ส่งออกกุ้ง กับสถานะ Tier 3 ในรายงานการค้ามนุษย์ของสหรัฐฯ
ส่งออกกุ้ง กับสถานะ Tier 3 ในรายงานการค้ามนุษย์ของสหรัฐฯ

ส่งออกกุ้ง กับสถานะ Tier 3 ในรายงานการค้ามนุษย์ของสหรัฐฯ

 ส่งออกกุ้ง กับสถานะ Tier 3 ในรายงานการค้ามนุษย์ของสหรัฐฯ

ส่งออกกุ้ง กับสถานะ Tier 3 ในรายงานการค้ามนุษย์ของสหรัฐฯ

จากปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบกุ้งที่ลากยาวมานับตั้งแต่ปลายปี 2555 ต่อปี 2556 จนถึงปัจจุบันล่วงเข้าปลายปี 2557 สถานการณ์ก็ยังไม่สามารถที่จะคลี่คลายกลับมาสู่ภาวะปกติได้ ถึงแม้ว่าทุกฝ่ายจะพยายามเร่งแก้ไข ส่งผลให้การส่งออกกุ้ง (สด แช่เย็นแช่แข็ง/ แห้ง/ ต้มสุกแช่เย็น/ กระป๋อง/ แปรรูป) ของไทยในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2557 บันทึกการหดตัวลงร้อยละ 17 จากช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) ด้วยมูลค่า 1,006 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเนื่องจากในปี 2556 ที่หดตัวสูงถึงเกือบร้อยละ 27 ทั้งนี้ ภาพการหดตัวในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ เกิดขึ้นในทุกตลาดส่งออกสำคัญของไทย ไม่ว่าจะเป็น สหรัฐฯ (หดตัวร้อยละ 2.1 YoY) ญี่ปุ่น (หดตัวร้อยละ 33 YoY) สหภาพยุโรป (หดตัวร้อยละ 18.8 YoY) และอาเซียน (หดตัวร้อยละ 31.3 YoY) โดยมีเพียงบางตลาด อาทิ เยอรมนี เกาหลีใต้ และฮ่องกง ที่มูลค่าการส่งออกยังขยายตัวได้ร้อยละ 10.2 YoY ร้อยละ 9.7 YoY และร้อยละ 18.7 YoY ตามลำดับ

อีกทั้ง เป็นที่สังเกตว่า ส่วนแบ่งสินค้ากุ้งของไทยที่ส่งออกไปในตลาดหลัก คือ สหรัฐฯ มีทิศทางที่ปรับลดลงมาอย่างต่อเนื่องตามลำดับ จากที่สหรัฐฯ เคยนำเข้ากุ้งจากไทยด้วยสัดส่วนร้อยละ 34 จากการนำเข้าสินค้ากุ้งจากทั่วโลกในปี 2554 ส่วนแบ่งของไทยในตลาดสหรัฐฯ ได้ลดลงมาเป็นร้อยละ 27 ในปี 2555 ร้อยละ 20 ในปี 2556 และล่าสุดอยู่ที่ร้อยละ 11 ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2557 ขณะที่คู่แข่ง ทั้งอินโดนีเซีย เวียดนาม และเอกวาดอร์มีส่วนแบ่งในตลาดสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นนัยว่า ไทยได้สูญเสียส่วนแบ่งสินค้ากุ้งในตลาดสหรัฐฯ ไปอย่างมาก เพราะปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบเป็นหลัก (อนึ่ง สหรัฐฯ นับเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของสินค้ากุ้งของไทย)

ส่งออกกุ้ง กับสถานะ Tier 3 ในรายงานการค้ามนุษย์ของสหรัฐฯ

เมื่อเข้าสู่ช่วงกลางปี 2557 ก็มีปัจจัยลบที่เข้ามาสร้างแรงกดดันเพิ่มเติมให้กับอุตสาหกรรมกุ้งส่งออกของไทย นั่นคือ การที่ไทยถูกปรับลดสถานะเป็น Tier 3 ในรายงานการค้ามนุษย์ของสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 20 มิถุนายนที่ผ่านมา แม้ว่าตลอดระยะเวลาที่ไทยอยู่ในสถานะ Tier 2 Watch List ตั้งแต่ปี 2553 จะมีความพยายามจากทุกภาคส่วนในการดูแลแก้ไขประเด็นด้านแรงงานและให้ข้อมูลต่อคู่ค้ามาอย่างต่อเนื่องก็ตาม ทั้งนี้ แม้จะเริ่มเข้าสู่ฤดูการส่งออกในช่วงครึ่งปีหลัง แต่ประเด็นด้านแรงงานที่สร้างแรงกดดันเพิ่มเติมปัจจัยลบหลักที่มีอยู่เดิม คงจะทำให้ภาพการฟื้นตัวของการส่งออกสินค้ากุ้งของไทยจำเป็นต้องเลื่อนออกไปจากเดิมและอาจจะไม่สามารถเกิดขึ้นอย่างชัดเจนได้ภายในปี 2557 นี้

