ส่องการค้าชายแดนไทย-ลาว ยุคคนสวยและรวยมาก
ส่องการค้าชายแดนไทย-ลาว ยุคคนสวยและรวยมาก

ส่องการค้าชายแดนไทย-ลาว ยุคคนสวยและรวยมาก

ส่องการค้าชายแดนไทย-ลาว ยุคคนสวยและรวยมาก

ส่องการค้าชายแดนไทย-ลาว ยุคคนสวยและรวยมาก

ประเทศเล็กๆมีประชากรยังไม่ถึง7ล้านคน แต่สปป.ลาวกำลังเนื้อหอมในภูมิภาคนี้ เมื่อผู้คนมีกำลังซื้อมากขึ้น “ประเทศลาว มีกำลังซื้อนะ คนลาวนี่รวย ไม่ใช่จน และรวยจริงๆ ไม่ใช่รวยธรรมดา อย่างเวลามาซื้อของนี่ไม่มีต่อเลย กำลังซื้อเขาสูงมาก” หนึ่งคำยืนยันจากผู้ประกอบการเมืองอุบล “จารุณี ทีฆะทิพย์สกุล” เจ้าของร้านชมดี ผู้ผลิตและจำหน่าย กุนเชียง หมูหยอง หมูยอ ระดับโอทอป 5 ดาว ที่อยู่ในสนามมานับ 40 ปี มีตลาดทั้งในไทย ลาว เวียดนาม และจีน เธอบอกความน่าสนใจของลูกค้าเมืองลาว ที่แวะเวียนมาช้อปสินค้าจากฝั่งไทย จนเห็นโอกาสต่อยอดธุรกิจ จากโรงงานผลิตและหน้าร้านเล็กๆ มาเตรียมเปิดศูนย์จำหน่ายสินค้าแห่งใหม่ ที่ “จัดเต็ม” ทั้งโชว์กระบวนการผลิต จำหน่ายผลิตภัณฑ์ และบริการอาหารรสเด็ด เรียกว่า พร้อมสรรพรับนักช้อป AEC

ตอกย้ำกันอีกครั้ง กับคำบอกเล่าของ “รังสฤษฎ์ พัฒนทอง” นายด่านศุลกากรช่องเม็ก อุบลราชธานี ที่บอกว่า วันหยุด เสาร์-อาทิตย์ จะเห็นคนลาวจะข้ามฝั่งมาช้อปปิ้งที่เมืองอุบลฯ แล้วหอบหิ้วของกินของใช้กลับไปจำนวนมาก“ตอนนี้คนลาวมีกำลังซื้อมากขึ้น อย่าง เสาร์-อาทิตย์ เขาจะข้ามมาช้อปปิ้งที่เซ็นทรัลอุบลฯ แต่งตัวสวย ไปนั่งกินเอ็มเค กินแมคโดนัลด์ กินอะไรของเขากัน แล้วซื้อของกลับเต็มไปหมด ผมว่า เซ็นทรัลอุบลฯ อยู่ได้ก็เพราะคนลาวนี่แหล่ะ”

เขาฉายภาพนักท่องเที่ยวชาวลาว ในยุคที่เศรษฐกิจกำลังเฟื่อง ดอกจำปาลาวกำลังเบ่งบาน ผู้คนเริ่มมีกำลังซื้อ ขณะที่คนลาวก็ยังหลงใหลได้ปลื้มกับสินค้าไทย จึงแวะมา “ละลายทรัพย์” ที่สยามประเทศอย่างต่อเนื่อง ดูได้จากปริมาณคนที่ข้ามด่านช่องเม็ก จากหลักแสนคนต่อปีในอดีต มาเป็นสูงถึงกว่า 3 ล้านคนต่อปี ในปัจจุบัน

ส่องการค้าชายแดนไทย-ลาว ยุคคนสวยและรวยมาก

ไม่เพียงคลื่นมหาชนที่หลั่งไหลไปมาระหว่างสองประเทศ ทว่ายังรวมถึง “คลื่นสินค้า” ที่ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยสินค้าขาเข้าและขาออก ที่ผ่านด่านศุลกากรช่องเม็ก ในปีงบประมาณ 2557 (ตุลาคม 2556 – กันยายน 2557) มีมูลค่ารวมที่ประมาณ 14,900 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2556 ประมาณ 20% โดยเป็นมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ประมาณ 13,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ถึงประมาณ 25%

ประตูด่านช่องเม็ก ส่งสินค้าออกสำคัญ เป็นพวก น้ำมันเชื้อเพลิง รถยนต์ รถไถนา เหล็กและผลิตภัณฑ์จากเหล็ก เครื่องอุปโภคบริโภค กระเบื้องและปูนซีเมนต์ ซึ่งนายด่านบอกเราว่า ในปีหน้ายังคาดว่า ตัวเลขส่งออกจะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะ กลุ่มน้ำมันเชื้อเพลิง อุปกรณ์ก่อสร้าง และสินค้าอุปโภคบริโภค รับฐานะทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นของคนลาว

