ชาวชิลีบริโภคไอศกรีมสูงที่สุดเป็นอันดับ 1 ในลาตินอเมริกา

El Mercurio หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นชื่อดังในประเทศชิลีได้ตีพิมพ์บทความเกี่ยวกับการบริโภคไอศกรีมของชาวชิลีว่า มีการขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นทุกปี โดยระบุว่าในปี 2017 ชาวชิลีบริโภคไอศกรีมต่อคนที่ 7.7 ลิตรต่อปี หรือประมาณปีละ 45.8 เหรียญสหรัฐฯ ต่อคน ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่สูงเป็นอันดับ 1 ในภูมิภาคลาตินอเมริกา

บทความดังกล่าวระบุว่า ชาวชิลีมิได้นิยมบริโภคไอศกรีมเฉพาะช่วงหน้าร้อนเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่นิยมบริโภคตลอดทั้งปี โดยรับประทานหลังมื้ออาหาร หรือเสิร์ฟกับอาหารหวานชนิดอื่น เช่น วาฟเฟิล แพนเค้ก รวมถึงเสิร์ฟพร้อมกาแฟ จึงถือได้ว่าไอศกรีมเป็นสินค้าที่สามารถจำหน่ายได้ตลอดทั้งปีในประเทศชิลี

จากการสำรวจยังพบว่า ตลาดไอศกรีมของชิลีเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยยอดจำหน่ายไอศกรีมประจำปี 2017 อยู่ที่ประมาณ 925 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และยังคงมีทิศทางขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ “ไอศกรีมพรีเมี่ยม” ที่มีส่วนแบ่งทางการตลาดประมาณ 30% ของตลาดไอศกรีมทั้งหมด โดยปัจจัยหลักมาจากกระแสรักสุขภาพ ที่ผู้บริโภคหันมาให้ความสำคัญในเรื่องของคุณภาพและวัตถุดิบมากขึ้น กอรปกับผู้บริโภคที่ต้องการลิ้มลองรสชาติแปลกใหม่มีจำนวนเพิ่มขึ้น ทำให้ไอศกรีมสมุนไพรและไอศกรีมที่มีรสชาติและส่วนผสมแปลกใหม่เป็นที่ต้องการในตลาดมากขึ้น เช่น รสไวน์ผสมแคนตาลูป, รสอาโวคาโด, รสงาดา, รสขิง ฯลฯ โดยช่องทางการจัดจำหน่ายของไอศกรีมในกลุ่ม Premium นี้ คือ ร้านจำหน่ายไอศกรีม, ร้านอาหาร, โรงแรม และคอฟฟี่ช็อป ขณะที่ช่องทางการจัดจำหน่ายไอศกรีมระดับกลางหรือไอศกรีมตลาดแมส (เช่น วอลล์ เนสท์เล่) คือ ร้านสะดวกซื้อหรือร้านขายของชา, ซูเปอร์มาร์เก็ต , ไฮเปอร์มาร์เก็ต, เดลิเวอร์รี่ ตามลำดับ

บริษัทที่ครองส่วนแบ่งทางการตลาดสูงสุดในชิลี คือ บริษัท Nestle Chile S.A. (41%) รองลงมาคือ Uniliver Chile Foods Ltda. (25%) ซึ่งทั้งสองบริษัทใช้กลยุทธ์โดยการสร้างช่องทางการจัดจำหน่ายและกระจายสินค้าเป็นหลัก โดยปัจจุบันได้หันมาเพิ่มมูลค่าตลาดโดยการผลิตไอศกรีมพรีเมี่ยม เพื่อชิงส่วนแบ่งทางการตลาดในกลุ่มระดับบนเพิ่มขึ้น

บทวิเคราะห์ (ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย)

“ไทย” เป็นฐานการผลิตไอศกรีมที่สำคัญให้กับบริษัทรายใหญ่ คือ Nestle และ Unilever ซึ่งทั้งสองบริษัทใช้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตและส่งออกไอศกรีมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่งผลให้ปัจจุบันอาเซียนเป็นตลาดส่งออกไอศกรีมสำคัญอันดับ 1 ของไทย ด้วยมูลค่าส่งออกคิดเป็น 82% ของมูลค่าส่งออกไอศกรีมทั้งหมดของไทย

