Google เผย 3 หมวดหมู่พฤติกรรม “New Normal” ของคนไทย

เมื่อสภาพแวดล้อม และวิถีชีวิตของคนเปลี่ยนไป การดำเนินธุรกิจย่อมต้องเปลี่ยนตามไปด้วย หนึ่งในสิ่งที่หลายฝ่ายเฝ้าจับตามองก็คือเรื่องของ “New Normal” ที่จะเกิดขึ้นหลังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้ชีวิตของผู้คนในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา

จากการวิเคราะห์ข้อมูลบน Google Trends ที่เป็นสัญญาณสะท้อนพฤติกรรมต่างๆ ของผู้บริโภคเราได้พบรูปแบบพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงอย่างน่าสนใจต่อไปนี้

“New Normal” 3 รูปแบบ เมื่อวิเคราะห์จากข้อมูลต่างๆ แล้ว เราสามารถสรุปรูปแบบพฤติกรรม New Normal ที่เกิดขึ้นออกมาได้เป็น 3 รูปแบบ ได้แก่

1) พฤติกรรมแบบ “เริ่มแล้วเลิก”
การเกิดขึ้นของสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนทำให้ผู้บริโภครู้สึกตื่นตัวที่จะค้นหาสินค้าเพื่อปกป้องตัวเอง และครอบครัวจากเชื้อไวรัส รวมถึงเตรียมรับมือกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากความไม่แน่นอน เช่น

ค้นหาการป้องกันและดูแลสุขภาพมากขึ้น

สิ่งหนึ่งที่เราเห็นจากเทรนด์การค้นหาข้อมูลของผู้บริโภคก็คือการค้นหาเกี่ยวกับการป้องกันและดูแลสุขภาพต่างๆ ที่ดีดตัวเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นหน้ากากอนามัย เจลล้างมือ หรือแอลกอฮอล์ทำความสะอาดต่างๆ

ดูแลตัวเองช่วงอยู่บ้าน

นอกจากนี้แล้ว สินค้าที่ตอบสนองความต้องการพื้นฐานในการใช้ชีวิต และดูแลตัวเองอยู่ที่บ้าน เช่น กรรไกรตัดผม แบตเตอเลี่ยน และการตัดผมด้วยตัวเองก็เป็นอีกกลุ่มสินค้าที่มีการค้นหาเพิ่มขึ้นในลักษณะแบบเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม พฤติกรรม New Normal ในรูปแบบเหล่านี้อาจมีแนวโน้มที่จะกลับสู่รูปแบบปกติหลังจากที่มีการผ่อนปรนมาตรการควบคุมต่างๆ ทั้งนี้ เมื่อวิเคราะห์จากรูปแบบพฤติกรรมที่สะท้อนจากการค้นหาข้อมูลต่างๆจาก Google Trends แล้วนั้น เราก็พอจะเห็นได้ว่ามีกลุ่มพฤติกรรมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดหลังจากเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสประกอบกับการออกมาตรการควบคุม แต่พฤติกรรมเหล่านี้ก็เริ่มปรับทั้งในแง่ลดลงและฟื้นกลับมาเข้าใกล้ภาวะก่อนหน้าจะเกิดสถานการณ์ COVID-19

2) พฤติกรรมที่ผู้บริโภค “เริ่มแล้วทำต่อไป”
สภาพแวดล้อมและรูปแบบการใช้ชีวิตในสถานการณ์ COVID-19 นั้นทำให้ผู้บริโภคหลายกลุ่มเริ่มปรับตัว และแสดงพฤติกรรมใหม่ๆที่ไม่เคยทำมาก่อน เช่น

คอนเท้นต์เพื่อการพัฒนาทักษะจากที่บ้าน

ในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคมการค้นหาเกี่ยวกับ “การเรียน” บน YouTube เพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่าเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ในขณะที่การค้นหา “เรียนออนไลน์ ได้เกียรติบัตร” และ ”คอร์ส ออนไลน์” เพิ่มขึ้น 25 เท่า และ 4 เท่าตามลำดับ

ความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปก็ทำให้เหล่าผู้ผลิตคอนเทนต์ปรับตัวตามไปด้วย คำค้นเรื่องการสอนออนไลน์สูงขึ้นกว่า 7 เท่าเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อนหน้า และการอัปโหลดคอนเท้นต์วิดีโอที่มีคำว่า “อยู่บ้าน” อยู่ในชื่อวิดีโอก็เพิ่มสูงขึ้นกว่า 500% ทั่วโลก

การซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่เน้นความสะดวก

ข้อจำกัดด้านการเดินทางทำให้เหล่าผู้บริโภคต้องมองหาตัวเลือกที่ช่วยให้พวกเขาอยู่บ้านได้อย่างสะดวกสบายยิ่งขึ้น ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา การค้นหาร้านขายสินค้าอุปโภคบริโภคออนไลน์เพิ่มขึ้นถึง 6 เท่า อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมนี้เป็นพฤติกรรมที่เห็นได้ชัดในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ในจังหวัดอื่นๆ ไฮเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อกลับเป็นช่องทางที่ผู้บริโภคเลือกไปจับจ่ายในช่วงกักตัว โดยการค้นหาไฮเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อเพิ่มขึ้นแตะจุดสูงที่สุด

ความน่าสนใจของพฤติกรรมในรูปแบบนี้คือเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและยังคงระดับไว้ซึ่งสะท้อนว่าผู้บริโภคได้รับพฤติกรรมเหล่านี้ให้กลายเป็นพฤติกรรมปกติของพวกเขาไปแล้ว

3) พฤติกรรมที่ผู้บริโภค “กระแสรองเป็นกระแสหลัก”
สถานการณ์ที่สร้างข้อจำกัดต่างๆให้กับผู้บริโภคนั้น กลายเป็นปัจจัยที่เร่งทำให้พฤติกรรมบางอย่างที่ถูกกลุ่มคนบางกลุ่มรีบไปใช้แล้วถูกนำไปปรับใช้ในวงกว้างอย่างรวดเร็วมากขึ้น วิถีชีวิตแบบออนไลน์ กลายเป็นวิถีชีวิตที่ผู้คนต่างก็ปรับตัวเข้าหา เช่น

ช้อปปิ้งผ่านช่องทางออนไลน์

ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาความจำเป็นต้องทานอาหารที่บ้านทำให้การค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับบริการส่งอาหารนั้นสูงเพิ่มขึ้น 4 เท่า การค้นหาเมนูอาหารเพิ่มขึ้น 2 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงเวลาก่อนเหตุการณ์​ COVID-19

ในขณะเดียวกันความจำเป็นที่ต้องใช้เวลาอยู่ที่บ้านก็ขับเคลื่อนให้ผู้บริโภคพยายามแสวงหากิจกรรมเพื่อความบรรเทิง และงานอดิเรกใหม่ๆทำเมื่ออยู่บ้านทำให้การค้นหาอุปกรณ์ทำอาหาร อิเล็กทรอนิกส์ และของตกแต่งบ้านเพิ่มขึ้น สิ่งที่น่าสนใจคือเหล่าผู้บริโภคไม่ได้มองหาสินค้าเหล่านี้แค่จากแพลตฟอร์ม e-commerce เท่านั้น แต่ยังค้นหาไปที่เว็บไซต์ของร้านค้าและตัวแทนจำหน่ายโดยตรง โดยการค้นหาแบรนด์ผู้จัดจำหน่ายสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และตกแต่งบ้านเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่าในช่วงกักตัว

ก้าวเข้าสู่สังคมไร้เงินสด

มาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ของรัฐบาลอย่างโครงการเราไม่ทิ้งกัน ที่มีการจ่ายเงินเยียวยาผ่านช่องทาง Prompt Pay ก็ทำให้การค้นหาระบบเงินดิจิทัลของรัฐบาลนี้ได้รับความเป็นสนใจอย่างล้นหลาม และมีการดาว์นโหลดแอปพลิเคชันของธนาคารต่างๆเพิ่มขึ้นอย่างมากตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

New Normal ไม่ใช่อนาคต แต่คือปัจจุบัน

สิ่งสำคัญที่เราสามารถเห็นได้จากข้อมูลที่ปรากฏนั้น ก็คือรูปแบบพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของคนไทยหรือที่เรียกกันว่า New Normal นั้นไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป ไม่ใช่เรื่องที่จะเกิดขึ้นในอนาคต หากแต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้ว และเรากำลังอยู่ในช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลง เราต้องเรียนรู้ ศึกษา หมั่นสังเกต และทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเพื่อที่จะสามารถปรับการดำเนินธุรกิจของเราให้รับกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที

แสดงความคิดเห็น