Stack of beautiful sexy bras in storefront in the store. Romantic lingerie.

โอกาสผู้ประกอบการไทย “ขายชุดชั้นใน” ส่งออกจีน ทำราคาได้ 470–940 บาทต่อชุด

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) ชี้ช่องสินค้า “ชุดชั้นใน” เจาะจีน เผยมูลค่าตลาดปี 2021 สูงถึง 2.53 ล้านล้านบาท เป็นโอกาสที่ผู้ผลิต ผู้ส่งออกไทยจะเข้าไปช่วงชิงส่วนแบ่งตลาด เผยยังมีการกระจุกตัวของแบรนด์ไม่สูงมาก มีโอกาสแทรกเข้าไปได้ แนะเน้นสินค้าคุณภาพดี ใช้ช่องทางออนไลน์ และใช้ผู้มีชื่อเสียงช่วยขายสินค้าผ่านไลฟ์สตรีมมิ่ง

นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เปิดเผยว่า กรมฯ ได้สั่งการให้ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ที่ประจำอยู่ในประเทศต่างๆ หาโอกาสส่งออกให้กับผู้ประกอบการไทยตามนโยบายนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และล่าสุดได้รับรายงานจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองชิงต่าว ถึงโอกาสในการส่งออกสินค้าชุดชั้นในของไทยเจาะเข้าสู่ตลาดจีน เพราะปัจจุบัน ตลาดชุดชั้นในจีนมีการเติบโตสูงมาก โดยมีการประเมินว่าในปี 2021 ตลาดจะมีมูลค่าสูงถึง 537,300 ล้านหยวน หรือประมาณ 2.53 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.52% ซึ่งผู้ผลิต ผู้ส่งออกของไทย สามารถที่จะเข้าไปช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดได้

ทั้งนี้ ตลาดชุดชั้นในสามารถแบ่งออกได้ 4 ประเภท ได้แก่ 1.ชุดชั้นในสตรี เป็นชุดชั้นในที่ครองส่วนแบ่งในตลาดมากที่สุด ประกอบด้วยเสื้อชั้นใน และกางเกงใน 2.ชุดชั้นในชาย ประกอบด้วย กางเกงใน ชุดชั้นในสำหรับฤดูหนาว และชุดลำลองสำหรับใส่นอนหรือใส่อยู่บ้านสำหรับผู้ชาย 3.ชุดชั้นในเด็ก หมายถึงชุดชั้นในสำหรับเด็กอายุ 0–16 ปี ประกอบด้วยชุดชั้นในสำหรับฤดูหนาว กางเกงในเด็ก และชุดลำลองสำหรับใส่นอนหรือใส่อยู่บ้านสำหรับเด็ก และ 4.สปอร์ตบรา ซึ่งเป็นตลาดที่เริ่มเข้ามาแข่งขันในตลาดชุดชั้นในมากขึ้น

นางสาวชนิดา อินปา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองชิงต่าว สาธารณรัฐประชาชนจีน กล่าวว่า สำหรับชุดชั้นในสตรี มีการแข่งขันที่รุนแรง แบรนด์ของจีนมีมากกว่า 3,000 แบรนด์ ชุดชั้นในชาย ก็มีแบรนด์จีนหลายแบรนด์ ชุดชั้นในเด็ก มีแนวโน้มเติบโตสูง เพราะผลจากนโยบายลูกคนที่ 2 และสปอร์ตบรา ก็เริ่มเติบโต เพราะคนจีนนิยมออกกำลังกาย ในที่นี้เป็นผู้หญิง 40% จึงมีความต้องการเพิ่มขึ้น แต่เมื่อพิจารณาการแข่งขันในแต่ละประเภท พบว่า ชุดชั้นในสตรี ชุดชั้นในชาย และชุดชั้นในเด็ก มีการกระจุกตัวของบริษัทแบรนด์ค่อนข้างต่ำ จึงมีการแข่งขันสูง แต่สำหรับสปอร์ตบรามีการกระจุกตัวค่อนข้างมาก จึงเป็นเรื่องท้าทายสำหรับผู้ผลิตชุดชั้นในประเภทอื่นที่จะเข้าไปแข่งขันและแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดในกลุ่มชุดชั้นในประเภทสปอร์ตบรา

อย่างไรก็ตาม แม้การแข่งขันในตลาดชุดชั้นในในตลาดจีนจะมีการแข่งขันที่ค่อนข้างสูง แต่ก็ยังมีโอกาสที่ผู้ประกอบการไทยจะพิจารณาขยายตลาดเข้ามาแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาด เนื่องจากยังมีการกระจุกตัวของแบรนด์ที่ยังไม่สูงมากนัก และผลการสำรวจผู้บริโภคกลุ่มตัวอย่างในปี 2020 ของบริษัท iiMedia บริษัทที่ปรึกษาและวิจัยการตลาดชื่อดังของจีน พบว่า ผู้บริโภค 45.4% ยอมรับราคาชุดชั้นในหนึ่งชิ้นที่มีราคาเฉลี่ยระหว่าง 100–200 หยวน หรือประมาณ 470–940 บาท ผู้บริโภค 25.3% ยอมรับราคา 50–100 หยวน หรือประมาณ 235–470 บาท และผู้บริโภค 16.7% ยอมรับราคา 200–300 หยวน หรือประมาณ 940–1,410 บาท ขณะที่ผู้หญิงจะให้ความสำคัญในการเลือกซื้อชุดชั้นในตามขนาดของร่างกาย จึงให้ความสำคัญกับขนาดเป็นอันดับแรก และให้ความสำคัญกับรูปแบบ วัสดุที่ใช้ในการผลิต และความเป็นเอกลักษณ์ของชุดชั้นในเป็นปัจจัยที่รองลงมา

“ผู้ประกอบการไทยที่จะเข้ามาทำตลาดในจีน ต้องศึกษาความต้องการของผู้บริโภคชาวจีนยุคใหม่ พร้อมทั้งพัฒนาชุดชั้นในที่มีเอกลักษณ์ มีคุณสมบัติ และคุณภาพที่เหมาะสมกับสรีระและผิวพรรณของผู้สวมใส่ เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคหนุ่มสาวชาวจีนได้มากที่สุด และควรใช้ช่องทางการค้าออนไลน์ และแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ เป็นช่องทางในการเริ่มต้นเพื่อเจาะตลาดจีน ขณะเดียวกัน ควรร่วมมือกับผู้ที่มีชื่อเสียงในท้องถิ่นทั้ง KOL และ KOC ให้มากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันผู้บริโภคชาวจีนนอกจากจะให้ความสำคัญกับการดูไลฟ์สตรีมมิ่งของบุคคลที่มีชื่อเสียงที่ตนเองชื่นชอบแล้ว ยังสนใจที่จะการอ่านคอมเมนต์ และการรีวิวของผู้ที่มีประสบการณ์ในการใช้งาน หรือผู้ซื้อคนก่อนหน้า เพื่อประกอบการตัดสินใจซื้อด้วย หากผู้ประกอบการสามารถจับจุดเด่นและเข้าถึงความต้องการของผู้บริโภคชาวจีนได้อย่างแท้จริง ก็จะทำให้สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุดชั้นในที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคชาวจีนทุกเพศทุกวัยได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นแน่นอน”นางสาวชนิดากล่าว

Cr.กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP)

แสดงความคิดเห็น