อาชีพสร้างรายได้
อาชีพสร้างรายได้

10 อาชีพสร้างรายได้ หายจน โดยศูนย์วิจัย GHB

อาชีพสร้างรายได้
อาชีพสร้างรายได้

อาชีพสร้างรายได้  ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ ธุรกิจและเศรษฐกิจฐานราก ธนาคารออมสิน ได้วิเคราะห์และรวบรวมอาชีพที่เป็นโอกาสในการสร้างรายได้ให้กับประชาชน โดยอาชีพเหล่านี้เป็นอาชีพที่เข้าถึงได้ง่ายภายใต้เงินทุนที่ไม่สูงมากนัก หรือแม้บางอาชีพเป็นอาชีพที่ต้องใช้ทักษะเฉพาะ ผู้สนใจก็สามารถเข้ารับการอบรมระยะสั้นโดยใช้ระยะเวลาไม่นานและที่สำคัญคือ เป็นอาชีพที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในยุคปัจจุบันและในอนาคต

อาชีพที่ 1 พนักงานรับ-ส่งสินค้า/พัสดุการซื้อขายสินค้าและบริการอิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-commerce ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยในปี 2560 มีมูลค่าประมาณ 2.8 ล้านล้านบาท มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยประมาณร้อยละ 9.8 ต่อปี และที่น่าสนใจเป็นอย่างมากคือ มีการขนส่งพัสดุสูงสุดถึง 2 ล้านชิ้นต่อวัน และหากพิจารณาธุรกิจ E-commerce ที่เป็นการซื้อขายให้แก่ลูกค้ารายย่อย หรือ E-Commerce แบบ B2C พบว่ามีการเติบโตทางด้านมูลค่า จาก 703,332 ล้านบาท ในปี 2559 เป็น 812,613 ล้านบาท ในปี 2560 หรือเติบโตร้อยละ 16 เนื่องจากการเข้าถึงและการสื่อสารผ่านอินเทอร์เน็ตทำได้ง่ายขึ้น ประกอบกับ Life Style ของคนยุคปัจจุบันที่ชอบความรวดเร็ว สะดวกสบายทำให้คนไทยมีการใช้งานอินเทอร์เน็ตและคุ้นเคยกับการสั่งซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มมากขึ้นทำให้อาชีพที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจค้าขายออนไลน์อย่างการรับ-ส่งสินค้า/พัสดุ เติบโตและเป็นที่ต้องการอย่างมาก ซึ่งในปัจจุบัน มีบริการรับสินค้า/พัสดุถึงบ้าน และนำส่งถึงปลายทางได้ภายในวันเดียว หรือแม้กระทั่งภายใน 1 ชั่วโมงด้วยบริการขนส่งในรูปแบบมอเตอร์ไซค์อีกทั้งการขนส่งก็ยังครอบคลุมสินค้า/พัสดุที่ต้องรักษาอุณหภูมิหรือสินค้าที่เน่าเสียง่าย ทำให้ศักยภาพด้านการขนส่งถูกเปิดกว้างออกไปอย่างไร้ขีดจำกัดมากขึ้นเรื่อยๆ

อาชีพที่ 2 คนดูแลผู้สูงอายุจากการที่ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุไปแล้วเมื่อปี 2548 โดยมีผู้สูงอายุ (อายุ 65 ปี ขึ้นไป) ประมาณ 6.5 ล้านราย หรือประมาณร้อยละ 7 ของประชากรทั้งหมด และกำลังจะเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์หรือมีสัดส่วนผู้สูงอายุราว 9.2 ล้านราย หรือคิดเป็นร้อยละ 14 ของประชากรทั้งหมดในปี 2564 และสัดส่วนดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นเป็น 12.8 ล้านราย หรือคิดเป็นร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด จนไทยกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มที่ในปี 2583 ซึ่งจากแนวโน้มดังกล่าวทำให้ธุรกิจ Nursing Home รวมถึงครัวเรือนที่มีผู้สูงอายุ ต้องการคนดูแลมากขึ้น ซึ่งโดยทั่วไป คนดูแลผู้สูงอายุจะต้องจบไม่ต่ำกว่า ม.ต้น และผ่านการอบรมหลักสูตรการดูแลผู้สูงอายุไม่น้อยกว่า 70 ชั่วโมง ซึ่งหลักสูตรดังกล่าวเป็นหลักสูตรระยะสั้นที่สามารถเรียนรู้ได้โดยใช้ระยะเวลาและเงินทุนที่ไม่สูงมากนัก

