รวม”วิธีเพาะเห็ด” อาชีพเสริมใครๆก็ทำได้ อาชีพพารวย

รวมสูตรอาชีพ “วิธีเพาะเห็ด”,  วิธีเพาะเห็ดฟาง,  วิธีเพาะเห็ดนางฟ้า,  วิธีเพาะเห็ดเข็มทอง,  วิธีเพาะเห็ดเผาะ,  วิธีเพาะเห็ดโคนและวิธีเพาะเห็ดหูหนู  โดยได้ทำการเลือกวิธีการเพาะเห็ด พร้อมเริ่มต้นอาชีพเพาะเห็ดขาย เริ่มธุรกิจขายเห็ดได้ทันที เหมาะสำหรับผู้สนใจอาชีพเสริม, สร้างอาชีพและอาชีพอิสระ

หากคุณมีสูตรอาชีพ “วิธีเพาะเห็ด” ต้องการแบ่งปันและโปรโมทร้านคุณ โปรดติดต่อ smeleader.thailand@gmail.com

1. ชื่ออาชีพเสริมเพาะเห็ด : วิธีเพาะเห็ดฟาง
อุปกรณ์/เครื่องมือเบื้องต้น :

  • บ่อซีเมนต์ เส้นผ่าศูนย์กลางขนาด 60 เซนติเมตร
  • ฮอร์โมนไข่ 1 ขีด
  • ปุ๋ยเสมอ 16-16-16 1 ขีด
  • ปุ๋ยยูเรีย 1 ขีด
  • ฟางข้าว 1 กิโลกรัม
  • ก้อนเชื้อเห็ดฟาง 1/2 ก้อน หรือ 11 ก้อน
  • กากน้ำตาล 1 ขีด
  • แจ้งข้าวเหนียว 1 ขีด
  • ปุ๋ยคอก 1/2 กิโลกรัม
  • น้ำสะอาด

วิธีการเพาะเห็ดในบ่อซีเมนต์ :

  1. เอาน้ำสะอาดเทลงไปในถัง
  2. นำส่วนผสมทั้งหมดเทลงไปในถัง ซึ่งจะมี ปุ๋ยยูเรีย ปุ๋ยสูตรเสมอ แป้งข้าวเหนียว ฮอร์โมนไข่ กากน้ำตาลตามลำดับ จากนั้นก็กวนส่วนผสมทุกอย่างให้เข้ากัน
  3. จากนั้นก็นำฟางข้าวที่เตรียมไว้ แช่ลงไปในถังและกดฟางข้าวจมน้ำให้มิดทั่วฟางข้าวและแช่ทิ้งไว้ 1 คืน
  4. เมื่อครบแล้วก็นำฟางข้าวที่ชุ่มน้ำ ไปใส่ในบ่อปูนซีเมนต์ โดยมีความหนาให้ห่างจากก้นบ่อประมาณ 6 นิ้ว และทำการเกี่ยวฟางข้าวให้สม่ำเสมอ กดให้แน่นๆ
  5. โรยปุ๋ยคอกบางๆให้ทั่วบ่อ
  6. นำเชื้อเห็ดฟางมาในปริมาณครึ่งก้อน ขยำรวมกับแป้งข้าวเหนียวให้เป็นเนื้อเดียวกัน
  7. นำเชื่อเห็ดฟางที่ขยำไว้แล้ว มาโรยทั่วบ่อปูนซีเมนต์ และนำน้ำหมักฟางที่ทำไว้ก่อนหน้านี้ มารดไว้ให้ทั่วในบ่อ
  8. ให้นำบ่อซีเมนต์ไปติดตั้งไว้ในที่ร่ม และให้นำแผ่นพลาสติกหรือตะแกรงมาปิดทับเพื่อป้องกันศัตรูพืชและไม่ให้แสงเข้าไปในบ่อ
  9. จากนั้น ทิ้งไว้ประมาณ 3-4 วัน ก็จะเริ่มเห็นว่า ใยเริ่มขึ้น สามารถทำการตัดใยแล้วดูดอกเห็ด ซึ่งต้องทำแบบนี้สม่ำเสมอไปเรื่อยๆ จนครบสองสัปดาห์ก็จะได้เห็ดมา

