30 เทคนิคทำธุรกิจสตาร์ทอัพ
30 เทคนิคทำธุรกิจสตาร์ทอัพ

30 เทคนิคทำธุรกิจสำหรับสตาร์ทอัพ

30 เทคนิคทำธุรกิจสตาร์ทอัพ ให้ประสบความสำเร็จ

1. ก่อนเริ่มทำธุรกิจ ผู้ประกอบการต้องประเมินจุดแข็งจุดอ่อนของตัวเองอย่างตรงไปตรงมา เมื่อพบว่าเรามีข้อบกพร่องในด้านใด ต้องพยายามหาทางแก้ปัญหาเหล่านั้น ไม่ว่าจะด้วยการไปเข้าคอร์สฝึกอบรม หาที่ปรึกษา หรือแม้กระทั่งไปทดลองทำงานกับสตาร์ทอัพเพื่อเพิ่มพูนประสบการณ์

2. อย่าเลือกทำธุรกิจใน Sector ขาลง จงมองหาและเลือกทำในธุรกิจที่กำลังเติบโต เป็นธุรกิจที่จะมีความสำคัญในยุคต่อไป ให้ระลึกไว้เสมอว่า “การว่ายทวนน้ำ ย่อมเหนื่อยกว่าว่ายตามกระแสน้ำ”

3. ไอเดียทางธุรกิจ ไม่จำเป็นต้องโดดเด่นหรือไม่เคยมีมาก่อน เพราะถ้ามันเป็นไอเดียที่เราทำแล้วตอบโจทย์ได้ดีกว่าเจ้าเดิมที่ทำอยู่ ธุรกิจก็จะสามารถเจริญเติบโตได้แม้จะเป็นไอเดียธรรมดาๆ ก็ตาม

4. พยายามเลือกธุรกิจ และตลาดที่เราเคยมีประสบการณ์ หรือเคยทำงานมาก่อน

5. หาตลาดกลุ่มเฉพาะเจาะจง (Niche Market) ที่เราคิดว่าเราจะได้เปรียบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดที่ไม่มีผู้เล่นรายใหญ่ครองอยู่

6. มันเป็นเรื่องง่ายกว่าเยอะ ที่จะขายสินค้าบริการในตลาดที่มีการรับรู้ (ตลาดที่มี Users คุ้นเคยอยู่แล้ว) มากกว่าจะเอาเวลาไปสอน (Educate) พวกเขา

7. ช่วงเริ่มต้นธุรกิจ ผู้ประกอบการต้องพยายามควบคุมค่าใช้จ่าย หรือใช้เมื่อจำเป็นจริงๆ การทำงานที่บ้าน จ้างฟรีแลนซ์หรือ Outsources โดยใช้เงินจาก Bootstrapping ให้นานที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้

8. อย่าประเมินต่ำเกินไปว่าต้องใช้เวลานานกว่าจะขายของชิ้นแรกได้ และก็ไม่ควรประเมินสูงเกินไปว่าธุรกิจจะโตติดปีกในเวลารวดเร็ว รวมทั้งอย่าประมาทกับค่าใช้จ่ายต่างๆ เพราะมันจะใช้เยอะมากในการเริ่มต้นธุรกิจ

9. ควรบริหารจัดการการเงินให้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายในธุรกิจช่วงตั้งต้นจนกว่าจะถึงจุดคุ้มทุน การประหยัดจะช่วยให้คุณยืนระยะได้นาน จนกว่าจะหาสปอนเซอร์หรือผู้ร่วมลงทุนในการสนับสนุนธุรกิจ

10. ผู้ประกอบการควรบอกครอบครัวเมื่อจะทำธุรกิจ (หรือชวนมาลงเรือลำเดียวกัน) เพราะการทำธุรกิจคือการลงทุนที่ต้องใช้เงิน ใช้เวลา แรงงาน (แรงใจ) ดังนั้น ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น (ทั้งดีและไม่ดี) ครอบครัวจะสามารถสนับสนุนและช่วยเหลือคุณได้เสมอ

11. มองหาพี่เลี้ยง (Mentor) ที่ใจดีและเต็มใจพร้อมแชร์ประสบการณ์ ให้คำแนะนำช่วยเหลือคุณ ซึ่งการติดต่อผ่านช่องทางออนไลน์หรือแชท จะเป็นช่องทางที่ไม่รบกวน Mentor มากนัก

12. จำไว้ว่า “ไม่มีผู้ประกอบการคนใด ที่ทำธุรกิจโดยไม่มีความเสี่ยงเลย”

13. เมื่อมีเป้าหมายชัดเจน ก็จงเดินไปตามทางอย่างแน่วแน่ มีวินัย และ Keep organized

14. ถ้าคุณไม่ได้เป็นคนหน้าหนา ก็จงเป็นซะ เพราะเราต้องเข้มแข็งและยอมรับคำวิจารณ์ติชม คำด่าแรงๆ จากผู้ใช้สินค้าบริการเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

