ส่งออกกุ้ง
ส่งออกกุ้ง

ชี้ไทยส่งออกกุ้งลดผลผลิต2.5แสนตัน’ต่ำเป้า’

เอกชนชี้ไทยส่งออกกุ้งลด ผลผลิต2.5แสนตัน’ต่ำเป้า’ ทียูเอฟไม่กระทบส่งออกกุ้งจากบัญชีค้ามนุษย์

4 เดือนแรก ไทยส่งออกกุ้งในตลาดสหรัฐในอันดับที่ 5 เหตุกุ้งมีน้อย คาดทั้งปี 2.5 แสนตัน เท่าปีที่ผ่านมา ด้านทียูเฟอ คาดรายได้เพิ่ม 10% แนะรัฐตั้งศูนย์พันธุกรรมแห่งชาติ วิจัยและพัฒนา มั่นใจไทยเหมาะเป็นฐานผลิต

นายฤทธิรงค์ บุญมีโชติ กรรมการผู้จัดการ(กลุ่มผลิตภัณฑ์กุ้ง) บริษัทไทยยูเนี่ยนโฟรเซ่น โปรดักส์ จำกัด (มหาชน) หรือ ทียูเอฟ เปิดเผยว่าจากปัญหาที่ไทยประสบปัญหาเรื่องกุ้งตายด่วน มา 2 ปีเต็ม ส่งผลให้การผลิตกุ้งในปีนี้คาดว่าจะไม่เป็นไปตามเป้าที่กำหนดไว้ 3 แสนตัน

“ผลผลิตกุ้งช่วงครึ่งปีแรก ต่ำกว่าปีช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมามาก โดยเป็นผลมาจากอากาศหนาวทำให้กุ้งโตช้า ในขณะที่การผลิตกุ้งในครึ่งปีหลัง ซึ่งภูมิอากาศเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว เกษตรมีการลงลูกกุ้งมากขึ้น และเป็นช่วงสินค้ากุ้งออกสู่ตลาดมาก”

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากโรคอีเอ็มเอสยังระบาด ทำให้เกษตรกรไม่กล้าเสี่ยงลงลูกกุ้ง แม้ราคาจะจูงใจ ดังนั้นยังไม่ชัดเจนว่าจะมีปริมาณที่เพิ่มขึ้นมากน้อยเพียงใด และมีความเป็นไปได้ที่ผลผลิตปีนี้จะใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมาคือ 2.5 แสนตัน ซึ่งจากที่ผลผลิตกุ้งของไทยในช่วงครึ่งปีแรกมีน้อยนั้น ทำให้การส่งออกกุ้งในตลาดสหรัฐอเมริกาในช่วง 4 เดือนแรก ไทยลดลงเป็นอันดับที่ 5 จำนวน 38 ล้านปอนด์ รองจาก การส่งออกของอินโดนีเซีย 70 ล้านปอนด์ เอกวาดอร์ 63 ล้านปอนด์ อินเดีย 59 ล้านปอนด์ และเวียดนาม 47 ล้านปอนด์

คาดว่าการส่งออกทั้งปี ไทยจะยังอยู่อันดับที่ 4-5 นี้เช่นเดิม ส่วนประเทศที่ส่งออกตลาดสูงสุดคาดว่ายังจะเป็น อินเดีย อินโดนีเซีย และเอกวาดอร์ แต่ต้องดูปริมาณกุ้งเอเชียที่จะออกสู่ตลาดในช่วงไตรมาสที่ 3-4 นี้ด้วย

ในส่วนของทียูเอฟ มีรายได้จากอุตสาหกรรมกุ้งรวม 25 % ของยอดขายทั้งหมด หรือประมาณ 30,000 ล้านบาทในปีที่ผ่านมา คาดว่าในปีนี้รายได้จะเพิ่มขึ้น 10 % แม้ว่าผลผลิตในประเทศจะมีน้อย และเกิดปัญหาที่ไทยถูกจัดลำดับสถานการณ์การค้ามนุษย์และการใช้แรงงานผิดกฎหมายจากสหรัฐฯ ซึ่งคาดว่าจะส่งผลกระทบกับบริษัทน้อยมาก เนื่องจากมีความเข้าใจอย่างดีกับผู้นำเข้า ในขณะที่ทียูเอฟมีฐานการผลิตสินค้ากุ้งในสหรัฐฯที่สามารถทำรายได้ดี คาดว่าทั้งหมดจะทำให้ยอดขายในธุรกิจกุ้งของไทยเป็นไปตามเป้าหมาย