อาชีพที่ 3 ผู้ให้บริการด้านสุขภาพและความงาม จากแนวโน้มที่คนส่วนใหญ่หันมารักสุขภาพและดูแลตัวเองมากขึ้น  ประกอบกับการที่ประเทศได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทำให้จำนวนผู้ที่ต้องการการดูแลด้านสุขภาพและความงาม โดยเฉพาะผิวพรรณและรักษาริ้วรอยมีจำนวนมากขึ้นเช่นเดียวกัน โดยในปี 2558 มูลค่าตลาดเสริมความงามของไทยมีสูงถึง 23,000-36,000 ล้านบาท ซึ่งจากแนวโน้มความต้องการดังกล่าว ทำให้ธุรกิจต้องการบุคลากรรองรับอย่างต่อเนื่อง โดยอาชีพที่สามารถสร้างรายได้เช่น ผู้ช่วยแพทย์/ผู้ช่วยพยาบาล/ผู้ช่วยผู้ป่วย ซึ่งโดยทั่วไปผู้ที่สนใจสามารถเรียนเพิ่มเติมจากวุฒิ ม.3 อีกราว 6 เดือน ก็จะได้รับประกาศนียบัตรและสามารถปฏิบัติงานได้ นอกจากนี้ ยังรวมถึงพนักงานทำทรีตเม้นต์ตามคลินิคความงาม ซึ่งแรงงานในกลุ่มนี้ไม่จำเป็นต้องมีประกาศนียบัตร เพียงแค่ได้รับการฝึกอบรมจากคลินิค ก็สามารถปฏิบัติงานได้

อาชีพที่ 4 ช่างติดตั้ง/ซ่อมบำรุงแอร์จากการที่เมืองไทยมีอากาศร้อนอบอ้าวเกือบทั้งปี ยิ่งช่วงหน้าร้อน ปริมาณการใช้ไฟฟ้าจะพุ่งสูงขึ้น ซึ่งจากข้อมูลพบว่าปริมาณครัวเรือนที่ติดแอร์ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในระยะเวลาสิบกว่าปีที่ผ่านมา จาก 1.9 ล้านเครื่อง ในปี 2543 เพิ่มเป็น 7.6 ล้านเครื่อง ในปี 2557 ทั้งนี้ เป็นการติดตั้งแอร์ใหม่เฉลี่ยปีละ 1.6-1.8 ล้านเครื่อง เติบโตราวร้อยละ 10 ต่อปี ซึ่งจำนวนแอร์ที่มากขึ้น ประกอบกับการใช้งานอย่างหนัก ส่งผลให้ช่างติดตั้งและซ่อมบำรุงแอร์เป็นอาชีพที่ยังมีความต้องการสูง เพราะนอกจากจะมีการติดตั้งแอร์ใหม่เพิ่มขึ้นทุกปีแล้ว แอร์เก่าก็ต้องการการดูแล ไม่ว่าจะเป็นการล้างแอร์เป็นประจำทุกปี รวมถึงการซ่อมบำรุงตลอดอายุการใช้งาน

