บรรจุภัณฑ์ที่ใส่ใจต่อสุขอนามัย
บรรจุภัณฑ์ที่ใส่ใจต่อสุขอนามัย

บรรจุภัณฑ์ที่ใส่ใจต่อสุขอนามัย โอกาสเพิ่มมูลค่าสินค้า

ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 ที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อในประเทศพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์เป็นหนึ่งในธุรกิจที่สามารถเติบโตสวนทางกับเศรษฐกิจ โดยได้รับอานิสงส์จากยอดสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ของธุรกิจ e-commerce และธุรกิจส่งอาหารที่ขยายตัวอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงที่มีการล็อกดาวน์ ปิดห้างสรรพสินค้า ห้ามการนั่งรับประทานในร้านอาหาร ทั้งนี้จากข้อมูลของ Packaging Intelligence Unit กระทรวงอุตสาหกรรม ปริมาณการจำหน่ายบรรจุภัณฑ์ทั้งหมดในประเทศสามารถขยายตัวได้ราว 3%YOY ในปี 2020 แม้ว่าเป็นปีที่เศรษฐกิจไทยมี GDP หดตัว -6.1% จากโควิด-19 ที่เริ่มมีการแพร่ระบาด และข้อมูลล่าสุดในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2021 ปริมาณการจำหน่ายบรรจุภัณฑ์ในประเทศเติบโตถึงกว่า 12%YOY มาอยู่ที่ 2.5 ล้านตัน

อย่างไรก็ดี การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้พฤติกรรมของผู้บริโภคทั่วโลกได้เปลี่ยนแปลงไป โดยผู้บริโภคได้หันมาให้ความสำคัญกับสุขภาพ และตระหนักถึงสุขอนามัยมากยิ่งขึ้น ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวจะเป็นเมกะเทรนด์ที่จะเปลี่ยนโฉมรูปแบบของบรรจุภัณฑ์ในโลกยุคโควิด และโลกหลังโควิดต่อไปในอนาคต นอกจากบรรจุภัณฑ์จะช่วยรักษาคุณภาพและยืดอายุการเก็บรักษาของสินค้าภายในแล้ว ผู้บริโภคยังต้องการความมั่นใจว่าสินค้าในบรรจุภัณฑ์มีความสะอาด ปลอดภัย ถูกสุขลักษณะ ไม่มีการจับต้องจากมือผู้อื่นอีกด้วย

ในอดีต ตามซุปเปอร์มาร์เก็ต ตลาดสด วางขายผักผลไม้ให้ลูกค้าเลือกหยิบจับได้ตามใจชอบ ไม่มีการแพ็กใส่ถุงหรือกล่องแต่อย่างใด ปัจจุบันสินค้าต่าง ๆ ควรต้องถูกแพ็กลงในบรรจุภัณฑ์ให้เรียบร้อยเพื่อลดความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนของเชื้อโรค ดังนั้น บรรจุภัณฑ์ที่ใส่ใจต่อสุขอนามัย (Hygienic packaging) จะมีบทบาทสำคัญมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นโอกาสทางธุรกิจของผู้ประกอบการบรรจุภัณฑ์และแบรนด์สินค้าในการเพิ่มมูลค่าสินค้า ทั้งนี้ Transparency Market Research (ตีพิมพ์เดือนมกราคม 2021) คาดการณ์ว่าตลาด Hygienic packaging จะเติบโต 6% ต่อปี ระหว่างปี 2020-2028 ปัจจุบัน Hygienic packaging ได้มีการพัฒนา 2 ด้าน คือ 1) วัสดุที่นำมาใช้ผลิตบรรจุภัณฑ์ และ 2) การออกแบบบรรจุภัณฑ์ เพื่อตอบโจทย์เทรนด์รักสุขภาพ