15. ผู้ประกอบการไม่ควรละเลยการสร้างเครือข่ายกับผู้ประกอบการด้วยกัน ซึ่งทักษะเรื่อง Networking สำคัญมาก

16. ความทรหดอดทน พากเพียรไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคเป็นคุณสมบัติชั้นยอดของผู้ประกอบการ

17. การไม่กล้าตัดสินใจเป็นศัตรูตัวฉกาจของผู้ประกอบการ พยายามหาข้อมูลเพิ่มเติม ฝึกการคิดวิเคราะห์ หรือหาที่ปรึกษา เพื่อช่วยให้การตัดสินใจดีขึ้น

18. เรียนรู้จากความผิดพลาดและความล้มเหลวด้วยทัศนคติเชิงบวก เพื่อจะได้บอกตัวเองว่า ประสบการณ์เหล่านี้จะทำให้เราแข็งแกร่งขึ้น

19. เพิ่มความรู้และทักษะที่จำเป็นสำหรับธุรกิจให้มากขึ้น อาทิ ด้านดิจิทัล ด้านการบริหารการเงิน ด้านการขาย เนื่องจากความรู้เหล่านี้ เป็นความรู้ที่จำเป็นเบื้องต้นในการทำธุรกิจ

20. เริ่มต้นธุรกิจสตาร์ทอัพด้วยสินค้าบริการต้นแบบ หรือ MVP (Minimum Viable Product) แล้วสร้างการเติบโตจาก MVP นั้น ด้วยการพัฒนาปรับปรุงสินค้าบริการทั้งที่ขายได้และขายไม่ได้

21. อย่าตั้งราคาต่ำเกินไป จำไว้เสมอว่าลูกค้าเลือกสินค้าบริการเราเพราะความแตกต่างที่ตอบโจทย์ ไม่ใช่เพราะราคาเพียงอย่างเดียว (สินค้าบริการที่มีคุณค่าควรจะราคาและสามารถเก็บเงินได้)

22. อย่าอายที่จะขายของ ผู้ประกอบการทุกคนต้องทำตัวเป็นนักขาย ถ้าคุณอายและเป็นคนไม่กล้าขายของละก็ จงรีบไปเพิ่มทักษะด้านนี้อย่างเร่งด่วน

23. การมีแผนธุรกิจ (Business Plan) จะช่วยให้เราควบคุมดูแลการทำธุรกิจได้อย่างดี โดยเฉพาะธุรกิจเริ่มต้นที่ต้องคอยดูเรื่องงบประมาณที่ตั้งไว้กับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง เพื่อให้เข้าใจว่าเราหมดไปกับค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง จะสามารถบริหารให้มีประสิทธิภาพได้ดีขึ้นหรือไม่

24. การขายสินค้าบริการกับกลุ่มลูกค้าที่ใช้อยู่ (Existing Customer) ง่ายกว่าการหาลูกค้าใหม่มาก พยายามรักษาฐานลูกค้าเดิมเอาไว้

25. กุญแจสำคัญของการจะได้ทั้งลูกค้าใหม่และรักษาลูกค้ากลุ่มเดิม คือการเก็บข้อมูล แล้วนำมาวิเคราะห์ว่า เหตุผลอะไรที่ทำให้ลูกค้าซื้อของเรา หรือต้องการซื้อมากขึ้น

26. ในเรื่องการบริหารพนักงาน ต้องทำให้แน่ใจว่าเราบริหารได้ถูกต้อง ทำงานกับพวกเขาด้วยเหตุผล และสนับสนุนให้พวกเขารู้สึกเป็นส่วนสำคัญของธุรกิจ

27. ควบคุมกระแสเงินสดอย่างระมัดระวัง ผู้ประกอบการควรมีระบบในการวิเคราะห์และตรวจสอบอย่างใกล้ชิด จำไว้ว่า “Cash is King”

28. อย่าปล่อยเวลาในการชำระเงินของลูกค้านานเกินไป และก็อย่าพยายามเร่งการจ่ายเงินของซัพพายเออร์ (Suppliers)

29. การเจรจาต่อรองกันไม่ได้มีกฎตายตัว ผู้ประกอบการที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องนี้ มักจะมีข้อได้เปรียบในการทำธุรกิจ

30. มีแค่ 3 ทางเท่านั้นในการเพิ่มกำไรให้ธุรกิจ 1. ตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น 2. เพิ่มยอดขาย 3. เพิ่มราคา การพัฒนาปรับปรุงทั้ง 3 ด้านนี้แม้ว่าจะในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก็จะทำให้การเพิ่มกำไรของธุรกิจเป็นไปอย่างเป็นรูปธรรม

และทั้งหมดนี้คือ 30 เทคนิคธุรกิจสำหรับสตาร์ทอัพมือใหม่ ที่จะทำให้การเริ่มต้นทำธุรกิจนั้นประสบความสำเร็จได้ไม่ยาก

แหล่งที่มา – set.or.th

แสดงความคิดเห็น