ส่งออกกุ้ง กับสถานะ Tier 3 ในรายงานการค้ามนุษย์ของสหรัฐฯ
ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงมีมุมมองที่ระมัดระวังโดยประเมินว่า การส่งออกกุ้งของไทยในปี 2557 จะยังคงหดตัวต่อเนื่องอีกราวร้อยละ 20 เพราะแม้ความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ผู้ผลิต และผู้ส่งออก ในการเร่งชี้แจงทำความเข้าใจต่อคู่ค้า จะช่วยบรรเทาความสูญเสียที่เกิดขึ้นต่อความเชื่อมั่นในภาพลักษณ์สินค้าไทยในสายตาผู้นำเข้า/ผู้ซื้อในตลาดต่างประเทศให้คลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้นได้ในระดับหนึ่ง แต่กว่าที่สถานการณ์ด้านวัตถุดิบจะฟื้นตัวอย่างชัดเจนจนกลับสู่ภาวะปกติได้ น่าจะไปเกิดขึ้นในปี 2558 ขณะเดียวกัน การยกสถานะไทยในรายงานการค้ามนุษย์ของสหรัฐฯ ให้ดีขึ้น ก็คาดว่าอาจจะต้องรอไปจนถึงช่วงกลางปี 2558

ส่งออกกุ้ง กับสถานะ Tier 3 ในรายงานการค้ามนุษย์ของสหรัฐฯ
ส่งออกกุ้ง กับสถานะ Tier 3 ในรายงานการค้ามนุษย์ของสหรัฐฯ

สำหรับการดำเนินมาตรการแก้ปัญหาด้านแรงงานและการขาดแคลนวัตถุดิบกุ้งของภาครัฐในปัจจุบัน มีความเป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยมีความคืบหน้าดังต่อไปนี้

ดำเนินการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์และจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวร่วมกับภาคส่วนอื่นๆ ได้แก่ การเปิดศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) เพื่อลดขั้นตอนในการดำเนินการและลดค่าใช้จ่ายในการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าว ตรวจสอบสถานประกอบการและเรือประมง แก้ไขกฎหมายป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการใช้แนวทางการปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดี (Good Labor Practice: GLP) เป็นต้น

เร่งชี้แจงเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศคู่ค้า เมื่อช่วงวันที่ 19-24 กรกฎาคมที่ผ่านมา กระทรวงการต่างประเทศได้เดินทางไปสหรัฐฯ เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจต่อทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ผู้ประกอบการรายใหญ่ ตลอดจนสมาคมผู้ค้าปลีก เกี่ยวกับสถานการณ์การค้ามนุษย์ของไทยในปัจจุบัน ตลอดจนแนวทางการแก้ไข และต่อจากนี้จะมีการจัดประชุมเพื่อรายงานความคืบหน้าเป็นระยะ นอกจากนี้ ในการประชุมระหว่างประเทศในช่วงที่เหลือของปี ภาครัฐจะถือโอกาสชี้แจงประเด็นแรงงานให้กับประเทศอื่นๆ อีกหลายประเทศ

ภาครัฐอนุมัติวงเงิน 16.095 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการควบคุมและลดความสูญเสียของสินค้ากุ้งทะเลจากโรค EMS อย่างเร่งด่วน ด้วยการเร่งเพาะพันธุ์ลูกกุ้งทะเลในประเทศเพื่อรองรับการผลิตในปีต่อไป โดยล่าสุด พ่อแม่พันธุ์กุ้งที่กรมประมงสั่งนำเข้ามาจำนวน 1,500 คู่ มีกำหนดถึงประเทศไทยภายในเดือนสิงหาคม 300 คู่ และภายในเดือนกันยายนอีก 1,200 คู่ ส่วนความพร้อมของโรงเพาะฟักที่จะดำเนินการผลิตลูกพันธุ์กุ้งทะเลของกรมประมงและของภาคเอกชน อยู่ระหว่างการตรวจประเมินศักยภาพ คุณภาพ และความพร้อมโดยเจ้าหน้าที่ของกรมประมง นอกจากนี้ จะมีการขอสนับสนุนรายจ่ายจากงบกลาง วงเงินอีก 80 ล้านบาท เพื่อดำเนินการ 3 กิจกรรม ประกอบด้วย 1) การนำเข้าพ่อแม่พันธุ์และผลิตลูกพันธ์กุ้งคุณภาพ พร้อมซ่อมแซมโรงเพาะฟักของกรมประมง 10 แห่ง เพื่อเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์และผลิตลูกพันธุ์กุ้งขาวคุณภาพให้แก่เกษตรกร ตลอดจนมุ่งหวังที่จะผลิตพ่อแม่พันธุ์กุ้ง 100,000 ตัว ในอนาคต 2) เพิ่มประสิทธิภาพระบบคัดกรอง ป้องกัน เฝ้าระวังโรคกุ้งเพื่อยับยั้ง EMS ด้วยการเพิ่มศักยภาพห้องปฏิบัติการ เพื่อให้บริการตรวจคัดกรองโรคกุ้งทะเลแก่เกษตรกร และเพิ่มศักยภาพบุคลากรเพื่อให้บริการตรวจวิเคราะห์และวินิจฉัยโรค EMS 3) เพิ่มกำลังการผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์ ปม.1 สำหรับแจกจ่ายให้เกษตรกรทั่วประเทศ เพื่อฟื้นฟูแหล่งเลี้ยงกุ้งทะเล