อุปกรณ์/เครื่องมือเบื้องต้น :

  • ฟางข้าว หรือ ผักตบชวาแห้ง
  • ขี้เลื่อยหรือวัสดุเพาะเห็ดชนิดอื่นๆ ที่ผ่านการเพาะมาแล้ว(วัสดุเหลือทิ้ง)
  • หัวเชื้อเห็ดฟาง
  • ตะกร้าพลาสติก

วิธีการเพาะเห็ดในตะกร้า :

  1. นำฟางไปแช่น้ำ 1 คืน แล้วผึ่งให้หมาดๆ ชื้นๆ อีกครึ่งวัน แต่ถ้าใช้เป็นผักตบชวา ก็ต้องเป็นผักตบชวาตากแห้ง แล้วนำมารดน้ำ
  2. นำฟางเรียงก้นตะกร้า (ปูพื้น) โรยด้วยขี้เลื่อย และตามด้วยหัวเชื้อเห็ดฟาง (ขี้เลื่อยและหัวเชื้อโรยขอบตะกร้า เพื่อให้ดอกเห็ดออกตามขอบตะกร้า เป็นชั้นๆ ขึ้นมา)
  3. ทำซ้ำกันเช่นนี้จนครบ 4 ชั้น หรือเต็มตะกร้า โดยชั้นสุดท้ายให้โรยขี้เลื่อยและหัวเชื้อให้เต็มพื้นที่
  4. ครอบด้วยถุงพลาสติก เพราะเห็ดต้องการความร้อน และชื้น
  5. หลังจากผ่านไป 4-5 วัน ให้สังเกตดูว่า ถ้ามีละอองน้ำเป็นฝ้า เกาะที่ถุง ก็เป็นอันว่าใช้ได้ แต่ถ้าไม่มีก็ต้องเปิดถุงรดน้ำเพิ่มเติม
  6. เมื่อครบ 9-12 วัน เห็ดจะเริ่มออก (ช่วงวันที่ 4 ถึงวันที่ 9 อย่าเปิดถุงเด็ดขาด มิเช่นนั้น ดอกจะชะงักการเติบโต หรือไม่โตอีกเลย)
  7. หลังจากเห็ดออกแล้ว จะเก็บได้ในอีก 5 วัน และจะได้เห็ดรวมๆราว 2 กก.

หมายเหตุ :

  • หากเก็บเห็ดหมดแล้ว วัสดุเพาะเห็ดทั้งหมดไม่ต้องนำไปทิ้ง เพราะสามารถนำไปทำเป็นปุ๋ยหมักต่อได้

ขอขอบคุณวิธีเพาะเห็ดฟางในบ่อซีเมนต์จาก board.postjung.com และ วิธีการเพาะเห็ดฟางในตะกร้าจาก yimkwangkwang.com

2. ชื่ออาชีพเสริมเพาะเห็ด : วิธีเพาะเห็ดนางฟ้า

อุปกรณ์/เครื่องมือเบื้องต้น :

  • การเตรียมโรงเรือนสำหรับเพาะเห็ดนางฟ้า
  • ขี้เลื่อยยางพาราแห้งสนิท 100 กิโลกรัม
  • รำละเอียด 6 – 8 กิโลกรัม
  • ข้าวโพดป่น 3 – 5 กิโลกรัม
  • ปูนยิบซัม 1 กิโลกรัม
  • หินปูนหรือผงชอล์ก 1 กิโลกรัม
  • ดีเกลือ 0.2 กิโลกรัม
  • น้ำ 80 กิโลกรัม
  • EM 1 ลิตร

