมูสับ ราคาประมาณ 174 บาท ลังบรรจุ 30 ซอง
  • หมูยอ ราคาประมาณ 20 – 50 บาท
  • เนื้อหอยลายต้มสุกแช่แข็ง ราคาประมาณ 110 บาท (700-1,000 ตัว/แพ็ค) 1 กก.
  • ไส้กรอกไก่ ราคาประมาณ 65 บาท ขนาด 1,000 กรัม
  • เล็บมือนางไก่ ราคาประมาณ 50-80 บาท/กิโลกรัม
  • ชามพลาสติก เบอร์ 45 ราคาประมาณ 75 บาท จำนวน 50 ชิ้น
  • ซ้อมพลาสติก ราคาประมาณ 15 บาท แพ็ค 50 คัน
  • ถุงพลาติกหูหิ้ว ราคาประมาณ 20 บาท 100 ใบ
  • หม้อต้มน้ำลวกเส้นมาม่า ราคาประมาณ 150 บาท
  • กระชอนตักเส้น ราคาประมาณ 50 บาท
  • ผักต่างๆ เช่น ผักบุ้ง กะหล่ำปลี หอมหัวใหญ่ ฯลฯ ใช้งบประมาณ 100 บาท

หมายเหตุ : งบ 1,000 บาทนี้ยังไม่รวมแก๊สหุงต้ม ซึ่งผู้ประกอบการอาจจะต้องใช้ของที่มีอยู่ หรือสามารถปรับลดทุนต้นในส่วนอื่นเพื่อมาให้เป็นค่าแก๊สหุงต้ม

แหล่งซื้อวัตถุดิบ

  • แมคโคร แหล่งขายส่งสินค้าราคาถูก มีสินค้าให้เลือกครบครัน ทั้งของสดของแห้ง เครื่องปรุงต่างๆ เรียกได้ว่าไปที่เดียวจบครบทุกความต้องการ นอกจากนี้ยังมีบริการสั่งออนไลน์รอรับสินค้าได้ที่หน้าบ้าน
  • ร้านขายสินค้าออนไลน์ สินค้าราคาถูกกว่าท้องตลาด สะดวกสบาย สั่งซื้อได้ง่ายๆแค่ปลายนิ้ว รอของไม่นาน ด้วยความรวดเร็วของการจัดส่งในปัจจุบัน ทำให้ได้รับของทันใจ ทั้งนี้ทั้งนั้นผู้ประกอบการอาจจำเป็นต้องเลือกดูร้านที่มีความน่าเชื่อถือ เนื่องจากเราไม่สามารถเห็นสินค้าจริงได้ก่อนสั่งซื้อ อาจได้รับสินค้าไม่ตรงความความต้องการ
  • ตลาดสด ตลาดสดประจำจังหวัดหรือในท้องถิ่น จะมีขายทั้งของสดของแห้งเช่นกัน มีร้านให้เลือกหลายประเภท ราคาไม่แพงและยังเป็นการได้อุดหนุนคนในพื้นที่กันเองอีกด้วย

คำแนะนำเพิ่มเติม

1.สามารถปรับลดปริมาณวัตถุดิบลงเพื่อให้ครอบคลุมต้นทุนในส่วนอื่น เช่น มาม่า อาจจะยังไม่ซื้อแบบยกลัง อาจจะซื้อแบบแพคละ 6 ซอง เพื่อที่จะนำเงินไปใช้ทำอย่างอื่น หรือนำเงินไปซื้อมาม่ารสชาติอื่นๆ เพิ่มขึ้น เช่น รสต้มยำกุ้ง รสเย็นตาโฟต้มยำ รสต้มโคล้ง เป็นต้น เพื่อเพิ่มความหลากหลาย เป็นการกระจายต้นทุนในช่วงแรกๆ

2.ใช้ของที่มีอยู่แล้วร่วมด้วย เพื่อเป็นการประหยัดต้นทุน เช่น โต๊ะ เตาแก๊สปิคนิค หรือเตาแก๊สแบบกระป๋อง ซึ่งในส่วนของแบบกระป๋องนี้ไม่แนะนำเท่าไหร่ เนื่องจากไม่ทนต่อความร้อน เสี่ยงต่อการเกิดประกายไฟ นอกจากนี้สามารถใช้ผ้าปูโต๊ะจากที่บ้าน ถาด หรืออื่นๆตามสมควร

3.ราคาขาย ประมาณ 25 – 30 บาท สำหรับต่างจังหวัดถือว่าเป็นราคาที่ไม่ถูกหรือแพงจนเกินไป ทั้งนี้ต้องกะปริมาณให้เหมาะสมกับราคาขายด้วย ใส่เครื่องให้พอดีไม่น้อยเกินไปจนดูน่าเกลียด เนื่องจากไม่ได้เน้นใส่กุ้ง หมึก วัตุดิบที่มีราคาแพง เพราะถ้าใส่จะขายราคาที่สูงกว่านี้จึงจะมีกำไร

4.ผักต่างๆ ซื้อตามร้านขายของชำจะถูกกว่า เนื่องจากร้านขายของชำนั้นแบ่งขายได้ เราซื้อแค่หอมใหญ่หัวเดียวก็แบ่งขายให้เราได้ ซึ่งวิธีการแบบนี้เหมาะสำหรับท่านที่ยังไม่มีเงินทุนมากพอ เพิ่งเริมต้นขาย และต้องการประหยัดต้นทุน และหมุนเงินวันต่อวันซื้อของ นอกจากพวกผักต่างๆแล้วยังใช้วิธีนี้กับวัตถุดิบอื่นๆได้ด้วยเช่นกัน ผู้ประกอบการสามารถพิจารณาได้ตามความเหมาะสม

ทั้งหมดนี้ก็เป็นแนวทางในการเริ่มต้นอาชีพขายยำมาม่าแบบบ้านๆ ไม่จำเป็นต้องปรุงเพิ่มใช้แค่ผงมาม่าสำเร็จรูป เน้นขายนักเรียน เด็กวัยรุ่น ที่ไม่ได้เน้นรสชาติจัดจ้านมากนัก เนื่องจากงบประมาณที่จำกัด ทั้งนี้เป็นแค่เพียงข้อมูลการเริ่มต้นอาชีพเบื้องต้น ผู้ประกอบการสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสม หรือหากผู้ประกอบการท่านใดที่มีงบประมาณมากกว่านี้สามารถเพิ่มวัตถุดิบ หรือทำนำยำเพิ่มเติมได้ตามต้องการ

แสดงความคิดเห็น