ผลกระทบและแนวทางการปรับตัวของผู้ประกอบการ SMEs

หากไทยไม่สามารถแก้ปัญหาด้านแรงงานได้อย่างเป็นรูปธรรม อาจเป็นประเด็นที่คู่ค้าในตลาดโลกนำมาใช้เป็นมาตรการกีดกันที่มิใช่ภาษี (Non-tariff measures) ซึ่งจะเป็นปัจจัยกดดันการส่งออกกุ้งเพิ่มเติม จากเดิมที่ไทยมีปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบกุ้งอยู่แล้ว รวมไปถึงกระทบต่อผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมประมงไทยตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่มีการใช้แรงงานอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะแรงงานไร้ฝีมือ ซึ่งที่ผ่านมาไทยขาดแคลนแรงงานดังกล่าวในประเทศ ทำให้แรงงานต่างด้าวเข้ามามีบทบาทในอุตสาหกรรมประมงอย่างมาก โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งยังต้องพึ่งพาแรงงานเป็นหลัก อาจได้รับผลกระทบค่อนข้างมากจากประเด็นดังกล่าว

ตลอดทั้งสายการผลิต (Traceability) ยกตัวอย่างเช่น หากผู้ประกอบการเป็นโรงงานแปรรูปขั้นต้น (ล้งกุ้ง) ควรมีการตรวจสอบและแสดงหลักฐานแหล่งที่มาของวัตถุดิบกุ้งจากเรือประมง/ ฟาร์มกุ้ง ธุรกิจอาหารเลี้ยงกุ้ง (ปลาป่น) ว่ามีการใช้แรงงานที่ดี อันจะช่วยสนับสนุนการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการที่ใช้สินค้าแปรรูปกุ้งในทอดต่อๆ ไป ทั้งนี้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับคู่ค้าว่าสินค้ากุ้งที่นำเข้าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการ SMEs ควรมีแนวทางการปรับตัว รวมทั้งมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาแรงงานการค้ามนุษย์และการขาดแคลนแรงงานในประเทศ ดังนี้

เข้าร่วมใช้แนวทางการปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดี (GLP) ซึ่งเป็นการรับรองว่าสถานประกอบการมีการปฏิบัติต่อลูกจ้างตามมาตรฐานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization: ILO) ในระดับสากล หากผู้ประกอบการเข้าร่วมน่าจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับคู่ค้าได้ รวมทั้งสร้างภาพลักษณ์ด้านแรงงานที่ดีให้กับประเทศ

ใช้แรงงานต่างด้าวที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย และยื่นรายชื่อแรงงานต่างด้าวในสังกัดเข้าจดทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมาย ตลอดจนการให้สิทธิประโยชน์แรงงานต่างด้าวตามสวัสดิภาพแรงงาน เช่นเดียวกับแรงงานในประเทศ เพื่อจูงใจให้แรงงานต่างด้าวทำงานนานขึ้น

เพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการดำเนินกิจการ โดยการบริหารจัดการที่ดีและนำเทคโนโลยีมาใช้มากขึ้น เพื่อลดการพึ่งพาแรงงานเป็นหลัก ซึ่งจะช่วยบรรเทาผลกระทบจากปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ต้นทุนแรงงานที่คาดว่าจะสูงขึ้น รวมถึงป้องกันการใช้ประเด็นแรงงานเป็นมาตรการกีดกันที่มิใช่ภาษีจากคู่ค้า

อนึ่ง การดำเนินการตามแนวทางดังกล่าว แม้ในที่สุดแล้วอาจทำให้ผู้ประกอบการ SMEs มีภาระต้นทุนค่าใช้จ่ายสูงขึ้น แต่ก็น่าจะทำให้กระบวนการผลิตได้รับการยอมรับจากคู่ค้า ขณะเดียวกัน แรงงานก็น่าจะสมัครใจช่วยเหลือกิจการมากขึ้น ซึ่งจะเป็นการสร้างความยั่งยืนมากขึ้นให้กับการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการในระยะยาว

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สิงหาคม 2557
State.gov,Trade Map,กระทรวงพาณิชย์

แสดงความคิดเห็น