อุตสาหกรรมยา ฟ้าทะลายโจร
อุตสาหกรรมยา ฟ้าทะลายโจร

ฟ้าทะลายโจร ยกระดับการผลิตสมุนไพรไทย สู่อุตสาหกรรมยา

ฟ้าทะลายโจร ถูกพูดถึงมากขึ้นในช่วงของการระบาดของ COVID-19 ในไทย เนื่องจากเป็นสมุนไพรที่มีสารสำคัญอย่าง แอนโดรกราโฟไลด์ ที่ช่วยเสริมภูมิคุ้มกันไวรัสที่ทำให้เกิดการติดเชื้อทางเดินหายใจได้ ด้วยเหตุนี้ ในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา ฟ้าทะลายโจรจึงเริ่มเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้น ปัจจุบันฟ้าทะลายโจรถูกบรรจุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และถูกส่งเสริมให้ใช้เป็นกลุ่มยาลำดับแรก (First line drug) เพื่อทดแทนยาแผนปัจจุบัน อาทิ Amoxicillin และ Norfloxacin โดยมีข้อบ่งชี้ทางยาคือ แก้ไข้ เจ็บคอ รวมถึงรักษาอาการท้องเสีย

อุตสาหกรรมยา ฟ้าทะลายโจร
อุตสาหกรรมยา ฟ้าทะลายโจร

เมื่อวิเคราะห์ถึงสถานภาพของฟ้าทะลายโจรในไทย จะพบว่า ในปี 2561 ไทยมีเนื้อที่เพาะปลูกฟ้าทะลายโจรประมาณ 138 ไร่ ใน 3 จังหวัดหลัก คือ นครปฐม ราชบุรี และลำปาง ซึ่งให้ผลผลิตราว 188,724 กก./ปี โดยผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในห่วงโซ่การผลิตฟ้าทะลายโจรจะมีอยู่ 3 กลุ่มหลัก คือ ผู้ผลิตขั้นต้น (กลุ่มเกษตรกร) ผู้ผลิตขั้นกลาง (โรงงานแปรรูปสมุนไพร) และผู้ผลิตขั้นปลาย (กลุ่มธุรกิจยาและโรงพยาบาล) โดยผลผลิตส่วนใหญ่ที่ผลิตได้จะถูกแปรรูปและนำมาสกัดเป็นสารตั้งต้นเพื่อนำไปใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ซึ่งหลักๆ ก็คือการผลิตสินค้าในกลุ่มยา เพื่อทดแทนยาแผนปัจจุบัน ดังนั้น การบริโภคส่วนใหญ่จึงอยู่ที่ตลาดในประเทศ โดยหากไล่มูลค่าเพิ่มที่เกิดขึ้นตลอดห่วงโซ่การผลิต จะพบว่า ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 36.8 บาท/กก. แต่หากอยู่ในรูปแบบผงฟ้าทะลายโจรจะอยู่ที่ 300-600 บาท/กก. ในขณะที่สารสกัดจากฟ้าทะลายโจรราคาจะอยู่ที่ 2,500-3,500 บาท/กก. สะท้อนถึงความสำคัญในการแปรรูปและมูลค่าตลาดที่เพิ่มขึ้นกว่า 10-100 เท่า

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า หลังเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ความต้องการฟ้าทะลายโจรที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งจากลูกค้าทั่วไป (B2C) และกลุ่มลูกค้าในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง (B2B) น่าจะผลักดันให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในห่วงโซ่การผลิตขยายกำลังการผลิตฟ้าทะลายโจร อย่างไรก็ดี การผลิตสมุนไพรกลุ่มฟ้าทะลายโจรในไทยยังมีความท้าทายอยู่ไม่น้อย

ประเด็นแรกคือ ผลผลิตในปัจจุบันที่ยังมีไม่มากนัก ซึ่งหากมีความต้องการในตลาดเพิ่มสูงในระยะสั้น ดังเช่นช่วง COVID-19 อาจเกิดความไม่เพียงพอของผลผลิต แม้ว่าในระยะหลังจะมีการส่งเสริมให้สามารถเพาะปลูกได้ทั่วประเทศ

แต่ก็ยังมีความท้าทายประการที่สอง นั่นคือ ความไม่สมํ่าเสมอของผลผลิตและปริมาณสารสำคัญที่ได้จากผลผลิตภายใต้การผลิตแบบระบบเปิด ซึ่งจะขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม โดยเฉพาะสภาพอากาศและพื้นที่เพาะปลูกเป็นสำคัญ ส่งผลให้ปัจจุบันไทยยังไม่สามารถขยายการผลิตได้อย่างรวดเร็วหรือแม้กระทั่งจะขยับไปสู่การส่งออก ดังนั้นภาครัฐจึงสนับสนุนให้มีการปลูกสมุนไพรในโรงงานผลิตพืช (Plant Factory) ที่มีระบบปิดเพื่อให้ได้คุณภาพของสมุนไพรที่สูงและสามารถควบคุมสภาพแวดล้อม ซึ่งจะได้ปริมาณสารสำคัญมากขึ้นและผลผลิตมีความสม่ำเสมอ สามารถป้อนสู่ตลาดอุตสาหกรรมต่อเนื่อง แต่ก็คงไม่ใช่เรื่องง่ายนัก โดยเฉพาะสำหรับกลุ่มเกษตรกรส่วนใหญ่ที่มีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณในการลงทุน เพราะต้นทุนการผลิตเริ่มต้นยังสูงอยู่ที่ราว 3 ล้านบาท ซึ่งหากจะสามารถทำได้คงต้องอาศัยเวลา ทั้งในเรื่องของความพร้อมด้านการลงทุนและองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีการผลิตขั้นสูง นอกจากนี้ หากวิเคราะห์มิติด้านการตลาดของฟ้าทะลายโจร ก็อาจจะต้องแข่งขันกับสินค้าทดแทนอื่นๆ ที่มีสรรพคุณทางยาที่ใกล้เคียงกัน อาทิ ยาพาราเซตามอล เอ็กไคเนเซีย (Echinacea: สมุนไพรท้องถิ่นของสหรัฐฯ/แคนาดา) รวมถึงตำรับยาจีนและตำรับยาไทยบางกลุ่ม

และต่อยอดการแปรรูปสมุนไพรไปสู่อุตสาหกรรมต่อเนื่องเป้าหมายตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) ซึ่งทุกฝ่ายคงต้องร่วมกันสนับสนุนอย่างจริงจัง อนึ่ง หากในอีก 3 ปีข้างหน้า ภายใต้เงื่อนไขผลผลิตฟ้าทะลายโจรระบบเปิดสามารถเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 5 และมีโรงงานผลิตพืชเพื่อใช้ในการผลิตฟ้าทะลายโจรเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 5 แห่ง ประเมินว่าจะสามารถทำให้ผลผลิตฟ้าทะลายโจรทั้งระบบเพิ่มขึ้นราว 17-22% จากผลผลิตในปัจจุบัน เป็น 220,800-230,200 กก./ปี โดยผลผลิตที่ได้จากโรงงานผลิตพืชที่มีปริมาณสารสำคัญมากขึ้น น่าจะสามารถจำหน่ายได้ในราคาที่สูงขึ้นราว 1.5-2.0 เท่า

ข้อมูลจาก : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

แสดงความคิดเห็น