หลักการทำ Packaging ให้โดนใจ น่าจดจำ

เราอาจจะเคยได้ยินคำว่า อย่าตัดสินหนังสือจากหน้าปก แต่บางครั้งคนเราก็เลือกซื้อของเพียงเพราะ Packaging ที่ดูดีก็มีอยู่มาก เพราะคงปฏิเสธไม่ได้ว่า หีบห่อบรรจุภัณฑ์เป็นสิ่งแรกที่เราเห็น และอาจจะเป็นเพียงสิ่งเดียวที่เราได้สัมผัสจนกระทั่งที่จะตัดสินใจซื้อจริงๆ แล้วก็ได้

Packaging หรือการทำบรรจุภัณฑ์ ตามหลักแล้ว Packaging มีไว้เพื่อปกป้องสินค้าที่อยู่ภายใน บอกว่าสินค้าภายในคืออะไร และส่งเสริมการซื้อขาย

เราตามมาดูกันดีกว่าว่า การทำ Packaging แบบฉบับเข้าใจง่ายนั้นจะเป็นอย่างไรกันบ้าง

เตรียมข้อมูลที่จำเป็น
สำหรับการทำ Packaging แล้วนอกเหนือจากหลักการทางด้านศิลปะการออกแบบ ก็ยังมีข้อมูลและความต้องการมากมายที่เราต้องรวบรวมมา อาทิ

สินค้าของคุณคืออะไร ใครเป็นคนซื้อ ผู้คนจะซื้อสินค้านี้อย่างไร ตัวตนของแบรนด์เป็นแบบไหน มีโลโก้ สี ฟอนต์ ที่ใช้ประจำหรือเปล่า วางขายทางไหน ขายตามร้านค้าหรือขายออนไลน์ ข้อมูลที่จำเป็นต้อง มีบนฉลากหรือตัวบรรจุภัณฑ์ ฯลฯ

ทุกปัจจัยเหล่านั้นสำคัญต่อ Packaging ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น ทำให้แน่ใจก่อนว่าเรามีข้อมูลที่จำเป็นครบแล้วจริงๆ จะได้ออกแบบและเลือกใช้ Packaging ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตอบโจทย์ในเชิงความสวยงาม การใช้งาน และการตลาดได้อย่างแท้จริง

หาตัวอย่างที่โดนใจ
สำหรับผู้ประกอบการหรือเจ้าของธุรกิจบางท่านไม่ได้เป็นคนที่ออกแบบตัวบรรจุภัณฑ์เอง ก็มักจะเป็นคนเลือกโจทย์แล้วส่งต่อให้ใครบางคนทำต่อ ลองพยายามหาภาพอ้างอิง หาภาพตัวอย่างที่ถูกใจ เอาไว้ใช้เป็นตัวอย่างงานก่อนก็ได้ พยายามค้นดูให้เยอะ เพราะปัจจุบันก็มีข้อมูลเหล่านี้อย่างหลากหลาย ยิ่งมากเท่าไหร่ ยิ่งดี (แต่ก็ต้องตอบโจทย์แบรนด์ด้วยนะ!)

การหาตัวอย่างที่ถูกใจ จะได้ตอบความต้องการของเรา สื่อสารกับฝั่งคนออกแบบได้ตรงประเด็น ตรงความต้องการอีกด้วย ที่สำคัญอย่าลืมหาข้อมูลตัวอย่างของคู่แข่งเอาไว้ด้วย ศึกษาไว้ให้ดี จุดเด่นเขาคืออะไร มีอะไรที่พัฒนาได้ และจะทำให้แตกต่างได้อย่างไร

รู้จักวัสดุที่หลากหลาย
ตามหลักพื้นฐานแล้ว Package มักจะมีอยู่ 3 ส่วน คือ ด้านนอก ด้านใน และบรรจุภัณฑ์ ซึ่งแต่ละส่วนก็ทำหน้าที่แตกต่างกัน ใช้วัสดุที่แตกต่างกันไป ตัวเจ้าของธุรกิจเอง ถึงแม้ไม่ใช่ผู้ออกแบบก็ควรรู้ว่า สินค้าควรใช้วัสดุแบบไหนในการทำ Packaging เพราะมันจะส่งผลถึงภาพลักษณ์ ความเป็นตัวตน ประสิทธิภาพ และแน่นอน มันจะรวมถึงต้นทุนการผลิตอีกด้วย