วิธีการเพาะเห็ดนางฟ้าในโรงเรือน :

  1. สำหรับโรงเรือนเพาะเห็ดนางฟ้านั้นควรมีขนาด 2 x 15 x 2 (กว้าง x ยาว x สูง) เมตร ซึ่งจะวางก้อนเชื้อเห็ดนางรม และเห็ดนางฟ้าได้ประมาณ 4,000 ก้อน
  2. โรงเรือนควรเป็นแบบที่สร้างง่าย ลงทุนน้อย และวัสดุที่จะนำมาสร้างเป็นโรงเรือนนั้นจะต้องหาง่ายที่มีอยู่ในท้องถิ่น เป็นวัสดุที่มาจากธรรมชาติ เช่น ฟาง, หญ้าแฝก, ไม้ไผ่
  3. สำหรับการสร้างโรงเรือนให้เหมาะสมนั้นควรสร้างในที่เย็นชื้นและสะอาดปราศจากศัตรูของเห็ดที่จะเข้ามารบกวน หลังคามุงจากหรือแฝก แล้วคลุมทับด้วยสะแลนอีก 1 ชิ้น
  4. การคลุมหลังคาขึ้นอยู่กับชนิดของเห็ดด้วย เพื่อป้องกันลม ลมแรง ลมค่อย ลมหนาว ลมแห้งแล้ง สภาพลม สภาพอากาศ มีผลกระทบต่อการออกดอกของเห็ดได้เช่นเดียวกัน
  5. ปิดประตูด้วยกระสอบป่านหรือแผ่นยาง ปูพื้นด้วยทราย เพื่อเก็บความชื้น ทิศทางลม ก้อมีส่วนสำคัญในการโรงเพาะเห็ด ต้องดูทิศทางของลมเหนือลมใต้ เพื่อป้องกันการพัดพาเชื้อโรค ที่จะมีผลต่อก้อนเห็ด และการออกดอกของเห็ด

วิธีการทำก้อนเชื้อเพาะเห็ดนางฟ้า :

  1. เมื่อหาส่วนผสมมาครบแล้ว ก็ทำการตากและกองขี้เลื่อยยางพาราไว้ประมาณ 7 วัน จากนั้นค่อยทำการผสมโดยการเติมน้ำลงประมาณ 70 เปอร์เซนต์
  2. ทดสอบโดยการกำส่วนผสมถ้ามีน้ำซึมตามง่ามมือแสดงว่าการผสมนี้ผสมน้ำมากเกินไปแต่ถ้าเมื่อบีบแล้วขี้เลื่อยแตกเป็น 3 ก้อนแสดงว่าการผสมใช้ได้เรียกว่าพอดีแล้วแต่ถ้าว่าถ้ากำแล้วแบมือออกแล้วขี้เลื่อยจับตัวไม่เป็นก้อนแสดงว่าเติมน้ำน้อยจนเกินไป
  3. เมื่อผสมเข้ากันได้ที่แล้วก็ทำการกรอกใส่ถุงเพาะเห็ด ใส่ให้ได้น้ำหนักประมาณ 800 – 900 กรัม หลังจากนั้นก็ทำการรวบปากถุงกระทุ้งกับพื้นให้แน่นพอประมาณหลังจากนั้นก็ทำการใส่คอขวด

วิธีการการหยอดเชื้อและบ่มเชื้อเห็ดนางฟ้า :

