“ผู้นำรุ่นใหม่” บริหารธุรกิจครอบครัวอย่างไรให้ประสบความสำเร็จ

ธุรกิจครอบครัว

ธุรกิจครอบครัว

หลายคนคงพอจะทราบดีว่า ผู้นำธุรกิจครอบครัวรุ่นใหม่กำลังเผชิญกับความท้าทายในการเข้ามารับช่วงกิจการต่อจากผู้นำรุ่นปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นมุมมองทางธุรกิจที่แตกต่างกันระหว่างคนสองวัย ความไว้เนื้อเชื่อใจของผู้นำรุ่นปัจจุบันที่มีต่อผู้นำรุ่นใหม่ หรือ แม้กระทั่งการเสริมสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ต้องปรับเปลี่ยนให้ทันและเหมาะสมในแต่ละยุคแต่ละสมัย และอื่นๆ อีกมาก แต่ใช่ว่า ทางออกของอุปสรรคเหล่านี้จะมืดมน เพราะยังมีทายาทรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยที่ประสบความสำเร็จ หลังจากเข้ามารับไม้ต่อในการบริหารธุรกิจจากผู้นำรุ่นก่อน

1. เสริมทัพกิจการครอบครัวด้วยดิจิทัล (Digitisation) 

กระแสของการนำดิจิทัลมาใช้เป็นกลยุทธ์ทางธุรกิจภายใต้การบริหารของผู้นำ “ธุรกิจครอบครัวรุ่นใหม่” เริ่มมีให้เห็นมากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะผู้บริหารรุ่นนี้เติบโตมากับเทคโนโลยีและมีความคุ้นเคยกับการใช้ดิจิทัลเป็นอย่างดี จึงเห็นความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีมาใช้กับ “ธุรกิจครอบครัว” ของตนเองมากเป็นพิเศษ นอกจากนี้ ในปัจจุบันผู้บริหารธุรกิจครอบครัวรุ่นใหม่ยังเน้นการทำตลาดผ่านช่องทางออนไลน์ เพื่อบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้า และทำให้สินค้าและบริการเป็นที่รู้จักในวงกว้าง อีกทั้งให้ความสำคัญกับการนำโซเชียลมีเดียต่างๆ เข้ามาใช้ในองค์กรด้วย

แต่อย่างไรก็ตาม ช่องว่างระหว่างวัยและความแตกต่างทางความคิด ยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญในการนำสิ่งเหล่านี้เข้ามาประยุกต์ใช้กับธุรกิจครอบครัว ซึ่ง 36% ของผู้นำรุ่นใหม่ที่ถูกสำรวจ ยังคงรู้สึกอึดอัดที่ผู้นำรุ่นพ่อ-แม่ไม่เข้าใจถึงศักยภาพของเทคโนโลยีดิจิทัลและความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น หากกิจการของพวกเขายังคงล้าหลัง

2.สร้างนวัตกรรมที่แตกต่าง (Innovation) 

นวัตกรรม ถือเป็นหนึ่งความท้าทายสำคัญของธุรกิจครอบครัว เพราะสำหรับคนรุ่นใหม่แล้ว นวัตกรรมเปรียบเสมือนอาวุธหลักในการสร้างกลยุทธ์ทางธุรกิจให้เกิดความแตกต่างและสร้างผลกำไรให้กับกิจการในระยะยาว ความตื่นตัวเรื่องนวัตกรรมอีกทั้งความกล้าที่จะเสี่ยงในการลงทุนและพัฒนานวัตกรรมจึงเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้ธุรกิจครอบครัวอยู่รอดและมีความได้เปรียบเหนือคู่แข่งรายอื่นๆ รายงานของ PwC ระบุว่า ผู้นำรุ่นใหม่ถึง 82% เชื่อว่า นวัตกรรมเป็นสิ่งที่จำเป็นมากต่อการดำเนินธุรกิจครอบครัว โดยยังพบว่า 56% ของคนรุ่นใหม่จะมีบทบาทสำคัญในการผลักดันและพัฒนานวัตกรรมให้กับกิจการของครอบครัว ยกตัวอย่าง เช่น การมีแนวคิดแบบสตาร์ทอัพจะยิ่งช่วยให้ครอบครัวของพวกเขาสามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ที่แตกต่างได้อย่างรวดเร็ว แต่ทายาทธุรกิจจำเป็นที่จะต้องสื่อสารกับรุ่นพ่อ-แม่ถึงความสำคัญของเรื่องดังกล่าวด้วย โดยต้องมีความสามารถในการโน้มน้าวและอธิบายถึงจุดแข็งของนวัตกรรมที่จะมาเสริมกับธุรกิจภายใต้ข้อจำกัดต่างๆ ที่มีอยู่ให้ได้

3.บริหารกิจการครอบครัวอย่าง “มืออาชีพ” (Professionalism) 

