สตาร์ทอัพมือใหม่
สตาร์ทอัพมือใหม่

ข้อควรระวัง! 3 สิ่งที่สตาร์ทอัพมือใหม่ควรหลีกเลี่ยง

3 เรื่องหลักๆ ที่เป็นข้อควรระวังของสตาร์ทอัพระยะเริ่มต้น ที่อาจจะเผชิญเมื่อต้องการจะระดมทุน ซึ่ง Douglas ได้มาชี้ให้เห็นถึงปัญหาต่างๆ หากสตาร์ทอัพตกหลุมพรางเหล่านี้ พร้อมแนะนำแนวทางแก้ไข

Douglas Abrams, Founder and CEO of Expara (บริษัท VC ชั้นนำของอาเซียน และผู้บริหารกองทุน SMEs Private Equity Trust Fund โดยธนาคารออมสิน) รวมถึงนักลงทุนในสตาร์ทอัพระยะเริ่มต้น มักจะกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า สตาร์ทอัพระยะเริ่มต้นที่มีศักยภาพหลายราย ไม่สามารถไปต่อได้ เพราะดันไปพลาดท่ากับข้อตกลงร่วมทุน ที่ทำให้สตาร์ทอัพไม่สามารถไประดมทุนรอบต่อไปได้ ซึ่งหลุมพรางเหล่านี้ Douglas บอกว่ามักจะมีอยู่ 3 ประเด็นหลักๆ ได้แก่

1. การเจรจามูลค่า (Valuation) ที่สูงเกินไป

Douglas ตั้งข้อสังเกตว่า ขณะนี้กำลังเกิดภาวะ Overvaluation ระยะเริ่มต้นของสตาร์ทอัพในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สิ่งที่น่าตกใจคือ สตาร์ทอัพบางรายเปิดข้อเสนอด้วย Valuation ที่สูงกว่า Valuation Range เป็นร้อยเท่า ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว นักลงทุนที่มีประสบการณ์การลงทุนสตาร์ทอัพระยะเริ่มต้น คงไม่มีทางจะพิจารณาข้อตกลงในลักษณะแบบนี้แน่นอน หรือหากว่าสตาร์ทอัพเจอนักลงทุนที่สามารถสนับสนุน Valuation ที่สูงเกินจริง ก็อาจจะมาเจอฝันร้ายเอาในการระดมทุนรอบต่อๆ ไป ที่ต้องระดมทุนต่อ แต่ไม่สามารถสร้างมูลค่าที่สูงกว่ารอบแรก พอมาเจอ Down Round (การระดมทุนในรอบที่มูลค่าของบริษัทต่ำลง หรือราคาหุ้นลดลง เมื่อเทียบจากการระดมทุนรอบก่อนหน้า) ก็อาจจะมีปัญหาต่างๆ ตามมา เช่นไม่สามารถบรรลุข้อตกลงกับ นักลงทุนก่อนหน้านี้ให้รับมูลค่าหุ้นที่ต่ำลงก็อาจจะไปต่อไม่ได้เอง

2. สตาร์ทอัพเสียหุ้นมากเกินไปในการระดมทุนรอบแรก

ลักษณะการระดมทุนสตาร์ทอัพจะต้องแบ่งการระดมทุนเป็นรอบๆ และแต่ละรอบจะต้องระดมทุนให้เพียงพอกับการขยายตัวไปยัง Next Milestones สตาร์ทอัพระยะเริ่มต้นอาจจะพลาดให้หุ้นนักลงทุนสูงเกินไป เช่นร้อยละ 40 หรือ ร้อยละ 50 ซึ่งในกรณีแบบนี้ นักลงทุนรอบต่อไปจะกังวลว่าสตาร์ทอัพจะไม่มีหุ้นเหลือสำหรับการระดมทุนต่อไป และในกรณีที่ผู้ก่อตั้งเหลือหุ้นน้อยมากๆ นักลงทุนจะกังวลว่าผู้ก่อตั้งจะมี Commitment ในการผลักดันธุรกิจต่อไปหรือไม่ Douglas แนะนำว่าในกรณีที่นักลงทุนต้องการถือหุ้นสูง ควรซื้อบริษัทไปทั้งหมด

3. ข้อกำหนดอื่นๆ ที่อาจจะผูกมัดสตาร์ทอัพมากเกินไป

ข้อกำหนดบางรายการ เช่นผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพต้องเซ็นสัญญาค้ำประกันความเสี่ยงในการร่วมทุนถือเป็นข้อกำหนดที่ผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพไม่ควรยอมรับ สตาร์ทอัพระยะเริ่มต้นมีความเสี่ยงสูงมาก และผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพไม่ควรต้องแบกรับความเสี่ยงในการลงทุนทั้งหมดในกรณีที่ธุรกิจล้มเหลว นอกจากนี้ สตาร์ทอัพควรระวังข้อกำหนดที่ทำให้ผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพไม่สามารถขายธุรกิจด้วย Valuations ที่ดีที่สุด เช่นนักลงทุนต้องให้ความยินยอมในการตัดสินใจเรื่องการระดมทุน การให้ Board Seat มากเกินไป หรือการขอ Exclusive Right ใน Technology หรือ IP ซึ่งจริงๆ เป็นการซื้อธุรกิจสตาร์ทอัพแบบแอบแฝงทีเดียว

บทสรุป

จากการสัมภาษณ์คุณ Douglas Abrams ผู้เชี่ยวชาญในแวดวง VC มาเป็นเวลานาน ได้ให้ข้อเตือนใจกับสตาร์ทอัพว่า ควรเพิ่มความละเอียดรอบคอบ ใส่ใจรายละเอียดในการเจรจาข้อตกลง รวมถึงขอคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญเช่นพี่ๆ สตาร์ทอัพที่ผ่านการระดมทุนมาก่อน นักลงทุนที่เป็น Mentor หรือที่ปรึกษาทางกฎหมาย จะได้ไม่พลาดตกหลุมพราง บนเส้นทางการระดมทุนในโลกสตาร์ทอัพ

แหล่งที่มา – set.or.th

แสดงความคิดเห็น