  1. เมื่อทำก้อนเชื้อเสร็จแล้ว เราก็จะนำก้อนเชื้อที่ได้ทำการหยอดเชื้อและบ่มเชื้อเห็ดนางฟ้าตามลำดับ โดยก่อนอื่นก้อนเชื้อที่ได้นั้นเราก็จะนำมาทำการนึ่งเพื่อฆ่าเชื้อ ถ้ามีหม้อนึ่งความดันอยู่แล้วก็ให้นึ่งที่ความดัน 25 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว โดยทำการนึ่งที่ระยะเวลาประมาณ 1 – 2 ชั่วโมง
  2. ถ้าไม่มีหม้อนึ่งความดันอาจใช้หม้อนึ่งจากถังน้ำมัน 200 ลิตร แทน แต่จะต้องทำการนึ่งประมาณ 3 ครั้ง โดยทำการนึ่งที่อุณหภูมิ 100 อาศาเซลเซียส นึ่งที่ระยะเวลาประมาณ 2-3 ชั่วโมง และทำการนึ่งทั้งหมด 3 ครั้ง เมื่อผ่านขั้นตอนการนึ่งฆ่าเชื้อเรียบร้อยแล้ว เราก็จะทำการหยอดเชื้อเห็ดลงสู่ก้อนเชื้อ เชื้อเห็ดจากเมล็ดข้าวฟ่างควรหยอดเชื้อลงประมาณ 20 – 25 เมล็ด
  3. เมื่อหยอดเชื้อลงสู่ก้อนเชื้อเห็ดเสร็จแล้ว ให้ทำการปิดปากถุงก้อนเชื้อให้เรียบร้อย หลังจากทำการหยอดเชื้อลงในก้อนเชื้อเสร็จ เราก็จะทำการบ่มเชื้อเห็ดในอีกขั้นตอนหนึ่ง โดยการบ่มเชื้อนั้นต้องนำก้อนไปบ่มไว้ที่ระยะเวลาประมาณ 20-25 วัน กรรมวิธีการบ่มก็ไม่ยุ่งยากอะไร เพียงแต่ต้องเก็บให้เป็นระเบียบ ไม่ถูกแดด ไม่ถูกฝน ลมไม่โกรกไม่มีแมลง ไม่มีหนู อากาศถ่ายเทได้สะดวก

วิธีการการเก็บเกี่ยวผลผลิตเห็ดนางฟ้า :

  1. หลังจากที่ได้เราทำการบ่มเชื้อเห็ดนางรม และเห็ดนางฟ้าเรียบร้อยแล้ว ก็เป็นช่วงระยะเวลาของการเปิดดอกและทำการเก็บเกี่ยวผลผลิตเห็ดนางรม และเห็ดนางฟ้าจะออกดอกเมื่อมีความชื้นสูงพออากาศไม่ร้อนมาก
  2. เมื่อถูกเหนี่ยวนำด้วยอากาศเย็นตอนกลางคืนก็จะออกดอกได้ดี เทคนิคที่ทำให้ออกดอกสม่ำเสมอและดอกใหญ่สามารถทำได้ดังนี้ เมื่อเก็บดอกเสร็จต้องทำความสะอาดหน้าก้อนเชื้อโดยเขี่ยเศษเห็ดออกให้หมด งดให้น้ำสัก 3 วันเพื่อให้เชื้อฟักตัวแล้วก็กลับมาให้น้ำอีกตามปกติเห็ดก็จะเกิดเยอะเหมือนเดิมหรือเมื่อเก็บดอกเห็ดเสร็จก็ทำความสะอาดหน้าก้อนเชื้อเหมือนเดิม แล้วรัดปากถุงไม่ให้อากาศเข้าทิ้งระยะเวลาประมาณ 2 – 3 วัน
  3. ให้น้ำปกติหลังจากนั้นก็เปิดปากถุงก็จะเกิดดอกที่สม่ำเสมอเป็นการเหนี่ยวนำให้ออกดอกพร้อมกัน เมื่อเห็ดออกดอกและบานจนได้ขนาดที่ต้องการแล้วให้เก็บดอกโดยจับที่โคนดอกทั้งช่อ โยกซ้ายขวา-บนล่าง แล้วดึงออกจากถุงเห็ด ระวังอย่าให้ปากถุงเห็ดบาน ถ้าดอกเห็นโคนขาดติดอยู่ให้แคะออกทิ้งให้สะอาดเพื่อป้องกันการเน่าเสีย เป็นสาเหตุทำให้เกิดหนอนจากการวางไข่ของแมลงได้ การดูลักษณะดอกเห็ดที่ควรเก็บ คือดอกไม่แก่ หรืออ่อนจนเกินไป
  4. ดูที่ขอบดอกยังงุ้มอยู่คือดอกที่เหมาะแก่การเก็บเกี่ยว ถ้าขอบยกขึ้นแสดงว่าแก่แล้ว ดอกเห็ดที่แก่จัด และออกสปอร์เป็นผงขาวด้านหลังดอกเห็ด ต้องรีบเก็บออก เพราะสปอร์จะเป็นตัวชักนำให้แมลงเข้ามาในโรงเรือนเพาะเห็ดนางฟ้าได้