“คนลาวนิยมชมชอบสินค้าไทยมานานแล้ว ขณะที่ลาวเองก็มีนโยบายพัฒนาประเทศของเขา โดยมีนักลงทุนจากต่างประเทศไปลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ทำโรงแรม สถานที่ท่องเที่ยว ต่างๆ ธุรกิจที่ไปลงทุนก็เริ่มมีกำไรกลับมา เหล่านี้ ทำให้คนของเขามีรายได้เพิ่มมากขึ้น กำลังซื้อก็เพิ่มขึ้นตามมา” เขาบอกแล้วสินค้าแบบไหนของเอสเอ็มอี ที่จะมีโอกาส “รุ่ง” ในสปป.ลาว นายด่านศุลกากรช่องเม็ก เสนอไอเดียว่า มีตั้งแต่ เครื่องสำอาง ที่กำลังเติบโตอย่างมากในประเทศนี้ โดยเอสเอ็มอีสามารถทำได้ เพราะไม่ต้องใช้โรงงานใหญ่โตมากมาย เพียงแต่ต้องไปหาตลาดให้ได้ก่อนเท่านั้น ขณะที่บริการ ประเภทรับออกแบบตกแต่งภายใน ยังมีโอกาสสูง เพราะสปป.ลาวมีการก่อสร้างโครงการต่างๆ จำนวนมาก เวลาเดียวกับที่คนรวยกระเป๋าหนัก ผู้ใหญ่ในบ้านเมือง ก็เริ่มมีการสร้างบ้านใหม่ จึงยังต้องการงานออกแบบตกแต่งจากไทย ที่ได้รับการยอมรับในฝีมือ ให้ไปยกระดับความทันสมัยในเมืองลาว

ส่องการค้าชายแดนไทย-ลาว ยุคคนสวยและรวยมาก

รวมถึงไปสินค้าประเภทห้องเย็น สำหรับเก็บอาหารแช่แข็ง เนื่องจากการบริโภคของคนลาวเปลี่ยนไป มีการซื้ออาหารสำเร็จรูปมารับประทานกันมากขึ้น สินค้าแช่แข็งยังคงเติบโต ซึ่งการเข้าไปของห้องเย็น จะทำให้สินค้ากลุ่มอาหารติดตามเข้าไปเติบใหญ่ได้ในลาวด้วยที่ยังคงเติบโตดีในยุคที่คนลาว “สวยและรวยมาก” ก็คือ บริการความสวยความงาม ไม่ว่าจะเป็น สถาบันเสริมความงาม สปา เหล่านี้ ที่นักลงทุนจากไทยเข้าไปทำตลาดมาก่อนหน้าแล้ว

เอาให้ง่ายกว่าไอเดียที่นำเสนอ เขาบอกว่า ให้ลองมานั่งสังเกตดูว่า คนลาวข้ามมาซื้ออะไรจากฝั่งไทยเป็นส่วนใหญ่ ก็ให้เริ่มจากการหาสินค้าเหล่านั้นไปตอบสนอง ก่อนฝากว่า แม้จะเป็นเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิด แต่อย่าคิดว่า ทำธุรกิจกับลาวจะ “หมูๆ” เขาแนะว่า ต้องลดความเสี่ยงด้วยการไปสร้างคอนเนคชั่นกับคนที่ทำงานในส่วนราชการของลาว เพื่อที่จะได้รู้ข้อมูล มีความมั่นคง และสามารถดูแลเราได้เมื่อเกิดเหตุไม่ชอบมาพากลขึ้น เหล่านี้เป็นต้น

เมื่อสินค้าอุปโภคบริโภคยังคงเติบโต และมีโอกาสสดใสในตลาดลาว มีหรือที่ผู้ประกอบการไทยในพื้นที่จะเมินเฉยกับเรื่องนี้ ดูอย่าง “ศักรินทร์ นุติพรรณ” กรรมการผู้จัดการ “หจก.บ้านแพ้วกรุ๊ป” โครงข่าย Logistic ยักษ์ใหญ่แห่งเมืองอุบล ถ้ามองว่า AEC คือโอกาส พวกเขานี่แหล่ะ จะฉกฉวยโอกาสนั้น