นายฤทธิรงค์ กล่าวว่า จากประสบการณ์การเลี้ยงกุ้งของเกษตรกรไทยที่มีการปรับตัวมาตั้งแต่การเลี้ยงกุ้งกุลาดำ สู่การเลี่ยงกุ้งขาวแวนนาไม จนได้ผลผลิตสูงสุดถึง 6 แสนตัน โดยไม่มีการขยายพื้นที่ รวมทั้งเป็นที่ยอมรับของตลาดในด้านคุณภาพ ความปลอดภัย ดังนั้น คาดว่าเกษตรกรไทยจะใช้เวลาแก้ไขปัญหานี้อย่างน้อยปีหน้าสถานการณ์กุ้งจะดีขึ้น

แต่ทั้งนี้ภาครัฐจะต้องเข้ามาช่วยเหลือในด้านการศึกษาวิจัยพันธุ์กุ้ง พ่อ-แม่พันธุ์กุ้ง ที่ไทยยังขาดแคลน และปัจจุบันต้องนำเข้า ทั้งนี้เพื่อให้การพัฒนาอุตสาหกรรมกุ้งเป็นไปอย่างยั่งยืน เนื่องจากไทยมีความพร้อมในลักษณะภูมิศาสตร์ที่สามารถพัฒนาเป็นศูนย์กลางการผลิต (HUP)สินค้ากุ้งและประมงในภูมิภาคเอเชีย และโลกได้

แต่การที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) อนุมัติงบประมาณเพื่อใช้วิจัย พัฒนาพ่อ-แม่พันธุ์กุ้งเพียง 90 ล้านบาทจากที่เสนอไป 200 ล้านบาท ซึ่งปรับลดลงแล้วจากเดิม 400 ล้านบาท นั้นถือเป็นงบประมาณที่น้อยมาก เมื่อเทียบกับมูลค่าการส่งออกกุ้งมากถึงปีละ 100,000 ล้านบาท อีกทั้งยังมีส่วนช่วยสร้างเศรษฐกิจต่อเนื่องอื่นๆในประเทศได้ด้วย การสนับสนุนงบประมาณด้านการวิจัยพัฒนาปีละ2,000 ล้านบาทยังถือว่าน้อยเกินไป

สำหรับการปรับเปลี่ยนพันธุ์กุ้งจากปัจจุบันที่ใช้กุ้งขาวแวนนาไม นั้นมีความเป็นไปได้ ซึ่งต้องเป็นพันธุ์ที่ต้านทานโรคได้มากขึ้น ในประเทศไทยเคยมีการพัฒนากุ้งสีฟ้า แต่พบว่าอัตราการให้เนื้อน้อยกว่า หัวกุ้งมีขนาดใหญ่กว่าเมื่อเทียบกับกุ้งขาวแวนนาไม แต่เล็กกว่ากุ้งกุลาดำให้ผลผลิตต่อไร่ไม่มาก ทำให้ไม่เป็นที่นิยมในการเพาะเลี้ยง และผู้ประกอบการที่รับซื้อ ดังนั้นการปรับเปลี่ยนพันธุ์กุ้งยังต้องใช้ระยะเวลาในการศึกษา

“ในแนวความคิดของผม เห็นว่าไทยทีมีความได้เปรียบด้านลักษณะภูมิศาสตร์การผลิตสินค้ากุ้งอยู่แล้ว รัฐบาลโดยกรมประมงควรมีการจัดตั้งศูนย์พันธุกรรมแห่งชาติ(NBC) ขึ้นเพื่อรวบรวมพันธุ์กุ้งทั้งหมด และวิจัยและคัดสรรพันธุ์กุ้งที่มีความเหมาะสมในพื้นที่ ซึ่งแต่ละปีใช้เงินไม่มาก แต่ต้องมีการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง โดยส่วนตัวหากใช้เงินมากถึง 1,000-2,000 ล้านบาทก็ยังคุ้ม หากจะเห็นอินโวชั่นที่ดีที่สุด เกิดขึ้นและสร้างรายได้ให้กับประเทศเป็นโปรดักส์แชมเปี้ยนที่ไม่มีใครเทียบได้ “ นายฤทธิรงค์ กล่าว

นายฤทธิรงค์ กล่าวว่า มาเลเซีย ที่ปัจจุบันการเลี้ยงกุ้งยังมีไม่มาก แต่ที่ผ่านมารัฐบาลของมาเลเซียมีแผนพัฒนาและพร้อมลงทุนอุตสาหกรรมกุ้งในประเทศ ให้ทัดเทียมกับเพื่อนบ้าน คือไทย อินโดนีเซีย และอินเดีย จึงมีการเชิญชวนให้ทียูเอฟเข้าไปลงทุน ซึ่งการศึกษาเบื้องต้นพบว่ามาเลเซียมีความพร้อมด้านลักษณะภูมิศาสตร์จริง แต่ขาดแคลนด้านแรงงาน ดังนั้น ยังไม่เป็นที่สนใจเข้าไปลงทุน

ขอบคุณข้อมูลจาก กรุงเทพธุรกิจ

แสดงความคิดเห็น