เป็นที่น่าสนใจว่า ทายาทรุ่นใหม่ที่ประสบความสำเร็จจำนวนไม่น้อยเชื่อว่า การจ้าง “มืออาชีพ” หรือ “คนนอกครอบครัว” ที่มีความสามารถและมีศักยภาพในด้านการบริหารเข้ามาช่วยจัดการธุรกิจครอบครัว จะส่งผลให้กิจการเติบโตมากกว่าการลงมือบริหารเอง เพราะบุคคลเหล่านี้จะบริหารจัดการธุรกิจให้เป็นไปตามกลยุทธ์และตรงกับเป้าประสงค์ขององค์กร โดยไม่มีเรื่องของ “ความเป็นเจ้าของ” เข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งนำไปสู่การดำเนินธุรกิจอย่างมืออาชีพ อีกทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสให้พนักงานในองค์กรที่มีความสามารถได้เติบโตไปเป็นผู้บริหารในสายงานของตนเองได้อีกด้วย

4.กระจายความเสี่ยงและสร้างความหลากหลายให้กับธุรกิจ (Diversification) 

สำหรับทายาทกิจการรุ่นใหม่หลายรายที่ประสบความสำเร็จนั้น พวกเขาเชื่อว่า การทำอะไรเดิมๆ เป็นสิ่งที่น่าเบื่อ ดังนั้น การพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือรูปแบบทางธุรกิจ รวมไปถึงการขยายตลาดใหม่ๆ เพื่อเติบโตและกระจายความเสี่ยง จึงเป็นสิ่งที่พวกเขาให้ความสำคัญไม่แพ้กับการสร้างผลกำไรให้กับกิจการ นอกจากนี้ การหาประสบการณ์จากโลกภายนอก ยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทายาทรุ่นใหม่แสวงหาเพื่อให้เกิดการพัฒนาตนเองและยังเป็นการเปิดโอกาสให้ตนได้เรียนรู้เรื่องของธุรกิจจากองค์กรอื่น และสามารถนำบทเรียนที่ได้กลับมาปรับใช้กับตัวธุรกิจของตนให้เกิดประโยชน์สูงสุด

5.คำนึงถึงสังคมส่วนรวม (Social Responsibility)

รายงานฉบับนี้ยังได้ระบุว่า ทายาทธุรกิจครอบครัวรุ่นใหม่ที่ประสบความสำเร็จล้วนแล้วแต่เป็นกลุ่มคนที่มีความคิดเป็นของตัวเอง มีความทะเยอทะยานในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ให้กับธุรกิจครอบครัวของตน โดยไม่ได้มุ่งหวังแค่ผลกำไรเพียงอย่างเดียว แต่มีเป้าหมายในการสร้างสิ่งที่ดีกลับคืนสู่สังคม นอกจากนี้ มุมมองในเรื่องของการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมของผู้นำรุ่นใหม่ ยังแตกต่างจากผู้นำรุ่นพ่อ-แม่ ยกตัวอย่าง เช่น คนรุ่นเก่าจะเน้นไปที่การบริจาคเงิน หรือสิ่งของทั่วไป แต่สำหรับคนรุ่นใหม่จะไม่ทำกิจกรรมเพื่อสังคมเพียงแค่ครั้งคราว แต่พวกเขาบรรจุมันให้เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับองค์กร ผ่านแนวคิดที่ว่า การให้อะไรแก่สังคมนั้น ธุรกิจต้องมีเป้าหมายที่เหมาะสม ยั่งยืน และเห็นผลชัดเจน

จะเห็นได้ว่าทายาทธุรกิจครอบครัวรุ่นใหม่ที่ประสบความสำเร็จล้วนมีเป้าหมายในการทำธุรกิจที่ชัดเจน แต่หากพิจารณาให้ดีจะพบว่า แนวคิดของผู้นำรุ่นใหม่หลายๆ เรื่องนั้นแตกต่างจากผู้นำรุ่นปัจจุบันอยู่พอสมควร ดังนั้น “การสื่อสาร” เพื่อสร้างความเข้าใจและการยอมรับ จะเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้ผู้นำรุ่นใหม่ประสบความสำเร็จในการก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำธุรกิจครอบครัว โดยผู้นำรุ่นปัจจุบันที่เตรียมจะส่งไม้ต่อ ก็ต้อง “เปิดใจ” รับฟังและเห็นแก่ประโยชน์ขององค์กรในระยะยาว เพื่อให้ธุรกิจสามารถก้าวผ่านการเปลี่ยนแปลงในโลกยุคดิจิทัล เพราะหากไม่เตรียมพร้อมรับมือและปรับตัวให้เข้ากับกระแสฯ ตั้งแต่วันนี้ ไม่แน่ว่ากิจการครอบครัวที่บรรพบุรุษช่วยกันสร้างมาตั้งแต่รุ่นแรก อาจตกอยู่บนความเสี่ยงที่รอวันปะทุจนยากต่อการแก้ไขก็เป็นได้

ขอขอบคุณข้อมูลจาก PWC Thailand

แสดงความคิดเห็น