อาหารริมทาง ขายอย่างไรให้ประสบความสำเร็จ

อาหารริมทาง ขายอย่างไรให้ประสบความสำเร็จ?

อาหารริมทาง ขายอย่างไรให้ประสบความสำเร็จ

อาหารริมทาง ขายอย่างไรให้ประสบความสำเร็จ?

อาหารริมทาง อีกหนึ่งช่องทางการค้าขายอาหารที่มีเอกลักษณ์ด้านทำเลที่ตั้ง โดยจะตั้งขายอยู่ริมทาง ซึ่งมีรถยนต์สัญจรผ่านไปมา อาหารริมทางแตกต่างจากธุรกิจร้านอาหารและร้านอาหารในศูนย์การค้า แฝงไว้ด้วยความเรียบง่ายดูสบายๆ ไม่หรูหรา แต่ทว่าหลายครั้งอาหารริมทางเหล่านี้ก็สามารถสร้างรายได้อย่างเหลือเชื่อ เพราะกลุ่มคนบางกลุ่มซึ่งมีจำนวนไม่น้อย นิยมทานอาหารตามร้านขายอาหารริมทางเหล่านี้ วันนี้ทางทีมงาน SMELeader จึงถือโอกาสนำเทคนิคการขายมาฝากเพื่อการสร้างยอดขายที่เหมาะสม

อาหารริมทาง ทำความรู้จักกับธุรกิจเบื้องต้น

ทำความรู้จักกันสักนิดสำหรับร้านขายอาหารริมทาง นั่นคือพวกร้านอาหารรถเข็นที่ตั้งขายอยู่ริมทางหรือข้างถนนที่เป็นเส้นทางสัญจรผ่านไปมาของรถยนต์จำนวนมาก มีทั้งอาหารเช้าและอาหารช่วงเย็นไปจนถึงดึก อาหารริมทางยังมีให้เลือกหลากหลายเมนู เช่น ผัดไท หอยทอด ก๋วยเตี๋ยว ราดหน้า ข้าวมันไก่ ข้าวแกง และอื่นๆ ร้านอาหารริมทางถือเป็นเสน่ห์ของกรุงเทพมหานครเลยก็ว่าได้ เพราะมีรสชาติที่อร่อยถูกปาก เทียบได้กับร้านอาหารหรูๆบางแห่ง ที่สำคัญราคาถูก ได้รับความนิยมทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ ทำให้ร้านอาหารริมทางสามารถสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ ตั้งแต่หลักหมื่นไปจนถึงหลักแสน ยิ่งขยันก็ยิ่งรวยเร็ว

อาหารริมทาง ขายอย่างไรให้ประสบความสำเร็จ

อาหารริมทาง และเทคนิคขายดี

การขายอาหารริมทางมีเทคนิคอยู่ในเรื่องของการทำให้ขายดิบขายดี เพราะไม่ใช่ว่าทุกร้านจะประสบความสำเร็จทั้งหมด ได้แก่

1.ทำเลดีมีชัยไปกว่าครึ่ง
เทคนิคการขายอาหารริมทางให้ขายดีข้อแรกมุ่งไปที่ทำเลค้าขาย ทำเลถือเป็นกุญแจสำคัญเลยก็ว่าได้ ดังนั้นควรใส่ใจเป็นอันดับต้นๆ โดยให้เลือกทำเลริมทางที่มีรถยนต์สัญจรผ่านไปมาจำนวนมาก ที่สำคัญต้องจอดรถซื้อได้ง่าย ไม่ใช่ริมทางห้ามจอด หรือหาที่จอดได้ลำบากยากยิ่ง และถ้าหากจะขายบนที่ห้ามจอดจริง ที่ตรงนั้นต้องเป็นแหล่งคนหรือเป็นย่านคนเดิน ที่มีคนเดินพลุกพล่านอยู่แล้ว ไม่ต้องง้อรถยนต์แวะจอดซื้อก็ได้ จะทำให้ขายดิบขายดีอย่างแน่นอน

2.เมนูตรงกลุ่มลูกค้า
จะเลือกขายอะไรที่ไหนเป็นโจทย์สำคัญไม่แพ้กัน สิ่งที่ขายนั้นต้องสอดคล้องกับกลุ่มคนตรงนั้นด้วย ยกตัวอย่างถ้าหากเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวพลุกพล่าน ควรเจาะจงไปที่เมนูขึ้นชื่อบ้านเราที่นักท่องเที่ยวรู้จักและให้ความนิยม อย่างเช่นผัดไท เป็นต้น หรือถ้าหากขายใกล้กับบ้านเรือนทั่วไป ใกล้แหล่งที่อยู่อาศัย ให้เจาะจงเมนูที่คนไทยนิยมทานในชีวิตประจำวัน อย่างพวกก๋วยเตี๋ยว ข้าวมันไก่ ต้มเลือดหมู ส่วนผัดไทสามารถขายได้ทุกที่ทั้งขายให้คนไทย และขายให้ชาวต่างชาติ

