“พาณิชย์” แนะธุรกิจไทยคว้าโอกาสตลาดแม่และเด็ก ทิศทางโตแรง

นางมาลี โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์

“พาณิชย์” แนะธุรกิจไทยคว้าโอกาสตลาดแม่และเด็ก ทิศทางโตแรง

“พาณิชย์” แนะจับตลาดแม่และเด็กทิศทางเติบโตได้ดี ระบุสัดส่วนสูง 1 ใน 4 ของประชากรโลก คาดจะเพิ่มถึง 2.01 พันล้านคนในปี 2568 ชี้เป็นโอกาสผู้ผลิตผู้ส่งออกไทย โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าแฟชั่นและไลฟ์สไตล์เร่งพัฒนาสินค้าและบริการตอบความต้องการ

นางมาลี โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยรายงานการวิเคราะห์ตลาดสินค้าและบริการสำหรับแม่และเด็ก โดยสำนักส่งเสริมการค้าสินค้าไลฟ์สไตล์ว่า จากข้อมูลขององค์การสหประชาชาติพบว่า แม้ประชากรผู้สูงอายุมีอัตราการขยายตัวที่สูงขึ้น แต่ยังน้อยกว่าประชากรวัยเด็ก (อายุระหว่าง 0-14 ปี) ที่มีจำนวนสูงถึงราว 1.92 พันล้านคน (ณ ปี 2558) หรือคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 1 ใน 4 ของประชากรโลก หรือมากกว่าผู้สูงอายุกว่า 2 เท่าตัว และคาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็น 1.98 พันล้านคนในปี 2563 และพุ่งแตะระดับ 2.01 พันล้านคนในปี 2568

ทั้งนี้ จากอัตราการเกิดของเด็กลดลงในทุกประเทศทั่วโลก ทำให้หลายประเทศมีนโยบายให้เพิ่มจำนวนประชากร เช่น ประเทศรัสเซียมีการให้สิทธิพิเศษสำหรับครอบครัวที่มีบุตรตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา หรือประเทศจีนที่เปลี่ยนจากนโยบายบุตรคนเดียวเป็นให้มีบุตร 2 คนได้ เป็นต้น จากสถิติที่น่าสนใจในประเทศพัฒนาแล้ว คือ แม่ที่มีบุตรคนแรกจะอยู่ในช่วงอายุ 30-40 ปี และมีรายได้สูง

สำหรับตลาดที่มีศักยภาพสูง ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร และเยอรมนี ที่แม้ว่าจะเป็นประเทศที่มีอัตราการเกิดในระดับปานกลางของโลก แต่ส่วนใหญ่ครอบครัวที่มีบุตรจะเป็นครอบครัวที่มีรายได้สูง ขณะที่ตลาดที่มีศักยภาพรอง ได้แก่ ตลาดกลุ่มบริคส์ (BRICs) เช่น จีน อินเดีย และบราซิล ที่มีอัตราการเกิดสูง โดยเฉพาะในปี 2555 หรือปีมังกร ซึ่งเป็นปีที่มีอัตราการเกิดของประชากรชาวจีนจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม รายได้ของครอบครัวที่มีบุตรในกลุ่มประเทศนี้ยังไม่สูงนัก ประกอบกับมีการแข่งขันในตลาดค่อนข้างมาก ผู้บริโภคจะเลือกซื้อสินค้าที่มีราคาต่ำกว่าและไม่เน้นคุณภาพ

นอกจากนั้น ข้อมูลจากหอการค้าไทยพบว่าอินเดียมีประชากรวัยเด็กจำนวนมากกว่า 360 ล้านคน รองลงมาเป็นจีนจำนวน 230 ล้านคน ไนจีเรียจำนวน 98 ล้านคน ปากีสถานจำนวน 74 ล้านคน และอินโดนีเซียจำนวน 71 ล้านคน เป็นต้น ส่งผลให้สินค้าและบริการสำหรับแม่และเด็กเป็นที่ต้องการเพิ่มมากขึ้น โดยจำแนกเป็นสินค้าสำหรับช่วงเตรียมความพร้อมก่อนตั้งครรภ์ ระหว่างตั้งครรภ์ และหลังคลอด สินค้าและบริการก่อนการตั้งครรภ์ เช่น ชุดทดสอบการตั้งครรภ์ ชุดตรวจสอบสุขภาพทารกในครรภ์ ชุดคลุมท้อง โยคะสำหรับหญิงตั้งครรภ์ เป็นต้น ส่วนระหว่างการตั้งครรภ์ สินค้าและบริการที่มีโอกาสดี ได้แก่ วิตามินและอาหารเสริม อาหารเพื่อสุขภาพ/ออร์แกนิก ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวจากธรรมชาติ คอร์สเตรียมความพร้อมก่อนคลอด เป็นต้น

นางมาลีกล่าวว่า ช่วงหลังการคลอดเป็นช่วงที่มีความต้องการสินค้าและบริการหลากหลายมากที่สุด จึงเป็นโอกาสของผู้ผลิตผู้ส่งออกไทยซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มสินค้าแฟชั่นและไลฟ์สไตล์ ในการเร่งพัฒนาสินค้าเพื่อขยายตลาดสู่กลุ่มแม่และเด็กนี้ โดยสินค้าและบริการของไทยที่มีศักยภาพประกอบด้วย เสื้อผ้าและรองเท้าเด็ก ของเล่นเด็ก ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในชีวิตประจำวันของเด็ก เฟอร์นิเจอร์สำหรับเด็ก อาหารเสริม ศูนย์เสริมทักษะการเรียนรู้ และศูนย์พัฒนาเด็ก เป็นต้น

 

ขอขอบคุณที่มาจาก : http://www.manager.co.th

แสดงความคิดเห็น