ขอขอบคุณวิธีเพาะเห็ดนางฟ้าจาก autanfarmhed.wordpress.com

3. ชื่ออาชีพเสริมเพาะเห็ด : วิธีเพาะเห็ดเข็มทอง

อุปกรณ์/เครื่องมือเบื้องต้น : 

  • ขี้เลื่อยผสมรำข้าวละเอียด 10 – 20 เปอร์เซ็นต์ และผสมแกลบ 5 – 10 เปอร์เซ็นต์
  • เชื้อเห็ดที่จะนำมาปลูก
  • ขวดโหลหรือขวดพลาสติกทนความร้อนสูง

วิธีการเพาะเห็ดเข็มทองในขวด :

  1. ขั้นตอนแรกเริ่มลงมือปลูก เชื้อที่จะนำมาเพาะเห็ดทางที่ดีควรอบฆ่าเชื่้อมาก่อน แล้วทิ้งขวดขี้เลื่อยให้เย็นประมาณ 20 องศาเซลเซียส
  2. จากนั้นใส่เชื้อการเพาะเห็ดลงไปในขวดที่เราเตรียมไว้
  3. ขั้นตอนต่อไปบ่มเชื้อโดยการนำขวดเพาะที่ใส่เชื้อเห็ดไปตั้งไว้ในห้องที่อุณหภูมิอยู่ระหว่าง 8-12 องศาเซลเซียส ซึ่งจะทำให้อุณหภูมิภายในขวดขี้เลื่อยเหมาะต่อการเจริญเติบโตของเส้นใยเห็ด ใช้เวลา 25 – 30 วัน เชื้อจะเจริญเต็มขวด
  4. จากนั้นเมื่อเชื้อเจริญเต็มขวด ให้เปิดฝาออกแล้วใช้เหล็กปลายแบนงอเหมือนช้อนขุดเอาส่วนหน้า หรือส่วนที่เป็นเชื้อขี้เลื่อยออกให้หน้าเรียบ
  5. นำไปไว้ในอุณหภิมูห้องที่ 10-15 องศา รักษาอุณหภมิให้สม่ำเสมอ ใช้เวลา 5-10 วัน เห็ดก็จะสร้างตุ่มดอก
  6. ขั้นตอนสุดท้ายเลี้ยงต่อจนดอกเห็ดโผล่จากปากขวด 2-3 เซนติเมตร

ขอขอบคุณวิธีเพาะเห็ดเข็มทองจาก gangbeauty.com

4. ชื่ออาชีพเสริมเพาะเห็ด : วิธีเพาะเห็ดเผาะ

 

อุปกรณ์/เครื่องมือเบื้องต้น :

  • เห็ดเผาะที่แก่จนแห้งแตก
  • ต้นกล้าไม้ที่นิยมคือ ยางนา มะค่า เต็งรัง
  • ถังเล็กๆ

วิธีการเพาะเห็ดเผาะในสวน :