3.คู่แข่งในพื้นเดียวกันต้องน้อยราย
ไม่ว่าจะเลือกขายอะไรก็ตามอย่าลืมคำนึงเรื่องของคู่แข่ง พยายามอย่าขายของที่คนอื่นขายอยู่ก่อนแล้ว เพราะจะทำให้เกิดการแบ่งสัดส่วนลูกค้ากัน แต่ถ้าหากหลีกเลี่ยงไม่ได้ จำเป็นที่จะต้องขายซ้ำกับคนอื่น ก็ให้คำนึงถึงความเอื้ออารี ไม่ขายตัดราคากัน ไม่แย่งลูกค้า ไม่ว่าร้ายคู่แข่ง แต่หันกลับมาพัฒนาตนเอง พัฒนาฝีมือ ดูแลความสะอาด ใส่ใจผู้บริโภค หาทางมัดใจลูกค้าดีกว่าไปเสียเวลาแย่งลูกค้ากับคู่แข่ง

4.ราคาสมเหตุสมผล
ราคายังคงเป็นเทคนิคสำคัญในการค้าขายอยู่เสมอ การขายของริมทางควรตั้งราคาขายให้แตกต่างจากร้านอาหารหรือร้านในห้างฯ ยกตัวอย่างเช่น 30-60 บาท สำหรับข้าวแกง อาหารตามสั่ง เป็นต้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประเภทและชนิดของสินค้าที่ขายด้วย ดูราคากลางและบวกเพิ่มกำไรพองาม ตั้งราคาสมเหตุสมผลกับสินค้าที่ขาย

อาหารริมทาง ขายอย่างไรให้ประสบความสำเร็จ

อาหารริมทาง วิธีเรียกลูกค้าให้หันมาสนใจ

ขอพูดถึงเทคนิคการเรียกลูกค้ากันบ้าง สำหรับร้านอาหารริมทางถ้าหากคิดจะเรียกลูกค้าให้ตบเท้าเข้ามาก็ต้องใช้องค์ประกอบหลายอย่างด้วยกัน ได้แก่

1.ป้ายชื่อร้านชัดเจน
การเปิดเป็นร้านอาหารริมทาง ต้องเรียกทั้งคนเดินและบางครั้งก็ต้องเรียกรถยนต์ให้แวะจอดซื้อด้วย ดังนั้นป้ายชื่อร้านต้องชัดเจน ตัวใหญ่ ใช้ตัวหนังสืออ่านง่าย ที่สำคัญต้องระบุชัดเจนด้วยว่าที่ร้านขายอะเมนูอะไร ป้ายชื่อร้านต้องติดไฟสว่างให้อ่านได้ง่ายด้วย

2.แสงไฟร้านสว่างจ้า
นอกจากป้ายชื่อร้านต้องชัดเจนแล้ว ร้านเองก็ต้องจัดไฟให้สว่างด้วย โดยการติดไฟให้เหมาะสม เพื่อให้เห็นองค์ประกอบร้านชัดๆ เช่น หม้อต้ม กระทะผัด ตู้กระจก และวัตถุดิบที่จัดวางอยู่ในตู้ เพราะความชัดเจนมีผลมากต่อการเรียกลูกค้าให้เข้ามาซื้อของที่ร้าน

อาหารริมทาง ขายอย่างไรให้ประสบความสำเร็จ

3.ราคาตัวใหญ่ๆ
นอกจากป้ายชื่อร้านและข้อความที่บอกว่าขายอะไรจะต้องชัดเจนแล้ว ราคาที่ขายก็ต้องตัวใหญ่ชัดเจนด้วยเช่นกัน เพื่อให้รถยนต์ที่ขับผ่านตัดสินใจแวะซื้อได้ถูก ควรเขียนช่วงราคาระบุเอาไว้ชัดเจนทั้งราคาเริ่มต้นและราคาสูงสุดของร้าน เช่น 35-40 บาท เป็นต้น

4.มีตราการันตีอะไรใส่ให้หมด
อีกหนึ่งเทคนิคร้านอาหารริมทางสำหรับเรียกลูกค้าคือการใส่ตราการันตีความอร่อยทั้งหลาย ถ้าหากมีหรือถ้าหากเป็นร้านแฟรนไชส์ มักมีให้อยู่แล้ว ซึ่งควรใส่ไว้ในป้ายชื่อร้าน ตัวใหญ่ให้เห็นชัดเจน เพื่อประกอบการตัดสินใจซื้อของลูกค้า

5.กลิ่นหอมเย้ายวนใจ
สำหรับร้านอาหารริมทาง มีการปรุงอาหารกันสดๆ บริเวณริมทาง ซึ่ง “กลิ่น” มีผลมากต่อการเรียกลูกค้า หลายครั้งที่เราเดินผ่านร้านอาหารริมทางแล้วรู้สึกหิว รู้สึกอยากทานสิ่งนั้นขึ้นมาดื้อๆ ทั้งที่ไม่ได้วางแผนมาก่อน ก็เพราะกลิ่นซึ่งเป็นตัวเรียกร้องความสนใจนั่นเอง หากเป็นไปได้ควรจัดวางพัดลมให้มีการพัดโบกกลิ่นขณะปรุงอาหารให้โชยไปในจุดที่คนเดินผ่าน

