อาชีพเสริมยุคใหม่-ทำอะไรดี
อาชีพเสริมยุคใหม่-ทำอะไรดี

เผย! ผลสำรวจอาชีพเสริมยุคใหม่ ทำอะไรดี?

ในยุค Digital Disruption เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทุกแวดวงทั้งภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจ การศึกษา การเงินการธนาคาร และอื่นๆ รวมถึงกลุ่มแรงงานที่ต้องมีการปรับตัว ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีอาชีพใหม่ๆ เกิดขึ้นที่เป็นรูปแบบงานระยะสั้น หรือ กิ๊ก (GIG) ซึ่งสามารถสร้างรายได้เสริมพิเศษนอกเหนือจากงานประจำได้ไม่ยาก โดยแมนพาวเวอร์กรุ๊ปได้ทำการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง 1,567 คน โดยให้ทำแบบสอบถามเกี่ยวกับงานระยะสั้น ซึ่งจากการตอบแบบสอบถามดังกล่าว ทำให้เห็นว่ามีกลุ่มอาชีพที่น่าจับตาและมีการแข่งขันสูง โดยจะเห็นได้จากแนวโน้มการใช้โซเชียลมีเดียต่างๆ ทั้ง Instagram และ Facebook จากการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุคดิจิทัล การเปิดร้านค้าขายสินค้าออนไลน์มีการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างมีถึง 30.77 เปอร์เซ็นต์ที่ต้องการทำอาชีพนี้เป็นอาชีพเสริม และบางกลุ่มก็เปลี่ยนเป็นอาชีพหลักที่สร้างรายได้ดีทีเดียว

นอกจากนี้ กลุ่มอาชีพที่เป็นแอดมินดูแลเพจร้านค้า เว็บไซต์ และร้านค้าออนไลน์ มีถึง 10.26 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเท่ากันกับอาชีพพนักงานขายมี 10.26 เปอร์เซ็นต์ ทางด้านบล็อกเกอร์ และงานทางด้านการคีย์ข้อมูล พิมพ์งานก็มีสัดส่วนติดท็อป 5 อยู่ที่ 7.69 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งอาจเป็นเพราะกลุ่มงานดังกล่าวไม่ต้องเดินทางสามารถทำงานที่ไหนก็ได้จึงเป็นกลุ่มงานที่สร้างรายได้เสริมได้ดีในปัจจุบัน

ทางด้านกลุ่มงานที่ต้องใช้ทักษะเฉพาะทางอย่างอาชีพหมอดู ก็เป็นอีกหนึ่งอาชีพที่ได้รับความนิยมและมีหลายศาสตร์ให้เลือกนำมาเป็นแนวทางการดำเนินชีวิต ถึง 5.13 เปอร์เซ็นต์ ทางด้านงานออกแบบและตกแต่งภายในมีสัดส่วนอยู่ในระดับเดียวกับหมอดูคือ 5.13 เปอร์เซ็นต์ ส่วนกลุ่มงานที่เป็นการใช้ทักษะต่างๆ เช่น งานด้านภาษา งานแปล งานเขียนบทความ คำบรรยายในภาพยนตร์ (Subtitle) งานพิสูจน์อักษร รวมถึงงานที่เกี่ยวกับที่ปรึกษาด้านกฎหมาย งานออกแบบ Line Sticker เน็ตไอดอลและกลุ่มช่างแต่งหน้า ก็มีสัดส่วนอยู่ที่ 2.56 เปอร์เซ็นต์

ทั้งนี้ จากผลการสำรวจเป็นการสะท้อนให้เห็นว่าการทำงานในแบบใหม่ของแรงงานยุคปัจจุบันที่สามารถมีได้หลายหลายอาชีพ หลากหลายประเภทงาน ไม่ว่าจะเป็นงานนอกเวลา งานด่วน งานจ้างตามสัญญา งานชั่วคราว งานอิสระ งานรับเหมา งานออนไลน์และการทำงานบนแพลตฟอร์มต่างๆ ที่เทรนด์การทำงานลักษณะแบบนี้ได้เข้ามามีบทบาท ในการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการจ้างงาน รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างและลูกจ้างด้วย องค์กรจึงต้องปรับตัวทั้งโครงสร้างและรูปแบบการจ้างงานให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น โดยมีทั้งแรงงานประจำ มีการใช้ Outsource การจ้างงานแบบชั่วคราวและสัญญาจ้างในระยะเวลาต่างๆ ซึ่งทิศทางจะเริ่มมีการสอดรับกันมากขึ้น และถือเป็นทิศทางที่ดี แรงงานที่มีทักษะการทำงานเฉพาะด้านจะเป็นที่ต้องการมากขึ้น ดังนั้น

ภาคแรงงานจึงต้องปรับตัวด้วย 5 ทักษะดังนี้

1. มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางที่หลากหลาย
2. มีวินัยและความรับผิดชอบสูง
3. การบริหารจัดการชีวิต
4. มีความยืดหยุ่นรับมือความหลากหลาย
5. เรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต

แหล่งที่มา – แมนพาวเวอร์กรุ๊ป

แสดงความคิดเห็น