  1. นำเห็ดเผาะที่แก่จัดมาแกะเอาสปอร์ข้างในเห็ดเผาะที่แก่
  2. นำสปอร์ไปผสมกับน้ำให้เข้ากันในอัตราส่วนที่เหมาะสม
  3. นำไปรดต้นกล้าทุกสัปดาห์ สัปดาห์ละครั้ง
  4. สังเกตุดูต้นกล้าถ้าเริ่มมีเนื้อเยื่อเห็ดเผาะเจริญเติบโตแล้วให้นำไปปลูกได้
  5. ปีถัดไปก็จะมีเห็ดเผาะเกิดตามรากไม้ต้นนั้นอย่าพึ่งเก็บเพราะต้นไม้ยังไม่แข็งแรงพอ
  6. เมื่อต้นไม้โตพอประมาณให้เริ่มทำการเก็บเห็ดเผาะได้ เห็ดเผาะจะเกิดมาให้เราเก็บที่ต้นไม้ต้นนี้ทุกปี

ขอขอบคุณวิธีเพาะเห็ดเผาะจาก farmsuk Suangrasae

5. ชื่ออาชีพเสริมเพาะเห็ด : วิธีเพาะเห็ดโคน

อุปกรณ์/เครื่องมือเบื้องต้น : 

  • วัสดุใช้ในการเพาะเห็ดโคนน้อย
  • ไม้แบบหรือกระบะเพาะ ขนาดที่มีความกว้าง 30 ยาว 50 สูง 30 เซนติเมตร
  • ก้อนเชื้อเห็ดโคนน้อย
  • อาหารเสริมใส่ให้กับเห็ดโคนน้อย ใช้ปุ๋ยยูเรียในอัตราการใช้ 0.5 กิโลกรัม ต่อน้ำ 70 ลิตร
  • อุปกรณ์การต้มน้ำ
  • เชือกสำหรับมัดฟางข้าว
  • พลาสติกสำหรับคลุมกองวัสดุเพาะเพื่อปรับอุณหภูมิที่เราต้องการ

วิธีการเพาะเห็ดโคนโรงเรือน :

  1. อัดวัสดุเพาะในกระบะหรือแบบพิมพ์ เสร็จแล้วอัดฟางให้แน่นแล้วนำเชือกมามัดฟางให้เป็นก้อน หรือจะกะน้ำหนักให้ได้ประมาณ 3-4 กิโลกรัม ต่อมัด หลังจากนั้น ต้มน้ำแล้วละลายอาหารเสริมในน้ำที่เดือด ที่อุณหภูมิประมาณ 80-90 องศาเซลเซียส หรือพอน้ำเดือด จึงนำวัสดุเพาะฟางข้าวที่มัดเป็นก้อนจุ่มลงไป ในน้ำทิ้งเอาไว้นาน 5-10 นาที เพื่อให้อาหารเสริมได้ซึมเข้าไปในวัสดุเพาะ และเป็นวิธีที่ช่วยกำจัดโรคและแมลง และวัชพืชเห็ดต่าง ๆ อีกด้วย จากนั้น นำขึ้นแล้วปล่อยให้เย็นลง ใส่เชื้อเห็ดลงไป
  2. ถ้าใส่เชื้อเห็ดในขณะที่วัสดุเพาะที่ยังร้อนอยู่จะทำให้เชื้อเห็ดตายได้ ยีก้อนเชื้อเห็ดให้กระจายออก นำมาผสมกับรำข้าวในอัตราส่วน 1:1 แล้วหยอดเชื้อเห็ดเป็นจุด ๆ รอบ ๆ กองวัสดุเพาะ แต่ละจุดห่างกัน 10-15 เซนติเมตร และต้องลึกลงไปในวัสดุเพาะ 1 นิ้ว ใช้มือหรือไม้ทำเป็นรูใส่เชื้อเห็ดก็ได้ หลังจากนั้น นำพลาสติกมาคลุมที่กอง ใช้พลาสติกสีดำหรือสีฟ้าก็ได้ โดยพลาสติกจะเป็นตัวที่จะดึงดูดแสงและควบคุมอุณหภูมิได้ดี
  3. จากนั้นคลุมด้านบนอีกชั้นด้วยกระสอบป่านหรือฟางข้าวก็ได้ เพื่อให้เกิดความร้อนภายในกองวัสดุเพาะ เชื้อเห็ดนี้จะเจริญเติบโตได้ดีที่อุณหภูมิประมาณ 35-45 องศาเซลเซียส ระยะนี้ ไม่จำเป็นจะต้องนำอากาศเข้าไปในกองเห็ด เส้นใยเห็ดโคนน้อยจะเจริญเติบโตได้รวดเร็ว โดยปกติ 4-5 วัน เส้นใยเห็ดจะเจริญได้ทั่วทั้งวัสดุเพาะแล้ว
  4. การกระตุ้นให้เส้นใยเห็ดโคนน้อยเกิดดอก ต้องยกวัสดุคลุมกองให้สูงขึ้นกว่าในตอนแรก เนื่องจากเวลาเกิดดอกแล้วจะติดอยู่กับพลาสติกที่คลุมอยู่และเป็นการสะดวกในการเก็บผลผลิต การทำที่คลุมต้องทำเป็นลักษณะคล้ายฝาชีครอบลงไปเพื่อสะดวกต่อการเปิดปิดง่าย จะใช้วัสดุที่ทำจากไม้ไผ่ หรือกรงเหล็กครอบกองก็ได้ ให้มีความสูง 20-30 เซนติเมตร และคลุมด้วยพลาสติกเพื่อป้องกันการระเหย และต้องเจาะรูเพื่อเป็นการระบายอากาศ ส่วนด้านบนและด้านหลังควรคุมด้วยฟางแห้งให้มิดชิด