6.จัดร้านสะอาดเป็นระเบียบเรียบร้อย
เพราะร้านอาหารริมทางมีครัวโดดเด่นวางอยู่หน้าร้าน ไม่เหมือนพวกร้านอาหารที่ครัวอยู่ด้านใน ดังนั้นควรจัดวางวัตถุดิบต่างๆ ให้เป็นระเบียบ เพราะลูกค้าจะสามารถมองเห็นได้ทั้งหมด การจัดร้านที่สะอาดและเป็นระเบียบสำคัญมากต่อการตัดสินใจซื้อ

อาหารริมทาง ขายอย่างไรให้ประสบความสำเร็จ

อาหารริมทาง กับจุดเด่นและจุดด้อยของอาชีพ

จุดเด่น

  • เข้าถึงง่ายไม่ซับซ้อน เป็นร้านตั้งริมข้างทางพร้อมเก้าอี้นั่ง ไม่ต้องผ่านการเดินเข้าประตูหรือพนักงานต้อนรับเหมือนร้านอาหาร อีกทั้งยังสามารถตัดสินใจได้ง่าย ทำให้การซื้อขายคล่องตัว บรรยากาศสบายๆ สอดคล้องกับชีวิตประจำวัน ทำให้เกิดการซื้อซ้ำง่ายกว่าการเปิดร้านอาหาร
  • ราคาถูก อาหารริมทางมีราคาถูกและปริมาณสมเหตุสมผล อยู่ในงบประมาณที่สามารถเอื้อมถึงได้ทุกชนชั้นอาชีพ
  • เลือกเวลาทำงานได้ ขายอาหารริมทาง เราสามารถจัดสรรเวลาในการเปิดร้านได้ตัวเอง ว่าจะขายในช่วงใด ไม่จำเป็นต้องขายตลอดทั้งวันขึ้นอยู่กับประเภทของอาหารนั้นๆ
  • ค่าเช่าที่ไม่แพง ค่าเช่าจะมีราคาถูกกว่าขายตามแผงในตลาด ไม่มีเงื่อนไขและค่าธรรมเนียมผูกมัดเยอะ บางทำเลอาจไม่มีค่าเช่าที่เลย
  • กลุ่มลูกค้าหลากหลาย แม้จะเป็นอาหารริมทาง แต่ก็ยังเป็นที่ต้องการของทุกเพศทุกวัย ด้วยความที่บ้านเรานิยมเดินจับจ่ายซื้อของกันตามริมทาง ตลาดนัด บวกกับรสชาติของอาหารอร่อย บางร้านสะสมชื่อเสียงมาหลายปี ส่งต่อกันรุ่นสู่รุ่น และที่สำคัญมีราคาถูก จึงทำให้อาหารริมทางยังคงขายได้และขายดีต่อเนื่อง

จุดด้อย

  • การเปิดขายของริมทางเป็นอะไรที่เหนื่อย เพราะต้องขนข้าวขนของทุกวัน ไม่มีร้านหรือห้องเก็บของแบบพวกร้านอาหาร ที่สามารถเปิด-ปิดร้านได้เลย ไม่ต้องขนให้วุ่นวาย ทำให้การเปิดปิดร้านที่ใช้เวลาค่อนข้างมาก ถือเป็นจุดด้อยในการเปิดร้านอาหารริมทาง
  • ปัญหาด้านฟ้าฝน สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงบ่อยแบบไม่ทันตั้งตัวอาจไม่เอื้ออำนวยในการเปิดร้านขายของริมทาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงฝนตกหนัก ข้าวของอาจเสียหายได้ สภาพเฉอะแฉะก็ทำให้ลูกค้าเลือกที่จะไปซื้อตามซุปเปอร์มาร์เก็ตแทนที่จะมาเดินลุยน้ำ ลุยฝน
  • ต้นทุนแปรผัน บางครั้งวัตถุดิบที่ใช้อยู่เป็นประจำก็มีราคาขึ้นลงต่างกัน ในช่วงที่ต้นทุนด้านวัตถุดิบปรับราคาขึ้น ขณะที่เรายังคงต้องขายในราคาเดิม เพื่อรักษาฐานลูกค้าเอาไว้ ก็ต้องแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นในส่วนนี้

หมายเหตุ รูปภาพที่ใช้เป็นเพียงสื่อประกอบบทความเท่านั้น
ขอขอบคุณรูปภาพจาก : https://www.sbs.com.au, https://www.ytravelblog.com, http://www.abc.net.au, https://sethlui.com, Enchanting Travels

แสดงความคิดเห็น