นอกจากนี้ ประเทศไทยมีนวัตกรรมทางด้านอาหาร (Innovation) มีเทคโนโลยีการผลิตในระดับสูง โดยเฉพาะมีวัตถุดิบสินค้าเกษตรและสมุนไพรหลากหลายชนิด ที่เป็นปัจจัยสำคัญต่อการผลิต เช่น ผลไม้เมืองร้อน อาทิ มะม่วง มะพร้าว ทุเรียน มังคุด เงาะ รวมทั้งสมุนไพรที่มีคุณสมบัติในการรักษาและบำรุงสุขภาพต่างๆ จึงถือเป็นจุดขายสำคัญสำหรับกลุ่มผู้บริโภคกลุ่ม Premium ที่ให้ความสำคัญกับสุขภาพ (Health Concern) และสอดคล้องกับความต้องการของตลาดไอศกรีมในประเทศชิลีที่กาลังเจริญเติบโตและมีคู่แข่งอยู่ไม่มากนัก จึงถือเป็นโอกาสที่ดีของผู้ประกอบการไทยที่จะเข้ามาเจาะตลาดและยังสามารถใช้ชิลีเป็นประเทศศูนย์กลางในการขยายตลาดต่อไปในภูมิภาคลาตินอเมริกา

ข้อคิดเห็น/เสนอแนะ

1. แม้ว่าการขนส่งจากไทยมายังชิลีต้องใช้เวลาอย่างน้อยประมาณ 1-2 เดือน ประกอบกับค่าขนส่งมีราคาสูงก็ตาม อย่างไรก็ดี การมีวัตถุดิบที่เป็นเอกลักษณ์จะช่วยเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขัน อีกทั้งสร้างความแตกต่างของสินค้าไทยจากสินค้าทั่วไปที่ชิลีมีการนำเข้าจากประเทศอื่นๆได้ ผู้ประกอบการไทยจึงสามารถพิจารณาใช้กลยุทธ์ “Product Differentiation” สร้างมูลค่าเพิ่ม (Value Added) เสริมคุณประโยชน์ (Benefits) รวมถึงยกระดับภาพลักษณ์ (Image) ใหักับสินค้าได้

2. ปัจจุบันร้านจาหน่ายไอศกรีมในลักษณะแฟรนไชส์ในชิลีมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยเป็นแบรนด์ที่มาจากประเทศสหรัฐอเมริกา อาร์เจนตินา และอิตาลี เป็นหลัก จึงเป็นโอกาสที่ดีของผู้ประกอบการแฟรนไชส์/ผู้ผลิตไอศกรีมของไทย โดยเฉพาะไอศกรีมผลไม้ ไอศกรีมทอด ซึ่งถือเป็นของแปลกใหม่สาหรับชาวชิลี ทั้งนี้ผู้สนใจสามารถพิจารณาร่วมมือกับร้านอาหารไทยที่ตั้งอยู่ในประเทศชิลี ในการสร้างช่องทางตลาดและสร้างความแตกต่างในการบริการ “Service Differentiation” ให้ผู้บริโภคได้รับประสบการณ์การเสิร์ฟที่มีเอกลักษณ์ความเป็นไทยได้

3. ตลาดสินค้าเฮ้าส์แบรนด์ของชิลีกาลังเจริญเติบโต ผู้ประกอบการไทยอาจพิจารณาใช้ช่องทางนี้ในการเจาะตลาดโดยเจรจาธุรกิจกับห้างค้าปลีกรายใหญ่ของชิลี เพื่อเสนอเป็นผู้ผลิตไอศกรีมเฮ้าส์แบรนด์ได้เช่นกัน

จาก El Mercurio News
สคต. ณ กรุงซันติอาโก
มีนาคม 2562
ช่วยค้นคว้าและแปลข่าว โดยนาย Nicolás Castillo
นักศึกษาฝึกงานจากมหาวิทยาลัย Universidad del Desarallo
แสดงความคิดเห็น