วิธีการเก็บผลผลิตเห็ดโคน :

  1. เริ่มเก็บช่วงบ่ายถึงเย็น วิธีเก็บให้ใช้มีดสอดไปที่ฐานของดอกเห็ดพร้อมทั้งบิดไปมา ซ้ายขวา ดอกเห็ดโคนน้อยมีขนาดเล็กจะหลุดได้ง่าย จึงต้องระมัดระวัง
  2. เมื่อเก็บดอกเห็ดแล้วควรนำไปใส่ภาชนะที่สะอาด เช่น ตะกร้าหรือกะละมัง และไม่ควรใส่มากเกินไป จะทำให้ดอกเห็ดทับกันทำให้ช้ำได้ง่าย ดอกเห็ดจะบานและเป็นสีดำอย่างรวดเร็ว ภายในเวลา 3-5 ชั่วโมง
  3. การยืดเวลาไม่ให้เห็ดเกิดความเสียหายได้ง่าย จึงควรเก็บในที่เย็น ที่อุณหภูมิ ประมาณ 8-10 องศาเซลเซียส และเก็บในลักษณะสูญญากาศ

ขอขอบคุณวิธีเพาะเห็ดโคนจาก ดร.ปริญญา จันทรศรี

6. ชื่ออาชีพเสริมเพาะเห็ด : วิธีเพาะเห็ดหูหนู

อุปกรณ์/เครื่องมือเบื้องต้น :

  • อาหารเพาะ
  • หัวเชื้อเห็ด
  • ถุงพลาสติกทนร้อน ขนาด 7 x 11 นิ้ว หรือ 9 x 13
  • คอพลาสติก ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 – 1.5 นิ้ว
  • ฝ้าย หรือสำลี ยางรัด
  • หม้อนึ่งไม่อัดความดัน หรือหม้อนึ่งความดัน
  • โรงเรือนหรือสถานที่ บ่มเส้นใย และเปิดดอก

วิธีการเตรียมอาหารเพาะ :
สูตรที่1 :

