อนาคตเทรนด์อาหารและเครื่องดื่มในอาเซียน
อนาคตเทรนด์อาหารและเครื่องดื่มในอาเซียน

อนาคตเทรนด์อาหาร-เครื่องดื่มในอาเซียน

ก่อนอื่นผู้ประกอบการในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มควรทำความเข้าใจว่า ในปัจจุบันอาหารไม่ได้เป็นเพียงสิ่งของเพื่อประทังชีวิตอีกต่อไป แต่กลับมีความหมายที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคในปัจจุบันต้องการมากกว่านั้น เช่น มีประโยชน์ต่อสุขภาพ สะดวก รวดเร็ว ซึ่งสำหรับปีนี้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มของอาเซียนได้สรุปเทรนด์หลักๆ ของอาหารและเครื่องดื่มปี 2020 ในงาน THAIFEX – World of Food Asia ไว้ดังนี้

1. สินค้าอาหารกลุ่มปราศจากสารปรุงแต่ง (Free Form)
สินค้ากลุ่ม free form หรือสินค้าที่ปราศจากสารปรุงแต่ง สารกันบูด น้ำตาล น้ำมันปาล์ม ไม่แต่งสี และมีไขมันต่ำ โดยปัจจุบันพบว่า สินค้ากลุ่ม free form ได้รับความนิยมในวงกว้างมากขึ้น และไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แค่ในตลาดสินค้าเฉพาะกลุ่มอีกต่อไป จะเห็นได้จากในปีที่ผ่านมา 23% ของอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มนั้นเป็นสินค้าในกลุ่ม free form และคาดว่าภายในปี 2020 มูลค่าการตลาดของ สินค้ากลุ่ม free form ทั่วโลกสูงถึง 1.46 แสนล้านบาท

2. ผลิตภัณฑ์ซูเปอร์ฟู้ด (Superfood)
คำว่า “ซูเปอร์ฟู้ด (Superfood)” เป็นคำศัพท์ที่คนนำมาใช้พูดถึงอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ เหมาะสำหรับกลุ่มคนผู้รักสุขภาพหรือผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก เนื่องจากผลิตภัณฑ์เหล่านี้อุดมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการมากมาย และบางชนิดยังช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคร้ายอีกด้วย ยกตัวอย่างเช่น แซลมอน, โยเกิร์ต, พืชตระกูลถั่วและเมล็ดพืช, ธัญพืช, ผักใบเขียว, ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่, ชาเขียว, อะโวคาโด และน้ำมันมะกอก โดย K AEC PLUS จะขอยกตัวอย่างเมล็ดเจียและคีนัว ที่จะเป็นสินค้าดาวเด่นของกลุ่มนี้ ซึ่งคาดการณ์ไว้ว่าภายในปี 2022 สินค้ากลุ่มนี้จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นมากถึง 6.53 หมื่นล้านบาท

3. อาหารโปรตีนทางเลือก
เทรนด์อาหารโปรตีนทางเลือกอาจเป็นอีกหนึ่งเทรนด์ที่ได้รับความนิยมในอนาคต เนื่องจากปัญหาสภาวะโลกร้อนและภูมิอาการทั่วโลกที่เปลี่ยนแปลงไป การผลิตอาหารต่างๆ จากแหล่งอาหารเดิมอาจไม่เพียงพอในอนาคต นักวิทยาศาสตร์จึงคิดค้นผลิตภัณฑ์ทางเลือกประเภทใหม่ขึ้นมาเพื่อเป็นสารอาหารทดแทน ซึ่งได้แก่ ผลิตภัณฑ์โปรตีนที่ทำจากพืชที่เกิดจากการปรุงแต่งและตัดต่อพันธุกรรมจนทำให้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีรสชาติเหมือนเนื้อจริงๆ

4. กระแสฟาสฟู้ดระลอกใหม่
เนื่องจากสังคมเมืองที่มีการขยายตัวผู้คนในยุคนี้เน้นอาหารที่ต้องการความเร่งด่วน แต่ในทางกลับกันคุณภาพและสารอาหารก็ถือเป็นประเด็นสำคัญที่ผู้บริโภคคำนึงถึงในยุคนี้ เพราะฉะนั้นกระแสอาหารจานด่วน (ที่ไม่ได้หมายถึงอาหารขยะเหมือนสมัยก่อน) จึงถูกจับตามองเป็นอย่างมาก ยกตัวอย่างเช่น อาหารชุดญี่ปุ่น อาหารกล่องเพื่อสุขภาพ ฯลฯ ซึ่งเทรนด์ฟาสฟู้ดในลักษณะนี้ยังสามารถส่งผลดีต่อธุรกิจอื่นๆ ในห่วงโซ่อุตสาหกรรมอาหารได้อีกด้วย เช่น ธุรกิจส่งอาหาร เป็นต้น

จะเห็นได้ว่ากระแสของอาหารและเครื่องดื่มในปี 2020 นั้นได้เปลี่ยนไป เนื่องจากผู้บริโภคฉลาดเลือกมากขึ้น และคำนึงถึงสุขภาพเป็นหลัก ผู้ประกอบการในธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มควรปรับตัวให้ทันต่อความต้องการของตลาดผู้บริโภค และควรมีความสามารถในการคิดค้นพัฒนาผลิตภัณฑ์ในรูปแบบใหม่ๆอยู่เสมอ

แสดงความคิดเห็น