ส่องพืชเศรษฐกิจสำคัญ 5 อันดับแรก ปี 2560 โดยศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics ประเมินมูลค่าพืชเศรษฐกิจสำคัญ 5 อันดับแรก คือ ข้าว ยางพารา อ้อยโรงงาน มันสำปะหลังและปาล์มน้ำมัน พบว่า ปี 2560 มีมูลค่ารวมกว่า 7.1 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 5.5 หมื่นล้านบาท โดยมูลค่าผลผลิตที่เกษตรกรได้รับเพิ่มขึ้นมาจากราคายางพาราและอ้อยที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากความต้องการและราคาตลาดโลกที่สูงขึ้นต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา คาดว่าราคาเฉลี่ยยางแผ่นดิบเฉลี่ย ปี 2560 จะอยู่ที่ประมาณ 60 บาทต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้นจากราคาเฉลี่ยปีที่ผ่านมาร้อยละ 24 ทำให้มูลค่าผลผลิตยางปีนี้เพิ่มขึ้น 3.5 หมื่นล้านบาท แม้ว่าปริมาณผลผลิตจะลดลงร้อยละ 6 เนื่องจากน้ำท่วมพื้นที่ปลูกในเดือนมกราคมที่ผ่านมา ขณะที่ราคาอ้อยได้รับผลบวกจากราคาน้ำตาลตลาดโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปริมาณน้ำตาลในตลาดโลกที่ตึงตัว ผลักดันราคารับซื้ออ้อยจากเกษตรกรในประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 30 เทียบกับราคารับซื้อปีก่อน สร้างมูลค่าเพิ่มให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยเกือบ 3 หมื่นล้านบาท

ด้านข้าว ซึ่งถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ คาดว่าราคาจะอ่อนตัวจากลงอีกเล็กน้อย เนื่องจากปี 2560 อย่างไรก็ตาม ปริมาณผลผลิตข้าวนาปรังจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากชาวนาไม่ประสบปัญหาภัยแล้งเช่นเดียวกับปีที่ผ่านมา ซึ่งสอดคล้องกับผลผลิตของแหล่งผลิตข้าวสำคัญทั่วโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน จึงทำให้ราคาและปริมาณส่งออกข้าวของไทยชะลอตัว ขณะที่สต็อกของรัฐบาลยังคงกดดันราคาข้าวในปีนี้ ทำให้มูลค่าผลผลิตข้าวที่ชาวนาได้รับเพิ่มขึ้น 1 พันล้านบาท ใกล้เคียงกับมูลค่าผลผลิตปี 2559 ส่วนมันสำปะหลังราคาชะลอต่อเนื่องในปีนี้ โดยคาดว่าราคามันสดเฉลี่ยทั้งปีจะชะลอตัวลงร้อยละ 18 เนื่องจากความต้องการผลิตภัณฑ์มันฯ ของประเทศจีนที่เป็นตลาดส่งออกสำคัญลดลง ทำให้มูลค่าผลผลิตมันสดที่เกษตรกรชาวไร่มันฯ ขายได้ลดลง 1.2 หมื่นล้านบาท

เม็ดเงินจากมูลค่าผลผลิตที่สูงขึ้น ทำให้เกษตรกรซึ่งเป็นผู้ผลิตและบริโภคกลุ่มสำคัญของเศรษฐกิจภูมิภาค มีกำลังซื้อสูงขึ้นโดยอัตโนมัติ ดังนั้นภาคใต้ซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกยางพาราที่สำคัญของประเทศ (ผลผลิตยางพารากว่าร้อยละ 70 มาจากภาคใต้) จะมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน รวมถึงยังได้ผลบวกจากปาล์มน้ำมันที่มีราคาปรับตัวสูงขึ้นเป็นแรงหนุนเศรษฐกิจในพื้นที่อีกด้วยด้วย ดังนั้น เศรษฐกิจภาคใต้ปีนี้น่าจะฟื้นตัวจากภาวะน้ำท่วมรวดเร็วและดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาอย่างชัดเจน โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัด สุราษฎร์ธานี สงขลา นครศรีธรรมราช ตรัง ซึ่งเป็นจังหวัดพื้นที่ปลูกยางจำนวนมาก ด้านภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกข้าว อ้อย มันสำปะหลัง แม้ว่ามูลค่าผลผลิตอ้อยจะเพิ่มขึ้นอย่างโดดเด่น แต่ข้าวและมันสำปะหลัง ราคายังคงฉุดรายได้เกษตรกรในปีนี้ ทำให้กำลังซื้อของเกษตรกรในภาพรวมทั้ง 3 ภาคไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนัก เศรษฐกิจของจังหวัดที่คาดว่าจะมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นอย่างโดดเด่นเนื่องจากเป็นพื้นที่ปลูกอ้อยที่สำคัญได้แก่ กำแพงเพชร นครสวรรค์ อุดรธานี นครราขสีมา กาญจนบุรี

กำลังซื้อที่เพิ่มขึ้นของเกษตรกรในพี้นที่ข้างต้น จะส่งผลดีต่อธุรกิจเกี่ยวเนื่อง เช่น ธุรกิจค้าปุ๋ยและเคมีเกษตร เครื่องจักรกลการเกษตร ซึ่งเป็นปัจจัยการผลิต อีกด้านหนึ่งเกษตรกรจะมีกำลังจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลดีต่อธุรกิจค้าปลีก ค้าส่งสินค้าอุปโภค บริโภค วัสดุก่อสร้าง เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น โดยหากทิศทางของราคาและปริมาณผลผลิตยังดีต่อเนื่องในระยะยาว จะทำให้แนวโน้มการซื้อสิ้นค้าคงทน หรือ สินค้าราคาสูง เช่น จักรยานยนต์ รถยนต์ มีแนวโน้มดีขึ้นในระยะต่อไป เนื่องจากเกษตรกรมีความมั่นใจในรายได้สูงขึ้น

ดังนั้นภาครัฐฯ ควรมีนโยบายดูแลราคาข้าวและมันสำปะหลังระยะสั้น เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกร ส่วนยางพารา อ้อยและปาล์ม ซึ่งราคาอยู่ในระดับค่อนข้างดีในปีนี้ ควรส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดต้นทุนอย่างจริงจัง เช่น นโยบายเกษตรแปลงใหญ่ รวมถึงส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิตเกษตร ซึ่งจะส่งผลดีในระยะยาวต่อรายได้ของเกษตรกรในพื้นที่ และช่วยหนุนเศรษฐกิจภูมิภาคให้เติบโตได้ในระยะยาว

ขอบคุณข้อมูลจาก TMB Analytics 

แสดงความคิดเห็น