ในด้านวัสดุ องค์การอนามัยโลกรายงานว่าโคโรน่าไวรัสสามารถอยู่บนพื้นผิวได้หลายชั่วโมงจนถึงหลายวันขึ้นอยู่กับสภาพพื้นผิว เช่น อะลูมิเนียมอยู่ได้ 2-8 ชั่วโมง พลาสติกและกระดาษอยู่ได้ 4-5 วัน ในขณะที่ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐฯ ชี้ว่า 80% ของเชื้อโรคที่ก่อให้เกิดอาการเจ็บป่วยนั้นติดมาจากการสัมผัสพื้นผิวต่าง ๆ ทั้งนี้บรรจุภัณฑ์ เช่น กล่องสินค้า กล่องใส่อาหาร ถุงพลาสติก เป็นสิ่งที่ถูกหยิบจับ เปลี่ยนมือ ตั้งแต่กระบวนการแพ็กไปจนถึงขั้นตอนการขนส่งสินค้าให้ถึงมือผู้บริโภค ในธุรกิจส่งอาหารผ่านแอปพลิเคชัน อาหารถูกขนส่งโดย rider ยิ่งถ้าเป็นสินค้า e-commerce อาจต้องส่งไปพักตามศูนย์กระจายสินค้าและมีการจัดส่งหลายต่อ กว่าจะถึงมือผู้บริโภคต้องผ่านผู้รับ-ส่งสินค้าไม่มากก็น้อย

จากวิกฤตโควิด-19 จึงได้มีการพัฒนานวัตกรรมสารเคลือบผิวบนบรรจุภัณฑ์เพื่อยับยั้งการเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ (Antimicrobial coating) ซึ่งใช้เทคโนโลยี Silver ions ยับยั้งการเติบโตของเชื้อไวรัส และแบคทีเรีย ได้ถึง 99.9% สามารถนำมาเคลือบบนบรรจุภัณฑ์ได้ในทุกวัสดุพื้นผิว เช่น กระดาษ แก้ว พลาสติก โลหะ ผืนผ้า ซึ่งสารเคลือบนี้จะคงอยู่ตลอดอายุการใช้งานของบรรจุภัณฑ์ ปัจจุบันได้รับการรับรองมาตรฐานจากองค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ นำมาใช้เป็นบรรจุภัณฑ์อาหาร สินค้าเพื่อสุขภาพ ฯลฯ

ในด้านการออกแบบ Hygienic packaging ถูกออกแบบให้ป้องกันการเปิด งัดแงะ หรือช่วยให้ผู้บริโภคทราบว่าบรรจุภัณฑ์นี้ถูกเปิดออกแล้ว ซึ่งแต่เดิมบรรจุภัณฑ์ลักษณะนี้ใช้ในอุตสาหกรรมยา และอาหารเสริมเป็นหลัก โดยมีแผ่นพลาสติกซีลปิดตรงปากขวดยา สำหรับสินค้าอื่น ๆ จะอยู่ในรูปของสติ๊กเกอร์ สก็อตเทป หรือฉลากที่แปะอยู่ตรงปากถุงหรือกล่อง สามารถบอกได้ว่ากล่องได้ถูกเปิดแล้วหากสติ๊กเกอร์ถูกฉีกออก ปัจจุบันได้มีการพัฒนาออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้ปิดผนึกแน่นหนา แต่สะดวกและง่ายต่อการเปิด สามารถป้องกันการสัมผัสตัวสินค้าจากผู้อื่น

ตัวอย่างบริษัท InnoPak ผู้ออกแบบและผลิตบรรจุภัณฑ์ของสหรัฐฯ ได้พัฒนา Handle Cuffs tamper-evident bag seals ซึ่งเป็นถุงกระดาษหูหิ้วที่มีแถบกระดาษแข็งปิดผนึกที่ปากถุงทั้งหมด หากต้องการเปิดถุงต้องฉีกแถบกระดาษออกก่อน ออกแบบเพื่อใช้ในซุปเปอร์มาร์เก็ตแผนกของสด สลัดบาร์ แผนกขายอาหารปรุงสุกพร้อมทาน และขยายไปยังผู้ประกอบการร้านอาหาร ธุรกิจส่งอาหารผ่านแอปฯ สำหรับการสั่งซื้ออาหารทางออนไลน์ ที่ลูกค้า หรือ rider สามารถมารับถุงถือออกจากร้านได้ทันที ทั้งนี้ InnoPak เชื่อว่าความต้องการบรรจุภัณฑ์ป้องกันการเปิดจะขยายตัวสูงขึ้นแม้ว่าสถานการณ์โควิดจะคลี่คลายแล้วก็ตาม