ปัจจุบันบ้านแพ้วกรุ๊ป ทำธุรกิจครอบคลุมทั้ง ธุรกิจขนส่งสินค้าอุปโภคบริโภค นมโรงเรียน และศูนย์จัดจำหน่ายและศูนย์กระจายสินค้าในพื้นที่อีสานตอนล่าง โดยมีลูกค้าอยู่ในมือนับ 8 พันราย ขณะที่ในต่างประเทศ ส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภคไปยังลาวและกัมพูชา เขาบอกว่า ดูแค่ตลาดชายแดนช่องเม็ก จะเห็นเลยว่า กลุ่มวัสดุก่อสร้าง สินค้าอุปโภคบริโภค และการเกษตร เติบโตขึ้นทุกปี ปีละไม่ต่ำกว่า 10% ที่น่าสนใจคือ การบริโภคเริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากคนลาวเริ่มมีเงินมากขึ้น กำลังซื้อเริ่มดีขึ้น ขณะที่สัดส่วนการส่งสินค้า ออกไปยังลาวและกัมพูชา แม้จะยังน้อยอยู่ คือประมาณ 10% แต่เขาบอกว่า ยังมีการเติบโตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ต่างกับ ตลาดในไทย ที่กำลังซื้อหดหาย และบางสินค้าก็..ไม่โต

ส่องการค้าชายแดนไทย-ลาว ยุคคนสวยและรวยมาก

“เท่าที่ทำธุรกิจมาหลายปี ปีนี้กำลังซื้อรากหญ้าหดหายไปเยอะมาก บางสินค้าโต แต่บางสินค้าก็ไม่ เงินหมุนเวียนในตลาดน้อยลง กระทบกันทุกวงการ ธุรกิจค้าส่ง-ค้าปลีก สินค้าอุปโภคบริโภค อาจกระทบน้อยกว่าเพื่อน เพราะยังเป็นสินค้าที่จำเป็น คนยังต้องกินต้องใช้ แต่ก็ซื้อน้อยลง แต่ตลาดที่ช่วยเราก็ได้ก็คือ ส่งออก”

นั่นคือโอกาสที่เขาเห็น จากการอยู่ในจุดยุทธศาสตร์เมืองอุบล ที่อยู่ติดกับประเทศเพื่อนบ้าน จึงเตรียมหมากรบที่จะเพิ่มสัดส่วนในลาวและกัมพูชา โดยจะขยายตลาดให้มากขึ้น และเพิ่มตัวสินค้าใหม่ๆ ไปทำตลาดทั้งสองประเทศ

“เราคาดหวังกับ AEC มาก ที่ผ่านมาการค้ากับลาว และกัมพูชา ยังมีความระแวงกันอยู่บ้าง เนื่องจากกฎระเบียบยังไม่ได้ถูกแก้ไข มีคนไปเจ็บมาเยอะ เพราะความไว้เนื้อเชื่อใจนี่แหล่ะ ฉะนั้น AEC มา ก็คงมีกฎระเบียบที่คุ้มครองนักธุรกิจไทยได้มากขึ้น และมีความชัดเจนขึ้น เราเองก็จะสามารถปล่อยเครดิตได้มากขึ้น ธุรกิจก็จะเติบโตตามไปด้วย”

โอกาสที่ยังหอมหวาน นำมาสู่เป้าหมายที่จะขยับยอดขายจากปัจจุบันที่มีประมาณ 500 ล้านบาท ต่อปี มาเป็น 1 พันล้านบาท ในอีก 5 ปี ข้างหน้าให้ได้! และขยายตัวทั้งในและต่างประเทศ ผ่านกลยุทธ์ “ถูก ดี และลึก” เข้าถึงตลาดมากกว่ารายใหญ่ ทำงานเป็นระบบ เครื่องมือทันสมัย หาพาร์ทเนอร์ที่ไว้ใจได้รุกตลาดนอกบ้าน ตลอดจนบริหาร “คน และต้นทุน” ให้ดีเลิศ เพื่อยังคงทำกำไรและเติบโตได้มั่นคงในธุรกิจนี้

เอสเอ็มอีรายไหนที่ยังกังวลเรื่อง “ไม่มีทุน” ลองดูหนึ่งเกมรุกของ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ที่เพิ่งเปิดสำนักงานสาขาจังหวัดอุบลราชธานีไปสดๆ ร้อนๆ เพื่อรับการค้าชายแดน “ช่องเม็ก” และเศรษฐกิจ 5 จังหวัดอีสานตอนล่าง เพื่อให้ผู้ประกอบการย่านนี้ได้เข้าถึงแหล่งทุนได้ง่ายขึ้น โดยคาดว่า จะมีลูกค้าเอสเอ็มอีมาใช้บริการค้ำประกัน เพิ่มขึ้น 30% ยอดค้ำ 2,000 ล้านบาท เพื่อหนุนเอสเอ็มอีไทยให้ ขยายธุรกิจ พัฒนาและต่อยอด ตลอดจนเสริมสภาพคล่องธุรกิจ เพื่อรับการมาถึงของ AEC และเมืองลาวในยุคที่เขาว่า..สวยและรวยมาก

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.bangkokbiznews.com

แสดงความคิดเห็น