อาชีพที่ 5 ช่างติดตั้ง/ซ่อมบำรุงด้านการสื่อสาร (Internet) จากการที่เทคโนโลยีมีความก้าวหน้า และมีราคาถูกลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตที่ช่วยสร้างความสะดวกสบายให้กับผู้บริโภค ส่งผลให้ความต้องการติดตั้งอินเทอร์เน็ตเพื่อใช้ในการสื่อสารและเข้าถึงข้อมูลมีเพิ่มสูงขึ้น โดยจากข้อมูลพบว่า จำนวนผู้ใช้เน็ตบ้านได้เพิ่มขึ้นจาก 5.1 ล้านราย ในปี 2556  เป็น 6.4 ล้านราย ในปี 2558 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 25 และคาดว่าหลังสิ้นปี 2560 ที่โครงการเน็ตประชารัฐ ได้เปิดให้บริการฟรีอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงในหมู่บ้านได้ครบตามแผนงานทั้งหมด 27,400 หมู่บ้าน จะทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้มากขึ้น และหลายพื้นที่ หลายครัวเรือนต้องการเพิ่มจุดรับสัญญาณ หรือขยาย/เพิ่มความแรงของสัญญาณ ด้วยการเดินสาย LAN เพิ่ม Access Point หรือติดตั้ง Repeater เพื่อขยายให้สัญญาณสามารถกระจายไปยังครัวเรือนหรือพื้นที่ที่ต้องการ ด้วยเหตุดังกล่าวจึงทำให้ความต้องการช่างที่มีทักษะด้านการติดตั้ง/ซ่อมบำรุงด้านการสื่อสารมีเพิ่มมากขึ้นในอนาคต

อาชีพที่ 6 ช่างซ่อมรถยนต์/รถจักรยานยนต์ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คนไทยซื้อรถเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีจำนวนรถยนต์และรถจักรยานยนต์จดทะเบียนเพิ่มขึ้นจาก 27.5 ล้านคัน ในปี 2553 เป็น 37.1 ล้านคัน ในปี 2560 หรือเติบโตร้อยละ 35 ทำให้มีความต้องการช่างซ่อมบำรุงมารองรับ เนื่องจากรถต้องมีการดูแลและซ่อมแซมตลอดอายุการใช้งาน โดยเฉพาะช่างซ่อมรถจักรยานยนต์เป็นอาชีพที่ใช้เงินลงทุนไม่มาก สามารถพัฒนาทักษะหรือเรียนรู้ได้จากการฝึกฝนและประสบการณ์ แต่อย่างไรก็ตาม ช่างยุคใหม่ต้องเตรียมพร้อมและติดตามเทคโนโลยีด้านยานยนต์ที่หลากหลายขึ้นในอนาคต เช่น รถยนต์ไฟฟ้า ที่ต่อไปจะไม่ใช้น้ำมัน แต่จะใช้การชาร์จพลังงานโดยการเสียบปลั๊ก (Plug-in) รถยนต์พลังงานไฮโดรเจน และรถยนต์ไฮบริดที่สามารถสลับระบบการใช้พลังงานได้หลายประเภท เป็นต้น

อาชีพที่ 7 แม่บ้านทำความสะอาดตามอาคารชุด/อาคารสำนักงาน โดยปัจจัยสนับสนุนไม่ได้มีเพียงแค่กลุ่มผู้อยู่อาศัยในอาคารชุดเท่านั้น แต่ยังรวมถึงอาคารสำนักงาน ที่ต่างมีความต้องการแม่บ้านทำความสะอาด โดยจากข้อมูลพบว่า ปริมาณความต้องการอาคารชุด ได้เติบโตจาก 354,137 ยูนิต ในไตรมาสที่ 3 ปี 2559 เป็น 386,176 ยูนิต ในไตรมาสที่ 3 ปี 2560 ส่วนความต้องการพื้นที่อาคารสำนักงาน ปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน จาก 7.8 ล้าน ตร.ม. ในไตรมาสที่ 3 ปี 2559 เป็น 8.0 ล้าน ตร.ม. ในไตรมาสที่ 3 ปี 2560 ซึ่งปัจจัยจำนวนอาคารชุดและอาคารสำนักงานที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นดังกล่าว ประกอบกับปัจจัยในด้านไลฟ์สไตล์ของคนยุคใหม่ที่ส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีเวลา ทำให้บริการทำความสะอาดตามที่อยู่อาศัยเป็นที่ต้องการมากขึ้น และที่สำคัญคืออาชีพนี้เป็นอาชีพที่ไม่ต้องใช้เงินลงทุนสูง ส่วนใหญ่จะเป็นการใช้ทักษะในด้านความละเอียดเรียบร้อยเป็นหลัก