เช่นเดียวกับบรรจุภัณฑ์ในธุรกิจความงาม หลายแบรนด์ปรับเปลี่ยนกระปุกครีมมาเป็นขวดแบบกดเพื่อหลีกเลี่ยงการใช้นิ้วจิ้มลงไปในสินค้า นอกจากนี้ สินค้าทดลอง (tester) ที่ช่วยเพิ่มยอดขายให้กับแบรนด์ เดิมจะถูกวางไว้ที่หน้าเคาน์เตอร์ให้ลูกค้าทุกคนสามารถแตะเนื้อครีม ลองสีลิปสติกได้ตามใจชอบ ปัจจุบันการเปิด tester วางให้ทดลองใช้โดยทั่วไปไม่สามารถทำได้ด้วยเหตุผลด้านสุขลักษณะ จึงจำเป็นต้องออกแบบบรรจุภัณฑ์สำหรับ tester ซึ่งมีลักษณะปิดผนึก มีขนาดเล็ก ไว้สำหรับทดลองใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง

ดังเช่นบรรจุภัณฑ์ BeautiSeal สำหรับสินค้าเนื้อครีม หรือเนื้อแป้ง และ LiquaTouch สำหรับสินค้าที่อยู่ในรูปของเหลวอย่างน้ำหอม โดยบรรจุภัณฑ์ดังกล่าวมีลักษณะบางขนาดเท่าเครดิตการ์ด สามารถลอกแผ่นที่ปิดผนึกด้านบนออกเพื่อทดลองใช้ผลิตภัณฑ์ความงามที่มีปริมาณราว 2 มิลลิลิตรบรรจุอยู่ภายใน นอกจากให้ใช้ทดลองที่หน้าร้านแล้ว แบรนด์ยังสามารถส่งแผ่น tester ดังกล่าวไปตามบ้านลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย หรือแถมไปให้ในกล่องของลูกค้า e-commerce ได้ด้วย

อย่างไรก็ตาม นอกจากบรรจุภัณฑ์จะตอบโจทย์เรื่องสุขลักษณะแล้ว ควรต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อสนับสนุนความยั่งยืนควบคู่กันด้วย เช่น บริษัทโคคา-โคล่า ออกบรรจุภัณฑ์ KeelClip topper สำหรับโค้กกระป๋องแบบ multi-pack (4-8 กระป๋องต่อ 1 แพ็ก) โดยเพิ่มแผ่นกระดาษแข็งปิดทับบนฝาโค้กกระป๋อง วางขายทั่วยุโรปภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งนอกจากจะช่วยป้องกันสิ่งสกปรกบนฝากระป๋องแล้ว ยังใช้ทดแทนพลาสติกที่หุ้มแพ็กโค้กกระป๋องเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม

เช่นเดียวกับบริษัท Waddington Europe ผู้ผลิตบรรรจุภัณฑ์รายใหญ่ของยุโรป ออก TamperVisible Hot Fill ซึ่งเป็นบรรจุภัณฑ์แบบใสป้องกันการเปิด ทำจากพลาสติกรีไซเคิล (rPET) ทนความร้อนได้ถึง 85 องศาเซลเซียส สามารถใส่อาหารร้อนปรุงสุกใหม่ เช่น ซุป ก๋วยเตี๋ยว ตรงมุมฝาเปิดใช้ระบบ snap ถ้าหากฝาถูกเปิดแล้วมุมของบรรจุภัณฑ์จะหักออกทันที ลูกค้าจึงสบายใจได้ว่าอาหารไม่ถูกปนเปื้อน

ถึงแม้ว่าในอนาคตวิกฤตโควิด-19 จะผ่านพ้นไป ความต้องการใช้ Hygienic packaging มีแนวโน้มเติบโตตามเทรนด์รักสุขภาพ ผู้คนจะยังคงตระหนักถึงความปลอดภัยและสุขอนามัยตามวิถีชีวิตแบบ new normal จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการในธุรกิจบรรจุภัณฑ์ในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีวัสดุที่นำมาใช้ผลิตบรรจุภัณฑ์ สร้างนวัตกรรม ออกแบบบรรจุภัณฑ์ตอบโจทย์ด้านสุขอนามัยให้ตรงตามความต้องการของลูกค้าเพื่อเพิ่มความสามารถทางการแข่งขัน เช่นเดียวกับเจ้าของแบรนด์สินค้าสามารถสร้างความประทับใจ ความมั่นใจให้กับผู้บริโภค และเป็นการเพิ่มมูลค่าให้สินค้าได้ด้วยบรรจุภัณฑ์ที่ใส่ใจต่อสุขอนามัย

ข้อมูลจาก EIC SCB

แสดงความคิดเห็น