เพราะตัววัสดุเป็นต้นทุนที่ต้องจ่ายอย่างต่อเนื่อง ยิ่งผลิตก็ยิ่งจ่าย สินค้าเยอะ บรรจุภัณฑ์ก็เยอะ ไปตามกัน แตกต่างจากค่าออกแบบหรือค่าคิด เพราะมักจะเป็นการจ่ายเพียงครั้งเดียวจบนั่นเอง

บางทีกลุ่มเป้าหมายหรือสินค้าของเราก็ไม่ได้ต้องการอะไรที่หรูหรามากขนาดนั้น จะทำให้ต้นทุนเราสูงเกินจำเป็นอีกด้วย วัสดุหลักๆ จะแบ่งเป็น

  • แบบคงรูป : แก้ว กระป๋อง พลาสติกแข็ง คงทนแข็งแรง ขนย้ายง่าย
  • แบบกึ่งคงรูป : ขวดพลาสติกแบบอ่อน โฟม ถูกกว่าด้านบนแต่แข็งแรงน้อยกว่า
  • แบบยืดหยุ่น? : ซอง ถุง กระดาษ ข้อดีคือ ราคาถูกมาก ดีต่อสิ่งแวดล้อม แต่ไม่แข็งแรง ไม่เหมาะแก่การลำเลียงบางประเภทเลย

ไม่ว่าจะออกแบบเอง หรือให้ใครออกแบบเราก็จะได้ไม่พลาด ได้ของดีอย่างแน่นอน

สวยงาม แต่ต้องง่าย! EASY TO HOLD / IDENTIFY / OPEN / UNDERSTAND / USE / STORE
นอกจากความสวยงามแล้ว เราก็ต้องคำนึงถึง User Experience เอาไว้ด้วย เพราะถ้ามันสวยงามจริงแต่ใช้งานยากมาก ลูกค้าก็คงซื้อแค่ครั้งเดียว แต่หากมันใช้งานง่าย ใช้งานสะดวก ลูกค้าก็มีสิทธิ์กลับมาซื้อบ่อยๆ ใช่ไหมล่ะ หลักการง่ายๆ ก็คือ

  • ถือง่าย
  • ระบุได้ง่ายว่าคืออะไร
  • เปิดง่าย
  • เข้าใจการใช้งานง่าย
  • ใช้ง่าย
  • เก็บง่าย
  • ฯลฯ

อย่าลืมนะครับ Packaging ที่ดีมักต้องตอบโจทย์ทั้งความสวยงามและการใช้งาน

ลองคิดแบบเหนือชั้นกว่า อย่าง Smart Packaging
หากเราย้อนดูหน้าที่หลักๆ ของการทำ Packaging แล้วก็คงไม่พ้นการเก็บรักษา การปกป้องสินค้า การสื่อสาร การตลาด และการขายใช่ไหมล่ะ แต่ทราบกันหรือไม่ แนวคิด Smart Packaging ก็เป็นแนวคิดที่กำลัง มาแรงเลยทีเดียว Smart Packaging เป็นเหมือนการทำให้ผลิตภัณฑ์ของเรานั้นมีประสิทธิภาพหรือมีคุณค่า มากยิ่งขึ้นจากตัวบรรจุภัณฑ์ (ไม่ใช่แค่ดูดี แต่สินค้าก็ดีขึ้นด้วย) ซึ่งแนวคิดนี้ก็จะพ่วงมาด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ ที่สำคัญแนวคิดนี้มักมากับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอีกด้วย!

อาทิ บรรจุภัณฑ์ที่ทำให้ ปลายังสดนานกว่าเก่า นมหมดอายุช้ากว่าเก่า โดยการเพิ่มชั้นพิเศษไปใน บรรจุภัณฑ์

การทำ Packaging ก็เหมือนการสร้างมูลค่าให้กับสินค้าได้อย่างแท้จริงและอาจจะเป็นกุญแจดอกสำคัญที่ทำให้สินค้าคุณขายได้ เพราะฉะนั้นไม่ว่าสินค้าคุณจะดีขนาดไหน อย่าลืมใส่ใจการทำ Packaging เช่นกัน!

แสดงความคิดเห็น