อาชีพที่ 8 ช่างซ่อมไฟฟ้าและประปา ถือเป็นอาชีพที่รายได้ดี เนื่องจากมีการคิดค่าติดตั้งหรือค่าซ่อมเป็นรายจุด เช่น  หากเพิ่มจุดเสียบปลั๊กไฟ จะคิดประมาณ 500-1,000 บาทต่อจุด และติดตั้งพัดลมเพดานหรือฝาผนัง ราวๆ 1,000-1,500 บาทต่อจุด ซึ่งปัจจุบันตลาดมีความต้องการแรงงานเหล่านี้อย่างมากเนื่องจากสิ่งปลูกสร้างที่เพิ่มขึ้น และที่อยู่อาศัยต้องมีการบำรุงรักษาอย่างต่อเนื่อง แต่อย่างไรก็ตามแรงงานจะต้องมีทักษะเฉพาะและฝีมือ

อาชีพที่ 9 ช่างตัดผม อาชีพนี้ คนส่วนใหญ่ยังต้องใช้บริการ ทั้งเด็ก และผู้ใหญ่ และในปัจจุบัน ไม่ใช่แค่บริการ สระ ตัด  ดัด ย้อม เท่านั้น แต่บางร้านได้ปรับการให้บริการรองรับ Life Style ของคนที่เร่งรีบ โดยรับเซตผมก่อนไปทำงาน ซึ่งจะใช้เวลารวดเร็วประมาณ 5-10 นาที คิดค่าบริการราว 60-100 บาท/หัว ถือเป็นบริการที่ได้รับความนิยมจากคนทำงานอย่างมาก

อาชีพที่ 10 ช่างแก้ไข/ตัดเย็บเสื้อผ้า แม้ในปัจจุบัน ราคาเสื้อผ้ามีหลายระดับราคาให้เลือกซื้อ ทำให้คนไม่ค่อยนิยมเอาเสื้อผ้ามาซ่อม ปะ ชุน เหมือนเมื่อก่อน เพราะราคาเสื้อผ้าถูกลงจนซื้อใหม่ดีกว่า แต่ความต้องการในรูปแบบอื่นยังคงมีอยู่  ทั้งซื้อมาแล้วไม่พอดี ต้องเอามาตัดขา แก้ทรง เปลี่ยนซิป จึงทำให้ช่างรับแก้ไข/ตัดเย็บเสื้อผ้าจึงยังได้รับความนิยมและมีลูกค้าอย่างต่อเนื่อง

อาชีพสร้างรายได้ ที่กล่าวมาอย่างไรก็ตาม หลายครั้งเราเห็นคนที่ทำอาชีพเดียวกัน บางคนทำแล้วเจ๋ง แต่ทำไมบางคนทำแล้วเจ๊ง สิ่งสำคัญที่ทำให้คนประสบความสำเร็จต่างกัน คือ ประสบการณ์ เทคนิค ความเชี่ยวชาญในงานของตัวเอง การใส่ใจเรียนรู้เพิ่มเติม รู้จักสังเกตว่าลูกค้าต้องการอะไร และประยุกต์งานของตัวเองให้ตอบโจทย์ความต้องการนั้นให้ได้

ขอบคุณข้อมูลจาก GSB Research

แสดงความคิดเห็น