  • ขี้เลื่อยแห้ง 100 กิโลกรัม
  • รำละเอียด 3 -4 กิโลกรัม
  • ดีเกลือ 0.2 กิโลกรัม
  • ปูนขาว หรือแคลเซียมคาร์บอเนต 1 กิโลกรัม
  • หรือเติมด้วยน้ำตาลทราย 2 – 3 กิโลกรัม
  • ผสมน้ำให้มีความชื้น 60 – 70 เปอร์เซ็นต์
  • คลุกผสมให้ทั่ว ใช้ทันที

สูตรที่2 :

  • ขี้เลื่อยไม้เบญจพรรณ 100 กิโลกรัม
  • แอมโมเนียมซัลเฟต 1 กิโลกรัม
  • ปูนขาว 1 กิโลกรัม
  • หมักกับน้ำนานประมาณ 2 -3 เดือน
  • ผสมรำละเอียด 3 กิโลกรัม
  • น้ำตาลทราย 2 กิโลกรัม
  • ปรับความชื้น 60 -70 เปอร์เซ็นต์

วิธีการเพาะเห็ดหูหนูในโรงเรือน :

  1. บรรจุอาหารเพาะลงในถุงพลาสติกทนร้อน กดให้แน่นตึง สูงประมาณ 2/3 ของถุง
  2. รวบปากถุงบีบอากาศออกสวมคอพลาสติกหรือไม้ไผ่ แล้วพับปากถุงพาดลงมา รัดยางให้แน่น อุดด้วยสำลี หุ้ม ทับด้วยกระดาษหรือ ฝาครอบพลาสติก
  3. นำไปนึ่งฆ่าเชื้อด้วยถังนึ่งไม่อัดความดัน หรือใช้หม้อนึ่งความดันอุณหภูมิ 90 – 100 องศาเซลเซียส เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 2 ชั่วโมง ทิ้งไว้ให้ถุงเย็น
  4. นำถุงวัสดุออกมาใส่เชื้อจากหัวเชื้อเห็ดที่เลี้ยงในเมล็ดข้าวฟ่าง ถุงละ ประมาณ 10 – 15 เมล็ด ก็เพียงพอ (โดยเขย่าเมล็ดข้าวฟ่างให้กระจายออก) เปิดและปิดจุกสำลีโดยเร็ว โดยปฏิบัติในที่สะอาดมิดชิดไม่มีลมโกรก
  5. นำไปวางในที่สำหรับบ่มเส้นใย มีอุณหภูมิตามที่เห็ดแต่ละชนิดต้องการ ไม่จำเป็นต้องมีแสง ไม่ต้องให้น้ำที่ก้อนเชื้อจนเส้นใยเห็ดเริ่มรวมตัวกันเพื่อเจริญเป็นดอกเห็ด นำไปเปิดถุงให้ออกดอกต่อไป

วิธีการปฏิบัติดูแลรักษาเห็ดหูหนู :

  1. เห็ดหูหนู ใช้เวลาในระยะเส้นใยประมาณ 1.5 – 2 เดือน จากนั้นถอดสำลีและคอขวด มัดปากถุงปิดไว้กรีดข้างถุงเป็นระยะเพื่อให้เกิดดอก
  2. การให้ความชื้นสามารถให้น้ำที่ก้อนเชื้อและดอกเห็ดได้ ควรให้น้ำเบา ๆ มิฉะนั้นดอกเห็ดอาจจะช้ำและเน่าเสียได้ง่าย โรงเรือนควรมีการถ่ายเทอากาศที่ดี
  3. การเก็บผลผลิตเห็ดหูหนู เก็บเมื่อดอกบานย้วยเต็มที่

ขอขอบคุณวิธีเพาะเห็ดหูหนูจาก สำนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ กรมวิชาการเกษตร

หากคุณมีสูตรอาชีพ “วิธีเพาะเห็ด” ต้องการแบ่งปันและโปรโมทร้านคุณ โปรดติดต่อ smeleader.thailand@gmail.com
แสดงความคิดเห็น